การใช้ Second Brain ช่วยสรุปหนังสือ 6 เล่มในเพจสรุปให้

การใช้ Notion ช่วยสร้าง Second Brain และสรุปหนังสือในเพจสรุปให้

ภาพถ่ายโดย THIS IS ZUN จาก Pexels: https://www.pexels.com/th-th/photo/1140854/

ถ้าพูดถึงเพจสรุปหนังสือของคนไทยแล้ว

เพจแรกที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคือ เพจสรุปให้

เดือนเมษายนปี 2565 ผมเข้าเรียนคอร์สสรุปหนังสือของเพจสรุปให้ ซึ่งมีเงื่อนไขหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ

ถ้าสรุปหนังสือ 5 เล่มขึ้นไปภายในเวลาที่กำหนด จะได้เข้ากลุ่มไลน์พิเศษ Finisher และได้รับสิทธิพิเศษมากมายที่คุ้มเกินค่าเรียน

เงื่อนไขนี้ทำให้ผมตั้งใจว่า จะต้องสรุปหนังสือ 5 เล่มให้ได้

ผมจึงใช้ระบบการทำงานเรียกว่า C.O.D.E. (Capture, Organize, Distill, Express) ซึ่งกล่าวในหนังสือ Building a Second Brain: A Proven Method to Organise Your Digital Life and Unlock Your Creative Potential เขียนโดย Tiago Forte มาช่วยในการสรุปหนังสือ

Credit : https://www.buildingasecondbrain.com/course

มาดูว่า C.O.D.E. ช่วยสรุปหนังสือได้อย่างไรครับ

ด่านแรก : สรุปเล่มไหนดี

หนังสือแปลที่ผมสรุป

หลังจากที่ฟังคำอธิบายเรื่องวิธีสรุปหนังสือและชมวิดีโอคลิปในเฟซบุ๊คกลุ่มปิดจนครบแล้ว

คำถามสำคัญที่สุด คือ สรุปหนังสือเล่มไหนดี

คอร์สสรุปหนังสือกำหนดว่า สรุปหนังสือซ้ำกับคนอื่นได้เพียงเล่มเดียวเท่านั้น หนังสือที่เหลือจะต้องไม่มีใครเคยสรุปมาก่อน

โชคดีสุด ๆ ที่ผมเคยแปลหนังสือหลายเล่ม และเมื่อเข้าไปค้นดูในฐานข้อมูลการสรุปหนังสือ ก็พบว่า

ยังไม่เคยมีใครสรุปหนังสือที่ผมแปลมาก่อน !

เท่ากับว่า ผมไม่ต้องกังวลเรื่องการหาหนังสือแล้วครับ

Capture (รวบรวม) ตัวอย่างด้วย Notion

โลโก้ของ Notion

การสรุปหนังสือจะต้องผ่านการตรวจจาก mentor ก่อน จึงจะโพสต์ในเพจสรุปให้ได้ และต้องทำตามรูปแบบที่เพจกำหนด เช่น ใช้สไลด์พาวเวอร์พอยต์, มีจำนวนสไลด์และขนาดตามที่กำหนด, มีเนื้อหา เช่น ข้อความจากหนังสือ คำคม ประวัติผู้เขียนหนังสือ

ผมจีงเข้าไปที่เพจสรุปให้ ค้นหารูปสรุปง่าย ๆ ที่คิดว่าตัวเองทำได้แน่ ๆ เพราะมีเวลาจำกัด ไม่อยากเสียเวลาทำสไลด์ที่ซับซ้อน ขอให้ผ่านไปก่อน

จากนั้น capture หรือรวบรวมรูปเหล่านั้นไว้ที่โน้ตใน Notion

Organize (จัดระเบียบ) ใน Notion

ผมใช้วิธีง่ายที่สุดในการจัดระเบียบ คือ นำทุกรูปมาเก็บในโน้ตเดียวใน Notion

Distill (สรุปเนื้อหา)

ถึงแม้ว่าผมสรุปหนังสือที่ตนเองแปล ก็ต้องมานั่งอ่านใหม่เช่นกัน เพราะหลายเล่มแปลมานานแล้ว

การสรุปหนังสือเลือกได้ว่า จะสรุปเนื้อหาทั้งเล่มหรือสรุปเฉพาะบางบท

แน่นอนว่า การสรุปบทเดียวย่อมง่ายกว่าสรุปหนังสือทั้งเล่ม

ผมจึงอ่านเฉพาะบางบทที่น่าสนใจ แล้ววางแผนว่า จะนำเนื้อหาของบทนั้นมาทำพาวเวอร์พอยต์อย่างไร

Express (เผยแพร่ผลงาน)

เปรียบเทียบการสรุปเล่มแรกในซ้ายมือ กับเล่ม 6 ด้านขวา จะเห็นความซับซ้อนต่างกันเยอะ

หลังจากอ่านเนื้อหาเข้าใจแล้ว ผมก็ทำสไลด์พาวเวอร์พอยต์สรุปหนังสือตามเงื่อนไขของคอร์ส

วิธีการทำสไลด์คือ ผมสังเกตตัวอย่างที่ capture ใน Notion แล้วพยายามทำให้ใกล้เคียงตัวอย่าง

ถึงแม้ว่าผมมีทักษะการทำพาวเวอร์พอยต์ดีพอสมควร แต่การทำสไลด์สรุปหนังสือก็ใช้เวลา เช่น ปรับสีสไลด์ให้ตรงกับสีหน้าปกหนังสือ, คิดคำที่สั้นกระชับแทนเนื้อหา, ทำแผนภาพให้ดูง่ายและน่าสนใจ เป็นต้น

ส่วนที่ผมใช้เวลามากที่สุดคือ การหาไอคอนที่เหมาะสมกับเนื้อหา โดยผมเลือกไอคอนจากเว็บ flaticon.com ซึ่งผมเป็นสมาชิก เพราะมีไอคอนให้เลือกมากมาย

เมื่อทำสไลด์เสร็จแล้ว ก็ส่งให้ mentor ตรวจ ซึ่งผมจะถูกแก้ไขเล็กน้อยเกือบทุกครั้ง แล้วก็ส่งไปอีก จนกระทั่ง mentor บอกว่าผ่าน

เมื่อเล่มแรกผ่าน กำลังใจมาทันที เพราะการสรุปเล่มแรกให้ผ่านเป็นเรื่องยากที่สุด

พอมีประสบการณ์แล้ว ก็สรุปเล่มสองต่อไป เมื่อผมมีประสบการณ์มากขึ้น ก็เริ่มปรับสไลด์ให้ซับซ้อนขึ้น จนกระทั่งผมสรุปหนังสือ 6 เล่ม ได้เป็น Finisher ครับ

ในบรรดาหนังสือทั้ง 6 เล่มที่ผมสรุป มีเพียงเล่มเดียวที่ผมไม่ได้แปล นอกนั้นอีก 5 เล่มเป็นหนังสือที่ผมแปลทั้งสิ้น

ข้อคิดจากการสรุปหนังสือ

รูปหนึ่งจากหนังสือที่ผมแปลและสรุป
  1. ตั้งใจว่าต้องทำให้สำเร็จ

การที่ผมสรุปหนังสือ จนกลายเป็น Finisher เพราะตั้งใจแน่วแน่ว่า จะต้องเป็น Finisher ให้ได้ เพื่อให้รับสิทธิพิเศษมากมาย จึงหาเวลามาทำสรุปหนังสือทุกวัน

2. ตัวอย่างที่ดีช่วยได้เยอะมาก

สิ่งที่หลายคนเข้าใจผิดคือ การทำโครงการด้านความคิดสร้างสรรค์เรื่องไหนก็ตาม ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ต้องคิดด้วยตนเองทั้งหมด

แต่ที่จริงแล้ว ถ้าเราได้เห็นตัวอย่างเยอะ จะช่วยได้มาก อย่างน้อยทำให้เกิดไอเดีย ไม่ต้องเร่ิมต้นจากความว่างเปล่า

ถ้าไม่มีตัวอย่างการสรุปหนังสือ ผมก็คงสรุปหนังสือไม่สำเร็จ หรือเสียเวลามากในการทำสไลด์

ผมตั้งใจตั้งแต่แรกว่า เลือกตัวอย่างที่ทำง่าย ไม่ทำสไลด์ที่สลับซับซ้อนหรือเสียเวลามากเกินไป

การมีตัวอย่างง่าย ๆ จำนวนมากเก็บใน Notion ทำให้ผมศึกษาตัวอย่างเหล่านั้น และสรุปได้ครบ

3. ไม่ต้องรู้เยอะ เน้นการลงมือทำ

ผมใช้ Notion แค่พื้นฐาน แต่ก็เพียงพอในการ capture และช่วยทำงานแล้ว โครงการนี้ไม่ต้องใช้ทักษะล้ำลึกของ Notion

พาวเวอร์พอยต์ก็เช่นกัน ไม่ต้องใช้ความสามารถพิสดารพันลึกของพาวเวอร์พอยต์ แค่ทำพาวเวอร์พอยต์พื้นฐานได้ ก็สรุปหนังสือได้เช่นกัน

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
ธงชัย โรจน์กังสดาล

Written by ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์

No responses yet