กิจกรรมที่เด็กอนุบาลเก่งกว่านักศึกษาเอ็มบีเอ

กิจกรรมง่ายๆ ที่แพร่หลายทั่วโลกจากการบรรยาย TED สอนเรื่องการทำงานเป็นทีมภายใต้เวลาและทรัพยากรที่จำกัด

Photo by Greyson Joralemon on Unsplash

ถ้าคุณอยากได้กิจกรรมสนุกๆ ประมาณครึ่งชั่วโมง,หาวัสดุง่ายและราคาถูก, ใช้ได้กับคนจำนวนมาก ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่และให้ข้อคิดที่เหมาะกับยุคนวัตกรรม

ผมขอแนะนำกิจกรรมจาก TED เรื่อง “สร้างหอคอย , สร้างทีม (Build a tower, build a team)” ซึ่งคุณทอม วูเจ็คเป็นผู้บรรยาย

คุณทอม วูเจ็ค ผู้บรรยาย TED ที่ทำให้กิจกรรมนี้แพร่หลายไปทั่วโลก

ภารกิจมาร์ชแมลโลว์

กิจกรรมนี้คือ สมาชิก 4 คน ช่วยกันสร้างหอคอยด้วยเส้นสปาเกตตี 20 เส้นที่มีขนมมาร์ชแมลโลว์ปักบนสปาเกตตีสูงจากพื้นที่สุด ภายในเวลา 18 นาที

สปาเกตตีต้องยึดติดกับพื้นด้วยเทปกาวหรือเชือกเท่านั้น ห้ามใชัวัสดุอื่นเพิ่มเติม

ผมกำหนดด้วยว่า ทุกอย่างต้องยึดจากพื้นเท่านั้น ห้ามยึดจากเพดาน คิดง่ายๆ คือ ถ้าทำกิจกรรมนี้กลางแจัง เราจะยึดจากท้องฟ้าได้ไหม

ทีมที่ชนะ คือ กลุ่มสร้างหอคอยที่มีมาร์ชแมลโลว์สูงจากพื้นมากที่สุด

Credit ; www.tomwujec.com

วัสดุและการเตรียมกิจกรรม

  • สปาเกตตี 20 เส้น
  • เชือกและเทปกาว 1 หลา ( 91.44 ซม แต่ผมใช้ 90 ซม. )
  • ขนมมาร์ชแมลโลว์ 1 ชิ้น
  • กรรไกร สำหรับตัดเชือกและเทป

ผู้จัดกิจกรรมต้องมี นาฬิกาจับเวลา เช่นแอปในสมาร์ตโฟน และเทปวัดความยาว

ข้อดีของกิจกรรมนี้ คือหาวัสดุง่าย ราคาไม่แพง แต่สิ่งสำคัญคือ ควรเตรียมจำนวนให้เพียงพอ และสำรองเผื่อไว้ด้วย

ดังนั้น เราต้องทราบว่าผู้ร่วมกิจกรรมมีกี่คน รวมทั้งควรทราบสภาพห้องที่ทำกิจกรรมนี้

ผมเคยทำกิจกรรมนี้ที่ห้องสัมมนาในโรงแรมที่มีผ้าคลุมโต๊ะ พบปัญหาเรื่อง ยึดสปาเกตตีกับผ้าไม่อยู่ ต้องดึงผ้าออก ก็แก้ปัญหานี้ได้

นิสิตจุฬาฯ กลุ่มนี้พิชิตภารกิจสำเร็จ

ทำไมเด็กอนุบาลเก่งกว่านักศึกษาเอ็มบีเอ

คุณทอมอธิบายว่า เด็กอนุบาลจะไม่คิดหรือวางแผนนานเกินไป เด็กจะสร้างหอคอยทันที ทดลองทำ ต้นแบบ ไปเรื่อยๆ และขัดเกลาจนได้หอคอยสูงที่สุด

ส่วนนักศึกษาเอ็มบีเอถูกฝึกมาในเรื่อง การวางแผน ทำให้คิดนานเกินไป จนทำเสร็จไม่ทันหรือเตี้ยกว่าหอคอยของเด็ก เพราะไม่มีเวลาแก้ไข

อย่างไรก็ตาม ผมใช้กิจกรรมนี้กับนักศึกษาเอ็มบีเอหลายครั้ง หลายกลุ่มก็ทำสำเร็จและหอคอยก็สูงด้วย ไม่ใช่ว่า นักศึกษาเอ็มบีเอแย่เสมอไป

แต่ผมยังไม่เคยใช้กิจกรรมนี้กับเด็กอนุบาลหรือเด็กประถม ถ้าผู้อ่านเป็นครูหรือทำกิจกรรมเกี่ยวกับเด็ก ลองใช้กิจกรรมนี้กับเด็กเล็กครับ

กิจกรรมง่ายๆ ที่ไม่ง่ายอย่างที่คิด

ประสบการณ์จากการใช้กิจกรรมนี้

ผมใช้กิจกรรมนี้มาหลายสิบครั้ง ตั้งแต่นักเรียนมัธยม นิสิตจุฬาฯ นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ กลุ่มนักศึกษาที่มาแข่งขันสร้างหุ่นยนต์ Robot Design Contest นักศึกษาเอ็มบีเอที่สถาบันนิด้า ผู้บริหารมหานคร และกลุ่มผู้เรียนคนทำงานทั่วไป

ได้ผลลัพธ์เหมือนกันคือ

ไม่เคยมีห้องเรียนไหนสร้างหอคอยตั้งได้ครบทุกกลุ่ม

บางห้องเรียนสร้างหอคอยได้ประมาณหนึ่งในสาม เช่น ห้องเรียนมี 10 กลุ่ม มีแค่ 3 กลุ่มที่สร้างหอคอยเสร็จ ส่วนกลุ่มที่เหลือ ล้มระเนระนาด

บางคลาสสร้างหอคอยได้สองในสาม บางคลาสก็สร้างได้ครึ่งห้อง แต่ไม่เคยครบทุกกลุ่มครับ

แม้แต่นักศึกษาวิศวกรรมหรือสถาปัตย์ก็ไม่ได้เปรียบเสมอไป เช่น กลุ่มนักศึกษาที่มาแข่งขันสร้างหุ่นยนต์ใน RDC (Robot Design Contest) ก็สร้างได้แค่ไม่กี่กลุ่ม มีหลายกลุ่มที่พังครืนลงมาพร้อมกับเสียงหัวเราะ ฮาลั่น

ผมยังพบอีกว่า …

กลุ่มที่พยายามสร้างหอคอยสูงๆ ตั้งแต่แรก จะล้มทุกกลุ่ม

เพราะนึกไม่ถึงว่า มาร์ชแมลโลว์ก้อนเล็กๆ จะถล่มหอคอยได้

ก่อนสร้างหุ่นยนต์ มาสร้างหอคอยสปาเกตตีก่อน

ข้อคิดจากภารกิจมาร์ชแมลโลว์

นิสิตที่เคยทำกิจกรรมนี้ในวิชา Innovative Thinking เขียนในสมุดบันทึกประจำวิชาว่า เมื่อไปทำงานจริง ก็พบปัญหาคล้ายกับการทำกิจกรรมหอคอยเช่น มัวแต่วางแผนนานเกินไปจนทำงานไม่ทัน ปัญหาเรื่องการประสานงาน ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรบางอย่างที่คิดไม่ถึง

ดังนั้น หลังจากที่ทำกิจกรรมหอคอยเสร็จแล้ว ควรเปิด TED ให้ผู้เรียนชม และให้ผู้เรียนเชื่อมโยงข้อคิดที่ได้จากกิจกรรมนี้กับประสบการณ์ตนเอง

แต่ละคนอาจได้ข้อคิดต่างกัน บางคนอาจได้ข้อคิดเรื่องการทำต้นแบบอย่างรวดเร็ว บางคนได้ข้อคิดเรื่องการวางแผน ถ้าผู้เรียนแลกเปลี่ยนข้อคิดกัน ก็จะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ครับ

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
ธงชัย โรจน์กังสดาล

Written by ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์

No responses yet