แนะนำ 15 เว็บไซต์และแอปน่าสนใจจากจดหมายข่าวไฟฉายครึ่งปีแรกของ 2021

Photo by Ketut Subiyanto from Pexels

ในยุคที่เรา WFH อยู่กับบ้าน ใช้ชีวิตออนไลน์เกือบตลอดเวลา แอปและเว็บไซต์มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ

ผมรวบรวมแอปและเว็บไซต์ที่แนะนำในจดหมายข่าวไฟฉายฉบับที่ 1–12 หรือเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2021 มาให้คุณรู้จักครับ

Credit : Amazon.com

1. Kindle

ถ้าคุณอยากอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ แต่ยังไม่อยากซื้อ เช่น อยากลองอ่านหนังสือภาษาอังกฤษที่ผมแนะนำในจดหมายข่าวไฟฉาย

ขอให้ติดตั้งแอป Kindle ซึ่งเป็นแอปฟรีในสมาร์ตโฟนทุกเครื่อง จากนั้นลงทะเบียน แล้วดาวน์โหลดตัวอย่างหนังสือมาอ่านในอุปกรณ์ของตัวเองได้เลย

ถ้าสนใจเล่มนั้น จึงซื้อทีหลัง นอกจากได้อ่านตัวอย่างหนังสือแล้ว มีหลายครั้งที่เราได้หนังสือราคาถูกมากหรือหนังสือฟรีมาอ่านใน Kindle ครับ

Credit : Viabus

2. Viabus

Viabus เป็นแอปสำหรับชาวกรุงเทพมหานครที่ขึ้นรถเมล์ เพราะแอปนี้บอกได้ว่า รถเมล์ที่เรากำลังคอยอยู่ที่ไหน จะได้ตัดสินใจว่า ควรคอยต่อไป ขึ้นสายอื่น หรือเปลี่ยนเส้นทาง

สโลแกนของ Viabus โดนใจคนนั่งรถเมล์มากคือ “เดินทางอย่างมีความหวัง”

Credit : Loom.com

3. Loom

Loom เป็นโปรแกรมบันทึกวิดีโอหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือไอโฟน ข้อดีของ Loom คือใช้งานง่ายมากและแชร์ link วิดีโอที่เราอัดไว้ให้คนอื่นได้ด้วย

ผมยังใช้ Loom อัดวิดีโอในการคุมสอบออนไลน์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ด้วยครับ

Credit : https://hovancik.net/stretchly/

4. Stretchly

โปรแกรมชื่อ Stretchly มีข้อความเตือนเราเมื่อใช้คอมพิวเตอร์นานเกินไป เช่น เตือนให้หลับตาทุก 10 นาที หรือหยุดพัก 5 นาทีเมื่อทำงานครบ 30 นาที และให้ผู้ใช้ตั้งค่าได้ตามความต้องการ

Stretchly เป็นโปรแกรมโอเพนซอร์สที่เปิดเผยต้นฉบับโปรแกรม ทำงานได้ทั้งบนวินโดวส์ แมค และลีนุกซ์

ผู้สนใจที่อยากแปลข้อความในโปรแกรมเป็นภาษาไทย ก็มาร่วมเป็นอาสาสมัครในโครงการของ Stretchly ได้ครับ

Credit : Smallpdf.com

5. Smallpdf

หลังจากใช้เวลานานในการแสวงหาโปรแกรมแก้ไขไฟล์ PDF โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อแพง ๆ หรือสมัครสมาชิกเดือนละหลายร้อยบาท เพื่อแก้ไขไฟล์แค่เดือนละสองสามครั้ง

ถึงแม้ว่าบางโปรแกรมแก้ไข PDF ได้ แต่ก็จอดเมื่อเจอภาษาไทย เพราะเมื่อใส่ภาษาไทย แล้วบันทึกไฟล์ กลับได้ภาษาต่างดาวแทน

ในที่สุด ผมก็พบโปรแกรมแก้ไข PDF ฟรีที่แก้ไขไฟล์ภาษาไทยได้และใช้งานง่ายคือ เว็บไซต์ smallpdf.com ครับ

ผมอยู่บ้าน WFH ก็ใช้ smallpdf ช่วยจัดการไฟล์ PDF เช่น เซ็นชื่อ , กรอกข้อมูล , ใส่รูป และตัดหน้าที่ไม่ต้องการทิ้ง ช่วยให้ทำงานอย่างราบรื่นครับ

Credit : App Store

6. Creative Whack Pack

ปัจจุบันมีแอปฝึกความคิดสร้างสรรค์จำนวนมาก แต่มีแอปตัวหนึ่งที่ผมใช้เป็นประจำในไอโฟนคือ Creative Whack Pack ราคาแค่ 1.99 ดอลลาร์หรือ 60 บาทเท่านั้นเอง จ่ายเงินครั้งเดียว ใช้ได้ตลอดไป

แอป Creative Whack Pack เป็นผลงานของคุณ Roger Von Oech ซึ่งเป็นปรมาจารย์ด้านความคิดสร้างสรรค์ระดับโลก มีผลงานหนังสือ การ์ด และของเล่นฝึกไอเดียมากมาย

Creative Whack Pack แนะนำเทคนิคฝึกความคิดสร้างสรรค์แบบต่าง ๆ พร้อมภาพวาดแปลกตา ถ้าไอเดียอุดตันเมื่อไร ก็ปรึกษาแอปเพื่อขอไอเดียใหม่ได้เลย

Credit : Google Play

7. อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร

ถ้าคุณเคยสงสัยว่า สังเกตหรือสังเกตุ เขียนแบบไหนจึงถูกต้อง หรือคำว่า ผัดผ่อนหรือผลัดผ่อน สะกดอย่างไรกันแน่

แอป อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไ‪ร‬ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ช่วยคุณได้ เพราะรวบรวมคำที่มักสะกดผิดและการอ่านคำ ที่ใช้งานได้สะดวก มีทั้งในไอโอเอส และ แอนดรอยด์

ก่อนมีแอปนี้ ผมเคยซื้อหนังสือ “อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร” จากศูนย์หนังสือจุฬาฯ แจกเป็นของขวัญปีใหม่ แต่หลังจากมีแอปนี้แล้ว ก็ไม่ต้องซื้อหนังสือแจกอีกเลย เพราะเป็นแอปฟรีที่ทุกคนติดตั้งได้ด้วยตนเองครับ

ยังมีแอปอื่น ๆ ซึ่งคุณติดตั้งเพิ่มเติมได้ โดยค้นหาคำว่า ราชบัณฑิตยสถาน ใน App Store หรือ Google Play

Credit : Lifehacker.com

8. Lifehacker.com

เว็บไซต์แห่งหนึ่งที่ผมเข้าไปดูเป็นประจำคือ lifehacker.com ซึ่งมีบทความรวมเคล็ดลับต่าง ๆ สารพัดเรื่อง เช่น เทคโนโลยี การทำงาน สุขภาพ การเงิน สินค้า การเดินทาง เป็นต้น

คำว่า lifehacker มาจาก life ที่แปลว่า ชีวิต และ hacker หรือแฮคเกอร์ ดังนั้น lifehacker จึงหมายถึง เทคนิค เคล็ดลับในการใช้ชีวิตให้ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ

Credit : icon-icons.com

9. Slideshare

เว็บไซต์ที่ผู้สนใจด้านการทำสไลด์ไม่ควรพลาดอย่างยิ่งคือ Slideshare.net ซึ่งมีแอปชื่อ Slideshare ทำงานทั้งใน iOS และ Android

ถ้าเปรียบเทียบง่าย ๆ Slideshare คือยูทูบของสไลด์นั่นเอง เพราะเป็นเว็บไซต์รวบรวมสไลด์มากมายมหาศาลที่เราค้นหา ศึกษา และนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอได้

ถ้าอยากเห็นว่า สไลด์เจ๋ง ๆ ขั้นเทพเป็นอย่างไร Slideshare มีตัวอย่างสไลด์ระดับสุดยอดมากมายที่เราศึกษาเป็นตัวอย่างได้ครับ

ถ้าคุณอยากเผยแพร่สไลด์ตัวเองให้ผู้อื่น ก็ upload สไลด์ขึ้นมาที่ Slideshare เพื่อให้ผู้อื่นดูได้เช่นกันครับ

Credit : Firstversions.com

10. Firstversions.com

อยากทราบไหมว่า เว็บไซต์ดัง ๆ ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ กูเกิล มีหน้าตาอย่างไรตอนที่เผยแพร่ครั้งแรก หรือซอฟต์แวร์ที่เรารู้จักกันดี เช่น วินโดวส์ โฟโต้ชอป มีโลโก้ครั้งแรกเป็นอย่างไร

เว็บไซต์ firstversions.com แสดงข้อมูลที่น่าสนใจเหล่านี้ให้ทราบครับ นอกจากนี้ firstversions.com ยังแสดงรุ่นแรกของผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ของเล่น การ์ตูน ภาพยนตร์

หน้าตาเว็บไซต์ Drive & Listen ขับรถเที่ยวสิงคโปร์

11. Drive & Listen

ผมไม่ได้ไปต่างประเทศ 2 ปีแล้ว อาจต้องรอเป็นปีกว่าจะได้เดินทางไปต่างประเทศอีก แต่คุณก็ไปเที่ยวเมืองนอกได้โดยไม่ต้องออกจากบ้าน ด้วยการแวะมาที่เว็บไซต์ชื่อ Drive & Listen

Drive & Listen พาคุณนั่งรถเที่ยวเมืองใหญ่ทั่วโลกประมาณ 50 เมือง เช่น ชิคาโก ปักกิ่ง สิงคโปร์ ลอนดอน โตเกียว เป็นต้น ฟังวิทยุของเมืองนั้น กำหนดความเร็วรถได้ ฟังเสียงถนนด้วย ช่วยผ่อนคลายดีมากเวลาอยู่กับบ้าน ออกข้างนอกไม่ได้ ก็ขับรถท่องรอบโลกทางเว็บไซต์ ดูบรรยากาศชิล ๆ ครับ

Credit : instructables.com

12. Instructables.com

เว็บไซต์เกี่ยวกับ D.I.Y. (Do It Yourself) ที่ผมแวะเข้าไปดูประจำคือ instructables.com ซึ่งมีคำแนะนำและตัวอย่างการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองมากมาย เช่น การทำอาหาร , การประดิษฐ์ , งานช่าง , งานไฟฟ้า และเรื่องอื่น ๆ อีกมากครับ

Credit : Mindmup.com

13. Mindmup.com

Mind Map เป็นเครื่องมือช่วยการทำงานที่ผมชอบมากที่สุดตัวหนึ่ง ปัจจุบันมีซอฟต์แวร์และเว็บไซต์ Mind Map จำนวนมากจนแทบจะเลือกไม่ถูก

Mindmup.com เป็นเว็บไซต์สร้าง Mind Map ฟรีที่ใช้งานง่ายมาก ไม่ต้องสมัครสมาชิก ไม่ต้องติดตั้งโปรแกรม ใช้งานในเว็บเบราว์เซอร์ได้ทันที

ถ้าคุณกำลังมองหาโปรแกรมฟรีสร้าง Mind Map ที่ใช้งานง่าย Mindmup เป็นโปรแกรมที่ควรลองใช้อย่างยิ่งครับ

Credit : getdrafts.com

14. Drafts

Drafts เป็นแอปฟรีในไอโฟนที่ผมใช้ทุกวัน เพราะใช้งานง่ายมาก เหมาะกับการเขียนหรือเก็บข้อมูลอย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างการใช้งาน Drafts ที่ผมใช้บ่อย ๆ เช่น เจอข้อความน่าสนใจใน Line ก็จะคัดลอกมาใส่ไว้ที่ Drafts หรือถ้าต้องการโพสต์ข้อความใน Line หรือ Facebook ผมก็จะเขียนข้อความใน Drafts ก่อนแล้วจึงคัดลอกไปโพสต์ที่อื่น

นอกจากนี้ Drafts ทำงานแบบออฟไลน์ได้ และมี action ที่ทำงานได้หลายอย่าง เช่น ส่งอีเมล , ทวิต , เก็บข้อความไว้ที่ Dropbox หรือ Google drive เป็นต้น

Drafts ใช้ได้ใน iOS และเครื่องแมคเท่านั้น ดาวน์โหลดได้ที่ https://getdrafts.com/

Credit : chrome.google.com

15. News Feed Eradicator

มีหลายครั้งที่ผมตั้งใจจะโพสต์ข่าวสารน่าสนใจในเฟซบุ๊คซึ่งควรใช้เวลาไม่กี่นาที แต่กลายเป็นว่า เสียเวลาหลายสิบนาที บางครั้งก็เป็นชั่วโมง เพราะหลงเพลินอ่าน feed ข่าวต่าง ๆ ที่ปรากฎขึ้นมา

ถ้าคุณมีอาการเหมือนผม ใช้เวลาในเฟซบุ๊คมากเกินไป ขอแนะนำให้รีบติดตั้ง News Feed Eradicator (NFE) ซึ่งเป็นตัวเสริมหรือ extension ที่ติดตั้งใน Chrome หรือ Firefox และมีผู้ติดตั้งแล้วเกือบสองแสนคน

NFE เปลี่ยน newsfeed ของเฟซบุ๊คเป็นคำคมหรือคำพูดสร้างแรงบันดาลใจ ดังนั้น เวลาที่เราใช้เฟซบุ๊ค ก็จะไม่เห็น feed ข่าวต่าง ๆ อีกต่อไป ทำให้ใช้เวลาในเฟซบุ๊คน้อยลง

นอกจากเฟซบุ๊คแล้ว NFE ยังใช้ได้กับเว็บอื่น ๆ เช่น Twitter , Youtube, Instagram เป็นต้น

ถ้าคุณเป็นนักอ่านหรือผู้ชอบการเรียนรู้ เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ออกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือนเพื่อแนะนำเรื่องน่าสนใจ เช่น บทความ หนังสือ เว็บไซต์ แอป วิดีโอ คอร์สออนไลน์ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
ธงชัย โรจน์กังสดาล

Written by ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์

Responses (1)