วิธีออกแบบสไลด์ให้น่าสนใจจากสรุปหนังสือ Spinning I.DE.A.S.

บทความนี้นำสรุปหนังสือของผมจากเพจสรุปให้ ชื่อ Spinning I.D.E.A.S ปั่นไ.อ.เ.ดี.ย.ส์ หลักการออกแบบผสมผสานที่ติดหนึบ

ผู้เขียนคือ อังก์ เทียน เท็ค (Ang Tian Teck) วิทยากรที่มีชื่อเสียงด้านการนำเสนอชาวสิงคโปร์

คุณเบญจ์ ไทยอาภรณ์และผม เป็นผู้แปล

บรรณาธิการคือ ธัญญา ผลอนันต์ และ ขวัญฤดี ผลอนันต์ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ขวัญข้าว’ 94

หนังสือเล่มนี้เน้นที่วิธีการออกแบบสไลด์ให้น่าสนใจครับ

การนำเสนอให้ติดหนึบมี 3 วิธีดังนี้

1. เรียบง่าย คือ การเริ่มต้นด้วยไอเดียธรรมดาที่เข้าใจง่ายและจดจำง่าย

2. โน้มน้าว คือ ใส่การโน้มน้าวในไอเดีย เพื่อให้ผู้ฟังเชื่อ

3. สดใหม่ คือ เพิ่มความสดใหม่เพื่อให้ไอเดียมีชีวิตชีวาและน่าตื่นเต้น

การสร้างงานนำเสนอประกอบด้วย 5 ขั้นตอนดังนี้

1. กำหนดเป้าหมาย เช่น ผู้ฟังเป็นใคร ต้องการผลลัพธ์อะไรจากการนำเสนอ ใช้เวลาเท่าไร

2. ระดมไอเดียเนื้อหา เช่น คิดเนื้อหาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอ ปัญหาที่คนฟังอาจถาม เรื่องเล่าเกี่ยวกับการนำเสนอ สถิติหรือข้อมูลน่าสนใจ

3. ทำสตอรี่บอร์ดด้วยการเขียนเนื้อหาการนำเสนอบนกระดาษ วาดรูปหรือเขียนคำสำคัญในกระดาษหรือโพสต์อิท จากนั้นตัดเนื้อหาที่ไม่สำคัญทิ้ง เหลือเฉพาะเนื้อหาที่ต้องการใช้จริง ๆ

4. ทำสไลด์ โดยนำเนื้อหาจากสตอรี่บอร์ดมาแปลงเป็นสไลด์ในคอมพิวเตอร์ ออกแบบสไลด์ให้เข้าใจง่าย ชัดเจน

5. ฝึกซ้อมพูดให้มั่นใจ จำเนื้อหาได้ถึงแม้ว่าจะไม่มีสไลด์ก็ตาม จับเวลาในการพูด เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่นำเสนอเกินเวลาที่กำหนด

สร้างความมั่นใจในการนำเสนอด้วยการรู้จัก 3 อย่าง

1. รู้จักเนื้อหา มีความรู้จริงในเนื้อหาที่นำเสนอ ออกแบบสไลด์ให้ตรงกับเนื้อหาที่นำเสนอ

2. รู้จักผู้ฟัง ทราบว่าผู้ฟังเป็นใคร มีความต้องการ ปัญหา ความสนใจด้านไหน พื้นฐานความรู้เป็นอย่างไร มีความเชื่ออะไรบ้าง

3. รู้จักตัวเอง ทราบจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง

3 วิธีในการออกแบบข้อความในสไลด์ให้เร้าใจหรือน่าสนใจมากขึ้น

1. เปลี่ยนสีตัวอักษรหรือข้อความสำคัญให้แตกต่างจากคำอื่น เช่น คำสำคัญใช้สีแดง เพื่อเน้นเป็นพิเศษ

2. ทำขนาดตัวอักษรสำคัญให้ใหญ่ขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อให้เห็นชัดและแตกต่างจากคำอื่น

3. ใส่กรอบแดงรอบข้อความสำคัญ ซึ่งต้องการเน้นให้ผู้ฟังทราบระหว่างการนำเสนอ

การใช้แผนภาพง่าย ๆ จะทำให้สไลด์ดูน่าสนใจมากขึ้น เพราะมนุษย์จดจำภาพได้ดีกว่าตัวอักษร

ถ้าสไลด์มีข้อความจำนวนมาก หาวิธีเปลี่ยนข้อความให้เป็นแผนภาพ เพื่อช่วยให้ผู้ฟังจำและเข้าใจได้มากขึ้น

สไลด์ที่มีแต่บูลเล็ตทุกหน้าจะดูน่าเบื่อมาก มีหลายวิธีในการเปลี่ยนสไลด์ที่เต็มไปด้วยบูลเล็ตให้ดูน่าสนใจมากขึ้น

วิธีที่รวดเร็วอย่างหนึ่งในการเปลี่ยนสไลด์แบบบูลเล็ตให้แปลกตา คือ แสดงคำหรือข้อความสั้น ๆ เหมือนพัดที่คลี่ออกมา

ตัวอย่างเช่น สไลด์หน้านี้แสดงชื่อของระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ที่แพร่หลายในยุคปัจจุบัน

ถ้าต้องใส่ 2 ภาษาในสไลด์

ภาษาหลัก ใส่บรรทัดแรก มีขนาดใหญ่กว่า

ภาษารอง ใส่บรรทัดที่สอง มีขนาดเล็กกว่า

ตัวอย่างเช่น สไลด์นี้แสดงคำว่า “ทำให้ง่าย” เป็นภาษาไทยและภาษาหลัก อยู่บรรทัดแรก

คำว่า “Make It Simple” เป็นภาษาอังกฤษและภาษารอง อยู่บรรทัดที่สองและมีขนาดเล็กกว่า

ลองสร้างไอคอนของตัวเองด้วยการผสมผสานรูปร่างพื้นฐานต่าง ๆ ที่มีในซอฟต์แวร์นำเสนอ

ตัวอย่างเช่น สไลด์หน้านี้แสดงการนำวงกลมและสี่เหลี่ยมขอบมน 2 รูปในพาวเวอร์พอยต์ มารวมเข้าด้วยกันเป็นรูปไอคอนคน

เมื่อได้ไอคอนที่ต้องการแล้ว ก็เติมสีพื้นหลังตามต้องการ

เอียงภาพเล็กน้อย ประมาณ 5 องศาในสไลด์ จะทำให้ภาพดูน่าสนใจมากขึ้น

แต่อย่าเอียงภาพมากเกินไป

ภาพติดขอบสไลด์แสดงมุมมองที่น่าสนใจ การใส่กรอบและเงาทำให้ภาพดูชัดเจนมากขึ้น

ตกแต่งขั้นสุดท้ายด้วยการเอียงภาพเพื่อช่วยให้ดูแปลกตามากขึ้น

หัวใจสำคัญของหนังสือ Spinning I.D.E.A.S ปั่นไ.อ.เ.ดี.ย.ส์ คือ คำพูดในหนังสือว่า

“ออกแบบสไลด์ของคุณ ให้ดู ไม่ใช่อ่าน”

วิธีต่าง ๆ ในหนังสือเล่มนี้จึงเป็นเทคนิคเปลี่ยนสไลด์น่าเบื่อเป็นสไลด์น่าดึงดูดที่ผู้ฟังดู เข้าใจ และจดจำได้ง่าย เพราะผู้ฟังสามารถ “ดู” สไลด์ และ “ฟัง” ผู้นำเสนอพร้อมกันได้

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
ธงชัย โรจน์กังสดาล

Written by ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์

Responses (1)