การนำเสนออย่าง S.P.Y. จากสรุปหนังสือ สติกกี้พรีเซนเทชั่นส์

บทความนี้นำสรุปหนังสือของผมจากเพจสรุปให้ ชื่อ สติกกี้พรีเซนเทชั่นส์ การออกแบบและการนำเสนองานที่ไม่เหมือนใคร

สติกกี้พรีเซนเทชั่นส์ เป็นหนังสือที่ผมแปลจาก Sticky Presentations ของคุณ อังก์ เทียน เท็ค (Ang Tian Teck) วิทยากรด้านการนำเสนอชาวสิงคโปร์

บรรณาธิการคือ ธัญญา ผลอนันต์และขวัญฤดี ผลอนันต์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ขวัญข้าว’94

สติกกี้พรีเซนเทชั่นส์ แนะนำเทคนิคการนำเสนอเรียกว่า S.P.Y

S ย่อจาก Simple หรือความเรียบง่าย หมายถึง การที่นำเสนอได้อย่างสะดวกและผู้ฟังเข้าใจสิ่งที่ผู้นำเสนอสื่อสาร

P ย่อจาก Persuasive หรือโน้มน้าวใจ หมายถึง เนื้อหาการนำเสนอต้องน่าเชื่อถือ ผู้นำเสนอเชื่อมั่นเนื้อหาตัวเอง ผู้ฟังเชื่อเรื่องเล่า

Y ย่อจาก Youthful หรือความสดใหม่ หมายถึง การนำเสนอมีความสดใหม่ มีความแตกต่าง ไม่ธรรมดา น่าประหลาดใจ

หลักความเรียบง่ายข้อ 1

ในการออกแบบงานนำเสนอ การใช้รูปภาพในไลด์จะมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ตัวอักษรอย่างเดียว

การนำเสนอที่มีรูปภาพในสไลด์ทำให้การนำเสนอน่าสนใจมากขึ้น และช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจและจดจำเนื้อหามากขึ้น

หลักความเรียบง่ายข้อ 2

อย่าใส่ทุกอย่างในสไลด์หน้าเดียว เพิ่มหน้าสไลด์เพื่อเล่าเรื่อง

ควรทำให้การนำเสนอเป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้ฟัง เพราะถ้ามีข้อมูลจำนวนมากเกินไปในสไลด์ 1 หน้า จะทำให้ดูยาก ผู้ฟังจะเบื่อ

การมีพื้นที่ว่างในสไลด์จะช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกสบายตาขึ้น เพราะไม่ต้องเพ่งดู

หลักความเรียบง่ายข้อ 3

สไลด์นำเสนอที่น่าสนใจควรเน้นคำสำคัญหรือประเด็นสำคัญที่ต้องการให้ผู้ฟังทราบ

วิธีเน้นคำสำคัญอย่างหนึ่งคือ การตัดบูลเล็ต แล้วใส่ 1 ประเด็นใน 1 หน้าสไลด์

การใส่ 1 ประเด็นใน 1 หน้าทำให้ตัวอักษรมีขนาดใหญ่ มองเห็นชัดเจน มีที่ว่าง และผู้ฟังติดตามได้ง่าย

วิธีโน้มน้าวใจข้อ 1

คนฟังจำเรื่องเล่าได้มากกว่าข้อเท็จจริง ดังนั้น ผู้นำเสนอควรมีเรื่องเล่าประกอบการนำเสนอ

การใช้เรื่องเล่าประกอบการนำเสนอจะช่วยโน้มน้าวใจผู้ฟังได้ดีขึ้น ทำให้พวกเขาจำเนื้อหาการนำเสนอมากขี้น

ลองใส่ข้อเท็จจริงในเรื่องเล่า และออกแบบสไลด์เพื่อช่วยการเล่าเรื่อง

วิธีโน้มน้าวใจข้อ 2

อย่าใส่ตัวเลขจำนวนมาก กราฟที่ดูสับสน หรือสเปรดชีตที่วุ่นวายในสไลด์นำเสนอ

ลองหาวิธีนำเสนอเฉพาะตัวเลขสำคัญจริง ๆ ที่ผู้ฟังต้องทราบ

การที่ผู้ฟังเห็นเฉพาะตัวเลขที่สำคัญ หรือการเน้นตัวเลขสำคัญให้แตกต่างจากตัวเลขทั่วไป จะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจ และโน้มน้าวใจผู้ฟังให้เห็นความสำคัญของข้อมูลที่ต้องการได้ดีขึ้น

วิธีโน้มน้าวใจข้อ 3

ถ้าผู้นำเสนอมีความเชื่อมั่นในตัวเอง ก็จะทำให้ผู้ฟังเชื่อมั่นในการนำเสนอด้วย

ในกรณีที่ผู้นำเสนอยังขาดประสบการณ์ ก็ควรหาโอกาสฝึกซ้อมการนำเสนอบ่อย ๆ จนเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง

การเป็นตัวของตัวเอง การมีความรู้จริงในหัวข้อที่นำเสนอ การหลงใหลในหัวข้อนำเสนอ จะช่วยโน้มน้าวใจผู้ฟังได้ดีมาก

วิธีสร้างความสดใหม่ข้อ 1

ใช้ความประหลาดใจกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของผู้ฟัง เช่น ตั้งคำถาม มีข้อมูลแปลก มีเรื่องเล่าที่ไม่ซ้ำใคร มีกิจกรรมที่ผู้ฟังคิดไม่ถึง

ความอยากรู้อยากเห็นของผู้ฟังจะทำให้การนำเสนอสดใหม่ ไม่จืดชืด ผู้ฟังเองก็จะตื่นตัว สนใจตลอดเวลา

วิธีสร้างความสดใหม่ข้อ 2

ถ้านำเสนอในเรื่องเดิม ๆ ที่คนฟังทราบดีอยู่แล้ว ลองใช้มุมมองใหม่ที่แตกต่างจากเดิมในการนำเสนอ

เช่น การใช้รูปแปลก ๆ ในสไลด์นำเสนอ การใส่อารมณ์ขันเล็กน้อยในการนำเสนอ การคิดนอกกรอบของการนำเสนอ

ผู้ฟังจดจำในเรื่องที่ไม่ธรรมดา ดังนั้น จงหาวิธีเปลี่ยนการนำเสนอแบบเดิม ๆ ให้เป็นการนำเสนอสดใหม่ที่ทำให้ผูัฟังตื่นเต้น

วิธีสร้างความสดใหม่ข้อ 3

ปัจจุบันมีฟอนต์ให้เลือกใช้มากมาย วิธีหนึ่งในการปรับสไลด์ที่เคยนำเสนอหลายครั้งให้แตกต่างหรือสดใหม่จากเดิม คือ การใช้ฟอนต์แปลกที่เหมาะกับเนื้อหาการนำเสนอ

หรือใช้ฟอนต์เดิม แต่ทำในสิ่งที่แปลกตา เช่น ขยาย ย่อ เปลี่ยนสี กลับหัว วางเฉียง

เน้นคำสำคัญในสไลด์ด้วยฟอนต์แปลก เพื่อให้ผู้ฟังจำเนื้อหา

สรุปหลักการนำเสนอด้วย S.P.Y. มีดังนี้

S คือ Simple หรือความเรียบง่าย ประกอบด้วย ใส่ภาพ มีพื้นที่ว่าง เน้นคำสำคัญ

P คือ Persuasive หรือโน้มน้าวใจ ประกอบด้วย ใช้เรื่องเล่า เน้นเลขสำคัญ เชื่อมั่นตัวเอง

Y คือ Youthful หรือความสดใหม่ ประกอบด้วย กระตุ้นความอยากรู้ เปลี่ยนมุมมอง ฟอนต์แปลก

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์