กิจกรรมสอนเณรน้อยในค่ายฤดูร้อน
แชร์กิจกรรมที่สอนเณรวัยประถมเกี่ยวกับการแก้ปัญหาและการทำงานเป็นทีม
สมมติว่า คุณได้รับเชิญไปสอนเณรวัยประถมประมาณ 20 รูป มีเวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง โดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ ไม่ใช้สไลด์ ไม่สอนในห้องเรียน สอนในเต็นท์ ไม่มีแอร์
คุณจะออกแบบบทเรียนอย่างไรเพื่อดึงความสนใจจากเณรน้อยเหล่านี้
ผมจะเล่าประสบการณ์จริงจากโจทย์ข้างบนในบทความนี้
หลวงพี่นันท์ซึ่งเรียนวิศว จุฬาฯ รุ่นเดียวกับผม เชิญผมไปสอนเณรในค่ายฤดูร้อนที่วัดหทัยนเรศวร์ จังหวัดราชบุรี
สมัยเป็นฆราวาส หลวงพี่นันท์จัดเวิร์คชอปเรื่องโซล่าร์ เซลล์ให้ประชาชนทั่วไป เมื่อท่านบวช ก็จัดอบรมเรื่องการประดิษฐ์ การพึ่งพาตนเอง โซล่าร์ เซลล์ให้ผู้สนใจ รวมทั้งเยาวชนและเณร
หลวงพี่นันท์เคยเชิญผมมาอบรมให้เณรภาคฤดูร้อนในปีที่แล้ว ซึ่งผมได้ประสบการณ์ว่า เนื้อหาที่เตรียมไปยังไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไร เพราะเณรต้องเขียนเยอะ ในขณะที่เณรหลายรูปเพิ่งเรียนป.2 ป.3 ยังไม่เข้าใจเนื้อหาที่ผมสอน และเขียนยังไม่คล่อง
ปีนี้ ผมจึงจัดรูปแบบกิจกรรมใหม่ โดยใช้ของเล่นและกิจกรรมที่ผ่านการทดสอบหลายครั้งแล้วว่า สนุก เด็กทุกคนทำได้แน่นอน ไม่เน้นการเขียนเหมือนครั้งที่แล้ว
ผมสอนวันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2567 เวลา 9.00–11.30 น. มีกิจกรรมสำคัญ 2 อย่างคือ การแก้ปัญหาและการทำงานเป็นกลุ่ม
1. ฝึกแก้ปัญหาด้วยเกมวิศวกรน้อย
เกมวิศวกรน้อยเป็นกล่องที่มีตัวต่อหรือ block 9 ชิ้น โดยวิธีการเล่นง่ายมาก คือ
เทตัวต่อทั้งหมดออกจากกล่อง จากนั้น ใส่กล่องให้ได้ตามเดิม
ผมใช้เกมวิศวกรน้อยในวิชา Innovative Thinking ซึ่งเป็นวิชาเลือกการศึกษาทั่วไปหรือ Gen Ed ของนิสิตจุฬาฯ เป็นเกมที่นิสิตสนุกสนานมาก
ขั้นตอนการใช้เกมวิศวกรน้อยของผมมีดังนี้
- เณรทุกรูปลองเล่นด้วยตัวเอง โดยยังไม่สอนว่า ใส่กล่องอย่างไร ผมแค่บอกเณรว่า มีหลายร้อยวิธีในการใส่กล่อง เหมือนการแก้ปัญหาที่ทำได้หลายวิธี ซึ่งมีเณรไม่กี่รูปเท่านั้นที่ใส่กล่องได้สำเร็จ ส่วนใหญ่ยังทำไม่ได้
- จากนั้น ผมสอนวิธีใส่กล่องที่ทำตามง่ายมาก แล้วให้เณรทุกรูปทำตามและฝึกทำหลายๆ ครั้ง
- เริ่มการแข่งขันจับเวลารอบแรก โดยให้เณรลุกขึ้นยืน จากนั้นจับเวลา 15 วินาที ใส่กล่องให้ทันเวลา แล้วจึงนั่ง
- เณรฝึกซ้อมอีกครั้ง แล้วจับเวลาครั้งที่ 2 โดยเหลือเพียง 12 วินาที ซึ่งผมอธิบายว่า เหมือนการเรียน ที่เณรต้องเรียนเก่งขึ้น เกรดต้องดีขึ้นกว่าเดิม
เมื่อเณรทุกรูปใส่กล่องจนคล่องแล้ว ผมก็พลิกแพลงโจทย์การใช้เกมวิศวกรน้อย โดยกำหนดเงื่อนไขว่า ให้ใส่ตัวสี่เหลี่ยมที่ตรงกลางกล่อง จากนั้นใส่อีก 8 ตัวที่เหลือในกล่องให้ได้
ใครที่ทำได้ก่อน ก็ขอให้ไปสอนเพื่อน
กิจกรรมถัดไปคือ การคิดนอกกล่อง โดยนำตัวต่อมาต่อยาวเป็นกำแพงหรือผนัง ไม่ให้มีช่องว่าง แล้วต่อยาวกันไปเรื่อยๆ
เมื่อต่อกำแพงเป็นแล้ว ก็มาถึงกิจกรรมสุดท้่ายของวิศวกรน้อยคือ
สร้างหอคอยสูงที่สุดจากตัวต่อและไม่ให้ล้ม
กิจกรรมวิศวกรน้อยให้ข้อคิดเณรต่อไปนี้
- ปัญหามีทางแก้ได้หลายวิธี ถ้าใช้วิธีไหนไม่ได้ผล ก็ลองวิธีอื่น
- ถ้าทำเป็นแล้ว ก็สอนเพื่อนที่ทำไม่เป็น
- การใส่กล่องวิศวกรน้อยให้คล่อง ต้องฝึกทำหลายๆ ครั้ง เหมือนการอ่านหนังสือที่บางครั้งต้องอ่านหลายครั้งจึงจะจำได้
- การใส่กล่องวิศวกรน้อยให้เร็วขึ้น เหมือนการเรียนหนังสือที่เณรควรเรียนเก่งขึ้นเรื่อย ๆ ทำคะแนนดีขึ้น
- ลองทำสิ่งแปลกใหม่บ้าง เหมือนการนำตัวต่อวิศวกรน้อยออกนอกกล่อง
กิจกรรมวิศวกรน้อยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นก็หยุดพักให้เณรฉันไอติม น้ำ หรือขนม ก่อนเริ่มกิจกรรมที่สอง
2. ทำงานเป็นทีมด้วยการสร้างหอคอยสปาเกตตี
ผมใช้กิจกรรมที่โด่งดังระดับโลกคือ Marshmallow challenge ซึ่งเป็นการสร้างหอคอยสปาเกตตีที่มีขนมมาร์ชแมลโลว์อยู่ข้างบน โดยให้เณรจับกลุ่มๆ ละ 2–3 คน ให้เวลา 15 นาที
ในรอบแรก มีเพียง 3 กลุ่มเท่านั้นที่สร้างหอคอยได้สำเร็จ ส่วนกลุ่มที่เหลือ หอคอยล้มระเนระนาด
ผมจึงอธิบายว่า เหตุผลที่สร้างไม่ได้ เพราะมัวแต่ไปสนใจสร้างหอคอยให้สูงที่สุด แต่ไม่ได้นำขนมมาร์ชแมลโลว์ไปวางจริงๆ เพื่อทดสอบน้ำหนัก ทำให้หอคอยรับน้ำหนักไม่ไหว แก้ไขไม่ทันเวลาแล้ว
ผมบอกว่า ให้โอกาสสร้างหอคอยใหม่ครั้งที่ 2 โดยให้วัสดุชุดใหม่ทั้งหมด และให้เวลา 15 นาที โดยกลุ่มที่ทำได้แล้ว ขอให้สร้างหอคอยสูงกว่าเดิม แต่กลุ่มที่ทำไม่ได้ ขอให้เรียนรู้จากข้อผิดพลาด ทำครั้งนี้ให้สำเร็จ
ในรอบที่สอง ทุกกลุ่มสร้างหอคอยสปาเกตตีได้สำเร็จครับ
หอคอยสปาเกตตีสอนเณรเรื่อง การทำงานเป็นทีม, การเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตนเอง แล้วปรับปรุงให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป
ข้อคิดที่ผมได้รับ
การสอนเณรครั้งนี้ก็เป็นการออกนอก comfort zone การสอนของผมเช่นกัน คือ
- ปกติผมสอนในห้องแอร์เย็นสบาย มีคอมพิวเตอร์ โปรเจคเตอร์ แต่ครั้งนี้สอนในเต็นท์ ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีโปรเจคเตอร์ มีแค่ไมโครโฟนเท่านั้น
- ผู้เรียนคือเณรที่กำลังเรียนชั้นประถม ซึ่งปกติผมสอนนิสิตหรือผู้ใหญ่วัยทำงาน
ข้อกำหนดเหล่านี้ทำให้ผมต้องคิดกิจกรรมที่เหมาะกับผู้เรียนและสภาพแวดล้อมที่ไม่ใช่ห้องเรียน จึงคิด 2 กิจกรรมข้างบน และเตรียมวัสดุการสอนทุกอย่างให้พร้อม รวมทั้งมีผู้ช่วยสอน คือ ภรรยาและลูกสาวผม
อีกอย่างหนึ่งที่ต้องเตรียมคือ รางวัล ซึ่งผมได้เตรียมขนมจำนวนมากเพื่อแจกผู้เรียน
บทความอ่านประกอบ
ผมเล่าวิธีทำกิจกรรมหอคอยสปาเกตตีอย่างละเอียดในบทความ
เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่