การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์อย่างง่ายที่สุด

Source : Pexels

หลายคนอยากทราบว่า ถ้าตัวเองไม่ค่อยมีไอเดีย ไม่มีความคิดแปลกใหม่เหมือนคนอื่น อยากมีความคิดสร้างสรรค์ คิดเก่งเหมือนคนอื่นบ้าง จะทำอย่างไร

ผมขอเสนอวิธีง่าย ๆ ที่ใช้กับตัวเองมาเป็นสิบปี และเป็นกิจกรรมสำคัญในวิชา Innovative Thinking ซึ่งเป็นวิชา GenEd ของจุฬาฯ ครับ

Source : Pexels

การจดไอเดียสม่ำเสมอ

คุณลองหาสมุดบันทึกและปากกาพกติดตัวเป็นประจำ เมื่อไรก็ตามที่เกิดไอเดียปิ๊งแว๊บ ก็ขอให้รีบจดลงในสมุดทันที

สมุดที่เหมาะสมควรเป็นเล่มเล็ก ๆ ที่พกติดตัวได้สะดวก และเป็นสมุดเกาเหลา (ไม่มีเส้น) เพื่อจะได้วาดรูป ติดรูปภาพ เขียน Mind Map เขียนอะไรก็ได้อย่างอิสระ ไร้ขีดจำกัด

ไอเดียดี ๆ มักเกิดขึ้นในเวลาที่เราผ่อนคลาย เดินเล่น หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ

ถ้าเราเกิดไอเดียดี ๆ ขึ้นมา และไม่รีบจด ไอเดียก็จะหลุดลอย การรีบจดไอเดียในขณะที่เกิดขึ้น จึงเป็นวิธีดีที่สุดในการเก็บไอเดียของเราไว้

สมุดบันทึกของนิสิตวิชาการคิดเชิงนวัตกรรม จุฬาฯ

เขียนอะไรดี

เขียนอะไรก็ได้ครับ ในช่วงแรก เราอาจคิดไม่ค่อยออก ไม่ค่อยมีอะไรจด แต่เมื่อเขียนบ่อย ๆ ไอเดียจะมากขึ้นเรื่อย ๆ และเขียนได้มากขึ้น

คุณอาจเขียนเรื่องที่ตัวเองสนใจก่อน เช่น เขียนคำคม เขียนชื่อเว็บไซต์ที่สนใจ บทกลอน วาดรูป ตัดข่าว หรือแม้แต่เรื่องในชีวิตประจำวัน ไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ ทั้งสิ้นในการเขียนสมุดบันทึก

ผมสังเกตว่า นิสิตที่ใช้สมุดบันทึกขนาดเล็กกว่าสมุด A4 แต่ใหญ่กว่าฝ่ามือเล็กน้อย และไม่หนาเกินไป เป็นคนที่จดบันทึกมากที่สุด

ผมเดาว่า สมุดขนาดนี้ช่วยให้พกพาสะดวก ใส่กระเป๋าติดตัวได้ตลอดเวลา จึงจดบันทึกได้มากครับ ขนาดของสมุดบันทึกจึงอาจมีผลต่อการจดไอเดีย เพราะถ้าสมุดใหญ่เกินไป ก็เทอะทะ พกพาลำบาก แต่สมุดเล็กเกินไป ก็เขียนไม่สะดวก

เคล็ดลับสำคัญคือ “การเขียนอย่างสม่ำเสมอ” คุณควรเลือกสมุดบันทึกที่ทำให้คุณอยากเขียนบ่อย ๆ

บุคคลสำคัญของโลกเขียนบันทึกทั้งนั้น

บุคคลสำคัญของโลกในวงการต่าง ๆ เช่น นักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน นักเขียน นักธุรกิจ นักการเมือง เป็นนักจดบันทึกทั้งนั้น

ตัวอย่างบุคคลสำคัญที่จดบันทึกเช่น เลโอนาร์โด ดาวินชี , ชาร์ลส ดาร์วิน , โทมัส อัลวา เอดิสัน , เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน

คนไทยเน้นความสำคัญของการเขียนมานานแล้ว เช่น หัวใจนักปราชญ์ คือ สุ จิ ปุ ลิ คำว่า “ลิ” คือ ลิขิต ซึ่งหมายถึงการเขียนหรือการจดนั่นเอง

Source : Pexels

ทำไมไม่ใช้สมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ต

เนื่องจากวิชา Innovative Thinking จะให้นิสิตทุกคนจดบันทึกในสมุด นิสิตมักถามผมว่า “อาจารย์ครับ ทำไมเราไม่ใช้แอปจดบันทึก เช่น แอป …… ที่นิสิตใช้ประจำ”

สมุดกระดาษมีข้อดีหลายอย่างที่สมาร์ตโฟนเทียบไม่ได้ เช่น

  • การเขียนในสมุดทำได้เร็วและสะดวกกว่าการใช้แอปในมือถือ
  • เราไม่ต้องเรียนรู้การใช้สมุดบันทึก แต่ต้องเรียนรู้การใช้แอป
  • สมุดบันทึกมีราคาหลากหลายมาก ตั้งแต่ถูกสุด ๆ จนถึงราคาแพง จึงเลือกได้ตามความต้องการ
  • ถ้านำสมาร์ตโฟนรุ่นล่าสุดกับสมุดบันทึกวางบนโต๊ะ ของชิ้นไหนหายเร็วกว่ากันครับ
  • งานวิจัยจำนวนมากบอกว่า การเขียนด้วยมือกระตุ้นการทำงานของสมองดีกว่าการพิมพ์ในคอมพิวเตอร์หรือมือถือ

แต่สมาร์ตโฟนก็เหนือกว่าสมุดกระดาษหลายเรื่อง เช่น

  • ถ้าสมุดบันทึกหาย สิ่งที่เราจดไว้ทั้งหมดก็หายไปด้วย แต่แอปบันทึกข้อมูลได้ถาวรกว่า วิธีป้องกันข้อมูลสมุดบันทึกหาย คือ ถ่ายรูปสิ่งที่เราเขียนไว้ แต่ก็ไม่สะดวกนัก
  • บันทึกที่เขียนในแอปเผยแพร่หรือแชร์ได้ง่ายกว่าบันทึกในสมุด
  • เราบันทึกข้อมูลด้วยการถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ หรืออัดเสียงในแอปได้ แต่สมุดบันทึกเป็นงานเขียนอย่างเดียว

ในช่วงเริ่มต้น ผมขอแนะนำให้ใช้สมุดกับปากกา ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวก ประหยัด และรวดเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีแอปและเครื่องมือไฮเทคหลายตัวที่ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งผมจะเขียนบทความในเร็ว ๆ นี้ครับ

เนื้อหาในสมุดบ้นทึกของนิสิตวิชาการคิดเชิงนวัตกรรม

การใช้ประโยชน์จากสมุดบันทึก

เมื่อจดบันทึกได้พอสมควรแล้ว ว่าง ๆ ลองหยิบสมุดมาทบทวนว่า เคยจดอะไรบ้าง อาจมีบางอย่างที่เป็นประโยชน์อย่างคิดไม่ถึง

บางไอเดียที่เคยเขียน อาจไม่มีประโยชน์ และอาจมีบางไอเดียที่เราเคยเขียนไว้หลายปีก่อน เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในตอนนี้

ขณะที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ผมอพยพไปพักที่จุฬาฯ และหยิบสมุดบันทึกเกือบ 10 เล่มติดตัวด้วย เพราะผมถือว่า เป็นสิ่งของล้ำค่าที่หาทดแทนไม่ได้ครับ

การเขียนสมุดบันทึกเป็นวิธีง่ายที่สุดอย่างหนึ่งในการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ทุกครั้งที่มีผู้ขอคำแนะนำจากผมว่า จะฝึกความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร ผมแนะนำให้เขียนสมุดบันทึกครับ

หลังจากที่อ่านบทความนี้แล้ว ผมหวังว่า คุณจะหาสมุดบันทึกและปากกา แล้วเริ่มจดบันทึกไอเดีย ข้อสังเกต คำถาม เว็บไซต์ ข่าว ความเห็น หรืออะไรก็ได้ที่อยากเขียน

เมื่อเวลาผ่านไป คุณจะพบว่า ความคิดสร้างสรรค์จะมาเยี่ยมบ่อยขึ้น และไม่ใช่เรื่องยากในการหาไอเดียใหม่อีกต่อไปครับ

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
ธงชัย โรจน์กังสดาล

Written by ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์

Responses (2)