แบบฝึกหัดนวัตกรจากสรุปหนังสือ “นวัตกรพลิกโลก The Innovator’s DNA”

บทความนี้นำสรุปหนังสือของผมจากเพจสรุปให้ ชื่อ นวัตกรพลิกโลก The Innovator’s DNA

เขียนโดย Jeff Dyer, Hal Gregersen และ Clayton M. Chistensen

แปลโดย นรา สุภัคโรจน์

จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ปราณ

ISBN 978–616–7539–72–0

ผู้เขียนหนังสือนวัตกรพลิกโลกได้วิจัย ทำแบบสอบถาม ค้นคว้า ศึกษา นวัตกรที่เก่งระดับโลก หรือเรียกว่า นวัตกรพลิกโลก ว่ามีทักษะด้านการค้นพบไอเดียใหม่อะไรบ้างที่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป

จากการศึกษานวัตกรหลายร้อยคนเป็นเวลาหลายปี ผู้เขียนได้พบว่า นวัตกรพลิกโลกมีทักษะการค้นพบไอเดีย 5 ข้อ คือ การเชื่อมโยงความคิด, การตั้งคำถาม, การสังเกต, ปฏิสัมพันธ์, การทดลอง

สรุปหนังสือนวัตกรพลิกโลก อธิบายว่า ทักษะทั้ง 5 ข้อคืออะไร และมีวิธีฝึกทักษะเหล่านั้นได้อย่างไร

การเชื่อมโยงความคิด คือ การนำไอเดียที่หลากหลายหรือไอเดียที่แตกต่างกัน มาผสมผสานหรือเชื่อมโยง ทำให้เกิดไอเดียหรือนวัตกรรมใหม่

ตัวอย่างของนวัตกรรมที่เกิดจากการเชื่อมโยงความคิดคือ กูเกิล ซึ่งเกิดจากการนำไอเดีย 2 อย่างที่ไม่เกี่ยวกัน มารวมกัน คือ การอ้างอิงทางวิชาการ และ การค้นหาในเว็บ

การอ้างอิงทางวิชาการและการค้นหาในเว็บเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่เมื่อนำแนวคิด 2 เรื่องนี้มารวมเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดกูเกิล ซึ่งเป็นเครื่องมือค้นหาในเว็บที่ทรงพลังมากที่สุดในอินเทอร์เน็ต

แบบฝึกหัดการเชื่อมโยงความคิด

1. ถ้าต้องการไอเดียใหม่ในการแก้ปัญหา ลองพลิกแคตตาล็อกสินค้าแบบสุ่ม เช่น เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า อาหาร เมื่อพลิกเจอสินค้าในหน้านั้น ก็ลองใช้สิ่งของในหน้านั้นช่วยจุดประกายไอเดียในการแก้ปัญหา

2. ทำกล่องเก็บสิ่งของน่าสนใจ เช่น ของเล่น สินค้าแปลก ๆ ที่พบในต่างประเทศ ของที่ไม่ใช้แล้ว เวลาที่ต้องการไอเดียในการแก้ปัญหา ก็หยิบของในกลุ่มแบบสุ่ม แล้วพิจารณาว่า ของชิ้นนั้นช่วยทำให้เกิดไอเดียในการแก้ปัญหาหรือกระตุ้นไอเดียใหม่อะไรบ้าง

3. สมมติว่าตัวเองทำงานในบริษัทดัง เช่น แอปเปิล กูเกิล เฟซบุ๊ค จากนั้นใช้วิธีคิดหรือวิธีสร้างนวัตกรรมของบริษัทนั้นในการหาไอเดียใหม่ สินค้าใหม่ หรือแก้ปัญหาที่กำลังพบ

นวัตกรพลิกโลกเป็นผู้ที่ตั้งคำถามมากกว่าคนทั่วไป เพราะพวกเขาไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ และเป็นคนช่างสงสัย

พวกเขาตั้งคำถาม เพราะต้องการท้าทายความเชื่อเดิม ๆ อยากรู้อยากเห็น สงสัย หรือหาคำตอบของปัญหา

ตัวอย่างของนวัตกรรมที่เกิดจากการตั้งคำถามคือ มีลูกของนักวิทยาศาสตร์ชื่อ เอ็ดวิน แลนด์ถามว่า ทำไมเวลาถ่ายรูปจึงไม่สามารถเห็นรูปถ่ายได้ทันที ทำไมต้องรอล้างฟิล์ม

คำถามนี้ทำให้เอ็ดวิน แลนด์เกิดความสงสัย และอยากรู้ว่า สามารถทำให้กล้องแสดงภาพถ่ายได้ทันทีหรือไม่ ในที่สุด เอ็ดวิน แลนด์ก็พัฒนากล้องโพลารอยด์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมของกล้องถ่ายรูปและพลิกวงการถ่ายรูป

แบบฝึกหัดการตั้งคำถาม

1. เขียนคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์หรือปัญหาที่ต้องการแก้ไข โดยเขียนอย่างน้อย 50 ข้อ ไม่ต้องสนใจเรื่องคุณภาพ ขอให้เน้นปริมาณไว้ก่อน

2. มีสมุดบันทึกคำถาม เมื่อใดก็ตามที่มีคำถาม ความสงสัย ความอยากรู้เรื่องอะไรก็ตาม รีบเขียนในสมุด แล้วว่าง ๆ ก็พลิกดูคำถามที่เคยเขียนในสมุด คำถามที่เคยเขียนในสมุดอาจกระตุ้นให้เกิดไอเดียในการสร้างนวัตกรรม

3. เปลี่ยนข้อความธรรมดาเป็นคำถาม เช่น “เราต้องการเพิ่มยอดขายมากขึ้น” เปลี่ยนเป็นคำถาม “เราจะหาวิธีเพิ่มยอดขายให้มากขึ้นได้อย่างไร” เพราะคำถามจะกระตุ้นสมองให้คิดหาคำตอบ

นวัตกรพลิกโลกมีทักษะการสังเกตที่โดดเด่นกว่าคนทั่วไป พวกเขาสังเกตโลกรอบตัวอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ ปัญหา หรือหาไอเดียใหม่

ตัวอย่างการสังเกตที่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่คือ ชูลท์ส ซึ่งเป็นผู้จัดการร้านกาแฟในอเมริกาได้ไปร่วมงานแสดงสินค้าที่ประเทศอิตาลี และสังเกตรูปแบบการจัดร้านกาแฟในอิตาลี

จนทำให้เกิดไอเดียในการทำร้านสตาร์บัคส์ที่โด่งดังไปทั่วโลก

แบบฝึกหัดการสังเกต

1. ติตตามหรือสังเกตพฤติกรรมของลูกค้าบริษัทเราว่า มีปัญหาอะไรบ้าง บ่นเรื่องอะไรบ้าง เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาปรับปรุงการทำงานของเราให้ดีขึ้น หรือสังเกตบริษัทที่เราสนใจว่า มีแนวคิด วิธีการทำงาน การสร้างนวัตกรรมอย่างไร เพื่อปรับมาใช้กับการทำงานของเรา

2. ใช้สมาร์ตโฟนถ่ายรูปหรือถ่ายวิดีโอสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น เหตุการณ์น่าสนใจ การออกแบบที่ดีหรือไม่ดี การบริการที่น่าประทับใจหรือไม่ได้เรื่อง ผลิตภัณฑ์ พฤติกรรมของมนุษย์ แล้วศึกษาภาพถ่ายหรือวิดีโอคลิป เพื่อหาแรงบันดาลใจ

3. ใช้ประสาทสัมผัสให้เต็มที่ เช่น ระหว่างรับประทานอาหารก็ใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ในการรับรู้อาหาร เวลาเดินทางท่องเที่ยว ก็ใช้ประสาทสัมผัสรับรู้การเดินทางทั้งหมด หรือเวลาสังเกตลูกค้า บริษัท ก็ใช้ประสาทสัมผัสให้มากที่สุด เพื่อรับรู้อย่างเต็มที่

นวัตกรพลิกโลกมีทักษะด้านปฏิสัมพันธ์ด้วยการสร้างเครือข่ายไอเดียกับคนนอกวงการ ผู้เชี่ยวชาญต่างสาขา หรือคนอื่น เพื่อแลกเปลี่ยนไอเดีย ความเห็น ซึ่งจะนำไปสู่การค้นพบใหม่ ไอเดียใหม่ หรือนวัตกรรมใหม่

ตัวอย่างของปฏิสัมพันธ์ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายคือ ผู้เชี่ยวชาญต่างสาขามากมาย มาชุมนุมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ฟังเรื่องราวน่าสนใจในการบรรยาย TED

แบบฝึกหัดปฏิสัมพันธ์

1. นัดรับประทานอาหารกับคนรู้จักใหม่ ผู้เชี่ยวชาญนอกวงการ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อคุยแลกเปลี่ยนไอเดีย หรือปรึกษาขอความเห็น

2. เข้าร่วมงานประชุมน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับงานของตัวเองและงานที่ไม่เกี่ยวกับตัวเอง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเปิดหู เปิดตา รู้จักคนใหม่ และเพิ่มเครือข่ายไอเดีย

3. เข้าไปฝึกอบรมกับผู้เชี่ยวชาญนอกสาขาตัวเอง เพื่อเรียนรู้วิธีคิด วิธีแก้ปัญหา และมุมมองของพวกเขา ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการทำงาน

นวัตกรพลิกโลกมีทักษะการทดลองที่โดดเด่นจากคนธรรมดาอย่างมาก พวกเขาจะทดลองไอเดีย เพื่อหาความเป็นไปได้ของอนาคต หาโอกาสใหม่ ตอบคำถาม หรือเข้าใจปัญหาที่กำลังเผชิญ

ตัวอย่างการทดลองที่นำไปสู่บริษัทระดับโลก คือ การที่เจฟฟ์ เบโซส ทดลองทำร้านหนังสือออนไลน์คือ Amazon.com ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก จนกลายเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในขณะนี้

แบบฝึกหัดการทดลอง

1. เรียนรู้ทักษะใหม่ เช่น โยคะ การเขียนโปรแกรม การแต่งเพลง หรืออะไรก็ได้ที่สนใจ และไม่เคยทำมาก่อน เพื่อเพิ่มทักษะซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการทำงาน

2. ชำแหละผลิตภัณฑ์ เช่น ลองถอดชิ้นส่วนนาฬิกา โทรศัพท์มือถือ ของใช้เก่า ๆ ที่เสียแล้ว เพื่อเรียนรู้การทำงานข้างใน หรือชำแหละการบริการ เช่น ร้านกาแฟว่า มีขั้นตอนการทำงานอย่างไรบ้าง

3. ถ้ามีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ลองหัดสร้างชิ้นส่วนหรือสิ่งของง่าย ๆ เพื่อให้เข้าใจกระบวนการสร้างชิ้นงานด้วยตนเอง ซึ่งอาจเป็นโอกาสในการสร้างสิ่งของด้วยตนเองในอนาคต

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์