ความเชื่อที่ทรงพลัง 7 ข้อของสตีฟ จอบส์

รวบรวมความเชื่อสำคัญที่ทำให้สตีฟ จอบส์ประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง

ผมได้มีโอกาสร่วมแปลหนังสือเรื่อง “ถอดรหัสสมอง อัจฉริยะแห่งแอปเปิล : ความเชื่อของสตีฟ จอบส์” จากผลงานเขียนของคุณแซม วิททีวิน

คุณแซมรวบรวมคำพูดต่างๆ ของสตีฟ จอบส์ และวิเคราะห์ความเชื่อต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังคำพูดเหล่านั้น โดยแยกออกมาเป็นความเชื่อด้านต่างๆ และบทสุดท้ายได้สรุปความเชื่อที่ทรงพลัง 7 ข้อของสตีฟ จอบส์

หนังสือเล่มนี้วางจำหน่ายหลังจากที่สตีฟ จอบส์ถึงแก่กรรมไม่กี่เดือน ซึ่งผมจำได้ว่า ช่วงนั้นมีหนังสือสตีฟ จอบส์หลายสิบเล่ม

ถึงแม้ว่า สตีฟ จอบส์จากไปหลายปีแล้ว แต่ความเชื่อต่างๆ ของสตีฟ จอบส์ก็ยังใช้ได้กับพวกเราในยุคนี้ ผมจึงขออนุญาตสำนักพิมพ์ขวัญข้าว’94 นำบทสุดท้ายของเล่มนี้มาให้อ่านครับ

คำว่า “ผม” ถัดจากนี้ หมายถึง คุณแซม วิททีวีน ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้

Credit : Wikimedia commons

1. หลงใหลในสิ่งที่คุณทำและทำในสิ่งที่คุณรัก

ความเชื่อพื้นฐานของสตีฟ จอบส์ ซึ่งเรามักพบเสมอในบรรดาสุดยอดนักธุรกิจ คือการหลงใหลสิ่งที่คุณทำและทำในสิ่งที่คุณรักอย่างแท้จริง

สตีฟ จอบส์ได้กล่าวในการสัมภาษณ์และการบรรยายหลายครั้งว่า คุณต้องรักในสิ่งที่คุณทำอย่างแท้จริง ถ้าคุณไม่ได้ชอบจริง ๆ แล้วล่ะก็ คุณกำลังก้าวสู่ความล้มเหลว

ผมได้ยินคนจำนวนมากพูดว่า สตีฟ จอบส์พูดอย่างนั้นได้ง่าย เพราะตัวเขามีมูลค่าเจ็ดพันล้านเหรียญสหรัฐแล้ว ที่จริงแล้ว เขามีมูลค่าเจ็ดพันล้านเหรียญสหรัฐ ก็เพราะว่าเขาได้ทำเช่นนั้น

สตีฟ จอบส์เข้าใจดีว่า คุณต้องหาวิธีทำให้ความหลงใหลให้ผลตอบแทนได้ ต้องหาวิธีทำให้ความหลงใหลกลายเป็นแผนการธุรกิจที่ดีโดยเพิ่มคุณค่าแก่ผู้อื่น แต่เหนือสิ่งอื่นใด คุณต้องทำในสิ่งที่คุณรัก หรืออย่างน้อยที่สุด หาสิ่งที่คุณชอบทำในทุกวัน

เราเห็นสิ่งนี้ได้ในผลงานของสตีฟ จอบส์ตลอดเวลา เช่น ความรักงานออกแบบ ความรักเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นประโยชน์ ความรักในการสร้างสรรค์ผลงาน การที่เขาหลงใหลเรื่องเหล่านี้ทำให้เขาทำงานหนักและต่อเนื่องเป็นเวลานานได้อย่างสม่ำเสมอ

ถ้าคุณไม่ได้รักในสิ่งที่คุณทำอย่างแท้จริงแล้วล่ะก็ คุณจะไม่มีพลังเพียงพอที่จะทำงานได้อย่างต่อเนื่องทุกวัน และทุ่มเทเวลาเพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการ

เหล่าสุดยอดนักธุรกิจทั้งหลายจะรักงานของพวกเขาจริง ๆ สำหรับพวกเขาแล้ว การทำงานและการเล่นไม่ได้แยกจากกัน แต่มันกลมกลืนเข้าด้วยกันเป็นสิ่งเดียว

Credit : Flickr

2. สร้างวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ของตนเองและผู้อื่น

ความเชื่อและกลยุทธ์ข้อที่สองของสตีฟ จอบส์ที่คุณควรนำมาใช้ในชีวิตประจำวันคือ การมีวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่

สิ่งที่ทำให้สตีฟ จอบส์มีแรงบันดาลใจและสร้างแรงบันดาลใจแก่คนมากมายคือ การที่เขาใช้คำว่า “เปลี่ยนแปลงโลก” หรือ “สร้างรอยบุ๋มในจักรวาล” เพื่อบอกวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ มันบ่งบอกถึงวิสัยทัศน์ที่สร้างแรงบันดาลใจแก่เขาและผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเขาเอง

สิ่งที่เราพบเสมอในสุดยอดนักธุรกิจคือพวกเขามักทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง ตัวอย่างเช่น

- ริชาร์ด แบรนสันข้ามแอตแลนติกในบอลลูน

- สตีฟ จอบส์สร้างสรรค์ผลงานที่เขาเชื่อว่าเป็นคอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุดในโลก

- อากิโอะ โมริตะก่อตั้งบริษัทโซนี่ที่เขาเชื่อว่าเป็นบริษัทชั้นนำด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และนำการบันทึกวิดีโอที่ใช้ง่ายแก่ประชาชน

ผมคิดว่าสุดยอดนักธุรกิจเหล่านี้มีใช้ชีวิตด้วยวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวพวกเขาเอง

เราประยุกต์หลักการนี้ในชีวิตประจำวันของเราได้ เมื่อเราหยุดคิดถึงชีวิตที่แห้งแล้งของเราในแต่ละวัน และเริ่มใคร่ครวญว่าเราจะสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ต่อคนรอบข้างเราได้อย่างไร เช่น ทีมในที่ทำงาน เพื่อนสนิท ครอบครัว

การคิดเช่นนี้จะทำให้เราเริ่มขยายวิสัยทัศน์และวิธีการมองสิ่งต่าง ๆ ผมคิดว่านี่เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่สตีฟ จอบส์เข้าใจและใช้อย่างประสบความสำเร็จสูงในธุรกิจและชีวิตของเขา

Credit : Flickr

3. อยากรู้อยากเห็น

กลยุทธ์ถัดมาคือความอยากรู้อยากเห็น สตีฟ จอบส์เป็นคนที่อยากรู้อยากเห็นมาก เขาอยากรู้ว่าสิ่งของทำงานอย่างไร สิ่งใดบ้างที่เป็นไปได้ คนจะใช้เทคโนโลยีบางอย่างได้อย่างไร มันทำให้เขารู้สึกท้าทาย เขามักอยากรู้ว่าอะไรจะอยู่ถัดไป เขาไม่ได้พึงพอใจกับการสร้างสรรค์อุปกรณ์ชั้นเยี่ยมสักเครื่องเท่านั้น แต่เขายังอยากรู้ว่าถัดไปจะเป็นอะไร

เราเห็นได้จากความเชื่อหลายเรื่องในหนังสือเล่มนี้ว่า เมื่อมีคนถามว่าถัดไปจะเป็นอะไร เขาจะตอบตรง ๆ ว่า ไม่ทราบเหมือนกัน เขาไม่ทราบว่าหนทางจะนำเขาไปที่ไหน ซึ่งเรามักพบเสมอในการทำงานทางธุรกิจของเขา ทางนวัตกรรม หรือแม้แต่การบรรยายของเขาแก่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดว่า จงหิวโหยและโง่เขลาเสมอ

สตีฟ จอบส์อยากรู้อยากเห็นหลายเรื่อง และเปิดกว้างต่อการค้นพบสิ่งใหม่ เขาไม่ยึดติดกับกรอบความเชื่อว่าเทคโนโลยีควรเป็นอย่างไร เช่น โทรศัพท์ เขาเองยอมรับว่าไม่คิดเลยว่าจะนำแผนที่ใส่ในไอโฟน

ผมจึงเสนอแนะว่าเราควรพัฒนาความอยากรู้อยากเห็นให้มากขึ้นในตัวเราเช่นกัน เมื่อเราอายุมากขึ้น ความอยากรู้อยากเห็นของเราจะลดน้อยลง

ความล้มเหลวอย่างหนึ่งของโรงเรียนคือ การที่เด็ก ๆ ไม่ได้รับการส่งเสริมให้ตั้งคำถามมากขึ้น อยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ และติดตามความอยากรู้อยากเห็นนั้น ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้รับคำตอบที่แน่นอน โรงเรียนมักนำพาให้เราคิดแบบถูกหรือผิดเท่านั้น การคิดแบบนี้ไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิงในโลกธุรกิจ

กลยุทธ์ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งในการมีมุมมองใหม่ ๆ ในชีวิต คือการใช้เวลาสักสองสามชั่วโมงกับเด็กเล็ก และดูว่าพวกเขาถามอะไร พวกเขารับความคิดใหม่ ๆ เข้าสมองอย่างไร คุณจะพบว่าเด็ก ๆ มีความอยากรู้อยากเห็นอย่างมากในเรื่องราวต่าง ๆ

Credit : Wikimedia commons

4. เน้นที่อนาคต ไม่ใช่อดีต

สตีฟ จอบส์มองไปที่ข้างหน้าเสมอ ความเชื่อหลายเรื่องของเขาบอกให้ทราบว่า เขาไม่ใช่คนที่หวนหาอดีตที่รุ่งเรืองหรือหมกมุ่นกับอดีตที่ล้มเหลว อนาคตเป็นตัวผลักดันเขา เขาจะมองไปในอนาคตเสมอเพื่อทดลองและดูว่ามันจะเป็นอะไร และเริ่มสร้างตั้งแต่วันนี้

นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างมากในหลายบริษัท เขาไม่ยอมให้ความล้มเหลวที่เขาได้พบพาน (ซึ่งเขาก็พบมาหลายครั้ง) หยุดยั้งหรือชะงักเขา เขาจะเน้นที่การมองไปข้างหน้าเสมอ

ข้อผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงที่สุดของคนจำนวนมาก คือการที่พวกเขาเชื่อว่าอดีตเท่ากับอนาคต ถ้าพวกเขาล้มเหลวในอดีต พวกเขาก็จะล้มเหลวต่อไปในอนาคตด้วย หรืออาจจะตลอดไป

Credit : Wikimedia commons

5. ใช้กลยุทธ์การสร้างสรรค์

ผมเรียกกลยุทธ์ข้อห้านี้ว่า กลยุทธ์การสร้างสรรค์ของสตีฟ จอบส์ เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่ากลยุทธ์ด้านนวัตกรรมของสตีฟ จอบส์คือการเน้นที่ผลิตภัณฑ์ สตีฟ จอบส์อาจจะไม่ได้เน้นที่เทคโนโลยีมากอย่างที่พวกเราคิด เขาสนใจว่าผู้ใช้ต้องการสิ่งใดในแต่ละผลิตภัณฑ์

ตัวอย่างเช่น เมื่อสตีฟ จอบส์เปิดตัวไอพอดและไอโฟน เขาไม่ได้สนใจว่าคุณจะโทรศัพท์ออกได้เร็วแค่ไหนหรือไอโฟนจะมีรายละเอียดทางเทคนิคดีแค่ไหน เขาสนใจว่าโทรศัพท์ควรมีคุณลักษณะเด่นอะไรบ้างเพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีเยี่ยม

สิ่งหนึ่งที่บรรดานักวิจารณ์ด้านเทคโนโลยีโจมตีไอโฟนขณะที่มันเปิดตัวครั้งแรกคือ มันมีความเร็วสู้คู่แข่งบางรายไม่ได้และขาดเทคโนโลยีบางอย่างที่คู่แข่งมี

แต่ไอโฟนก็ประสบความสำเร็จสูงมาก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เหตุผลคือ สตีฟ จอบส์เน้นในสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการอย่างแท้จริงและสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการในสินค้า ไม่ใช่เน้นที่เทคโนโลยีล่าสุด

ขณะที่เรากำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าในฐานะเจ้าของธุรกิจหรือพนักงานในบริษัท เราควรถามตัวเองสม่ำเสมอว่า ผลิตภัณฑ์นี้คืออะไร ผู้ใช้จะสนใจสินค้านี้หรือไม่ เราจะทำให้ผู้ใช้ตื่นเต้นสินค้านี้ได้อย่างไร การตั้งคำถามเหล่านี้จะทำให้เรามีมุมมองที่เน้นผลิตภัณฑ์เหมือนกับสตีฟ จอบส์

Credit : Wikipedia

6. บริหารส่วนบน และส่วนล่างจะจัดการด้วยตัวเอง

สตีฟ จอบส์เข้าใจดีว่า กลยุทธ์สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการทำธุรกิจคือการหาคนเก่งมาร่วมงาน เขาไม่มีปัญหาเรื่องการไล่ออกคนที่ทำงานได้ไม่ถึงเป้าหรือการสละเวลาเพื่อหาคนที่เหมาะสมกับงาน

จอบส์รู้ดีว่าหน้าที่หลักอย่างหนึ่งของเขาในการเป็นซีอีโอคือ การชักชวนคนเก่งให้สนใจบริษัทเพื่อที่พวกเขาจะได้ทำงานอย่างดีที่สุด ซีอีโอส่วนใหญ่ไม่ค่อยมองว่านี่เป็นหน้าที่ของเขา แต่กลับมองว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายทรัพยากรบุคคล

แต่เราจะเห็นว่ากลยุทธ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของสตีฟ จอบส์คือการเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายทรัพยากรบุคคลมากพอๆ กับที่เป็นส่วนหนึ่งในด้านการออกแบบและส่วนอื่นของบริษัท

เขาให้รางวัลคนเก่งที่ทำงานได้ประสบความสำเร็จมากในบริษัท สตีฟ จอบส์เข้าใจดีกว่าการสร้างทีมที่ดีที่สุด จะทำให้เขามีโอกาสมากที่สุดในการประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ซึ่งเป็นกลยุทธ์เดียวกับที่สุดยอดนักธุรกิจหลายคนใช้

ตัวอย่างเช่น จิม คอลลินส์ ผู้เขียนหนังสือ Good to Great ได้ค้นพบว่ากลยุทธ์หนึ่งที่ทำให้บริษัทยิ่งใหญ่คือการหาคนที่เหมาะสมทำงานในสถานที่สมควรในเวลาที่เหมาะเจาะ ซึ่งสตีฟ จอบส์เข้าใจดีอยู่แล้ว เขาสามารถทำเช่นนั้นได้อย่างสม่ำเสมอกับหลายบริษัทในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา

คุณมีคนที่เหมาะสมในทีมหรือไม่ พวกเขาอยู่ในบทบาทที่ถูกต้องหรือไม่ เรามักโอเคกับคนที่ทำงานได้ดี แต่โชคร้ายที่จิม คอลลินส์บอกว่า “ดีเป็นศัตรูของความยิ่งใหญ่” การรอมชอมไม่ได้ช่วยให้องค์การคุณสู่ความยิ่งใหญ่

7. สร้างช่องเก็บค่าธรรมเนียมในธุรกิจ

กลยุทธ์ธุรกิจสุดท้ายที่ผมจะแนะนำ และอาจเป็นกลยุทธ์ที่สตีฟ จอบส์นำมาใช้ได้สำเร็จมากที่สุดในธุรกิจ คือการสร้าง “ช่องเก็บค่าธรรมเนียม” ภายในบริษัท คุณจะวางตำแหน่งบางอย่างที่ทำให้คุณเป็นคนกลางในบริษัทโดยไม่ต้องสร้างบริการเต็มรูปแบบได้ที่ไหน

การวางตัวเองอยู่ตรงกลางจะทำให้คุณเพิ่มรายได้ของบริษัทได้มากที่สุดที่สองด้านของการบริการ ผมได้ทำงานกับบริษัทมากมายเพื่อให้พวกเขาเห็นว่าจะใช้กลยุทธ์นี้ได้อย่างไร และสามารถเข้าใจว่าพวกเขาสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการหาหุ้นส่วนเพื่อทำให้บริษัทสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างยิ่งยวด

ผู้อ่านที่สนใจอยากอ่านความเชื่อทั้งหมดของสตีฟ จอบส์ สามารถอ่านได้ในหนังสือ “ถอดรหัสสมอง อัจฉริยะแห่งแอปเปิ้ล : ความเชื่อของสตีฟ จอบส์” สั่งซื้อได้จากเว็บไซต์สำนักพิมพ์ขวัญข้าว’ 94

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์