ภาพวาดไม่ได้เรื่องของผมที่มีคนแชร์อย่างล้นหลาม

ไอเดียเบื้องหลังบางภาพที่ดูธรรมดามาก แต่โดนใจคนจำนวนมาก

ภาพถ่ายโดย Dobromir Dobrev จาก Pexels: https://www.pexels.com/th-th/photo/6824169/

Visual Thinking หรือการคิดด้วยภาพ เป็นหัวข้อที่ผมสนใจมานานแล้ว เพราะผมใช้ Mind Map ประมาณ 20 ปีแล้ว ซึ่ง Mind Map ก็คือ Visual Thinking อย่างหนึ่ง

แต่ทักษะวาดรูปของผมก็ยังไม่ได้เรื่องอยู่ดี ถึงแม้ว่าจะอ่านหนังสือหรือเรียนหลายคอร์สแล้ว ก็ดูเหมือนว่าผมไม่มีอนาคตทาง Visual Thinking เลย

ตอนนี้ ผมสนใจเรื่อง Second Brain มาก และใช้โปรแกรมจดบันทึกชื่อ Obsidian ในการสร้าง Second Brain ของผม

ผมหัดใช้ Plugin วาดภาพชื่อ Excalidraw ใน Obsidian แล้วลองวาดภาพไอเดียง่าย ๆ โดยใช้แค่สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงกลม เส้นตรง และลูกศรที่ Excalidraw ให้

ปรากฏว่า บางภาพที่ผมวาดมีคนแชร์ใน Facebook อย่างล้นหลาม ทั้ง ๆ ที่ไม่สวย ไม่มีความงามทางศิลปะใด ๆ ทั้งสิ้น

ผมขอนำ 3 ภาพที่มีคนแชร์เยอะมากโดยที่ผมนึกไม่ถึง และไอเดียเบื้องหลังภาพเหล่านี้ครับ

One Night Miracle มีจริง

วิชา Innovative Thinking ซึ่งเป็นวิชาเลือกที่ผมสอนให้นิสิตจุฬาฯ มีกิจกรรมสำคัญคือ การจดบันทึกสัปดาห์ละ 3 วัน

ผมคิดเองว่า นิสิตจะจดบันทึกสม่ำเสมอ และส่งงานได้ทันทีในวันประกาศส่ง แต่ผมก็ให้เวลานิสิต 2 สัปดาห์หลังจากจดเสร็จแล้ว เพราะเป็นช่วงสอบกลางภาค

กลายเป็นว่า นิสิตส่วนใหญ่ส่งในวันสุดท้ายหรือเดดไลน์กันทั้งนั้น ผมจึงเกิดไอเดียวาดรูปไอเดียว่า สิ่งที่อาจารย์คิดกับความเป็นจริงอาจไม่ตรงกัน

รูปนี้กลับมีคนแชร์ถึงตอนนี้แล้ว 1,500 ครั้ง และมีความเห็นที่สนุกสนาน เพราะโดนใจทั้งอาจารย์และนิสิต นักศึกษา

อย่าว่าแต่นิสิตเลยครับ สมัยผมเรียน ก็ส่งงานในวันเดดไลน์เหมือนกัน

การเรียนของตัวเอง

มีวันหนึ่งที่ผมนึกถึงตัวเองสมัยเรียนจุฬาฯ ว่า ตอนเรียนมัธยม เราก็เป็นหนึ่งในตองอู เป็นระดับท๊อปเลย แต่พอมาเรียนจุฬาฯ เจอคนเก่งกว่าทั้งนั้น เรากลายเป็นฐานซะงั้น

ผมจึงวาดรูปแสดงชีวิตการเรียนของตัวเองสมัยมัธยมจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ และชีวิตการเรียนปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

รูปนี้ก็โดนใจคนมากมาย เพราะหลายคนมีประสบการณ์คล้ายผม คือ เรียนเก่งสมัยมัธยม แต่กลายเป็นฐานหรืออยู่ใต้ฐานสมัยเรียนมหาลัย

ชีวิตที่คิดไม่ถึงของอาจารย์ใหม่

เย็นวันหนึ่ง ผมเจอศิษย์เก่าวิชา Innovative Thinking ที่เป็นผู้หญิง เล่าว่า แฟนของเธอซึ่งเป็นศิษย์เก่าวิชา Innovative Thinking เหมือนกัน และเพิ่งบรรจุเป็นอาจารย์ใหม่ที่มหาลัยแห่งหนึ่ง

เธอเล่าว่า แฟนของเธอที่เป็นอาจารย์ใหม่มีงานเยอะมาก และหลายงานก็ไม่ได้เกี่ยวกับการวิจัยเลย ต้องมาทำงานสัพเพเหระต่าง ๆ จนแทบไม่มีเวลาส่วนตัวเลย

ผมจึงปิ๊งไอเดีย วาดรูปชีวิตอาจารย์ใหม่ และนำไปเผยแพร่ในกลุ่ม Facebook อาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งก็มีสมาชิกในกลุ่มหลายคนบอกว่า มีประสบการณ์คล้ายกัน

ข้อคิดที่ได้จากการแชร์ภาพ

1.เริ่มสร้าง output แบบง่าย ๆ ทันที

ผมเพิ่งหัดใช้ Excalidraw ในต้นเดือนตุลาคม 2565 ใช้เป็นแค่ 30% เท่านั้น แล้วแชร์ภาพวาดตัวเองใน Facebook ทันที โดยไม่หวังผลอะไร แต่กลับมีเสียงตอบรับอย่างมากที่คิดไม่ถึง

ผมจึงคิดได้ว่า ควรสร้างผลงานหรือ output ทันที ไม่ต้องรอว่า ต้องเก่งหรือเชี่ยวชาญที่สุดก่อน จึงจะสร้างผลงานได้

2. ไอเดียเป็นเรื่องสำคัญ

เหตุผลที่คนจำนวนมากชอบภาพวาด เพราะโดนใจคนจำนวนมาก และตรงกับประสบการณ์ของพวกเขา

3. ความเรียบง่ายหรือ simple คือจุดขาย

หลายคนส่งข้อความส่วนตัวบอกผมว่า ชอบภาพวาดเพราะดูเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน เห็น 3 วินาที ก็ปิ๊งเลย

4. แชร์ไอเดียให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเรียน การสอน ก็นำไปเผยแพร่ในกลุ่มอาจารย์ นิสิต นักศึกษา

ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับ marketing ก็เผยแพร่ในกลุ่ม SME หรือ Startup เป็นต้น

ถ้าคุณเรียนรู้เรื่องอะไรก็ตาม ลองแชร์ผลงานจากสิ่งที่คุณเรียนรู้ หรือสร้าง output แบบง่าย ๆ ขึ้นมาก่อน อาจมีคนจำนวนมากชื่นชอบผลงานของคุณ ถึงแม้ว่าคุณยังเป็นมือใหม่ครับ

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
ธงชัย โรจน์กังสดาล

Written by ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์

Responses (1)