เหตุผลที่นิสิตเข้าสอบสาย

อะไรบ้างที่เป็นอุปสรรคทำให้นิสิตเข้าสอบไม่ทัน

Credit : Pexels.com

การเข้าห้องสอบตรงเวลาเป็นเรื่องสำคัญมาก

คณะที่ผมทำงานอยู่ มีข้อกำหนดในการสอบว่า ถ้านิสิตเข้าสอบสายเกิน 15 นาที แต่ไม่เกิน 30 นาที จะต้องเซ็นใบเข้าห้องสอบสายก่อน แล้วจึงจะสอบได้

เช่น เริ่มสอบเวลา 8.30 น. แต่นิสิตเข้าห้องสอบเวลา 8.46–9.00 น. จะต้องเซ็นชื่อใบเข้าห้องสอบสาย

แต่ถ้าเข้าห้องสอบเกิน 30 นาทีแล้ว กรรมการคุมสอบจะต้องให้นิสิตไปรายงานตัวที่กรรมการกลางที่ดูแลการสอบ จะไม่อนุญาตให้เข้าห้องสอบ

เนื่องจากผมคุมสอบนิสิตมาหลายสิบปีแล้ว ได้เห็นนิสิตที่เข้าสอบสายมาเยอะ และอ่านเหตุผลที่นิสิตเขียนว่า ทำไมเข้าสอบสาย

[1] รถติดหรืออุบัติเหตุทางจราจร

นี่เป็นเหตุผลคลาสสิคในการเข้าห้องสอบสาย เช่น ฝนตกหนักในวันสอบพอดี จึงทำให้มาสายเกินกว่ากำหนด

แต่บางคนมาสาย เพราะเกิดอุบัติเหตุเช่น รถเฉี่ยวชน

[2] BTS / MRT ขัดข้อง

นี่ก็เป็นกรณีที่เคยเกิดขึ้นแล้วว่า มาขัดข้องในวันสอบพอดี ทำให้นิสิตต้องเสียเวลา และเข้าห้องสอบสาย

[3] ตื่นสาย

นี่เป็นเหตุผลที่พบบ่อยมากที่สุด เพราะนิสิตนั่งอ่านทั้งคืน แล้วสอบตอนเช้า อุตส่าห์ตั้งนาฬิกาปลุกแล้ว ก็ยังไม่ตื่น

มารู้ตัวอีกที แทบช็อค หลายคนไม่ได้อาบน้ำ หน้าสด รีบเรียกพี่วินมาเลย

ผมบอกนิสิตบ่อยๆ ว่า ถ้าสอบวิชาตอนเช้า อย่านอนดึกเลย รีบนอนเร็ว แล้วตื่นเช้าดีกว่า

บางคนพระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก นอกจากตื่นสายแล้ว ยังเจอเหตุขัดข้องทางจราจรอีก เข้าห้องสอบที เหงื่อเต็มเสื้อเลย เพราะวิ่งเข้าห้องสอบสุดชีวิต

[4] จำเวลาสอบผิด

10 กว่าปีก่อน มีนิสิตคนหนึ่งมาสอบไม่ทัน เพราะคิดว่าสอบตอนบ่าย แต่วิชานั้นสอบตอนเช้า เจ้าตัวรู้ตอนมาที่จุฬาฯ แล้ว ร้องไห้โฮเลย เพราะเป็นการสอบไล่

เนื่องจากกรณีนี้ไม่ใช่การป่วย เกรดสูงสุดที่ได้คือ C เท่าน้้น ต่อให้ทำคะแนนดีแค่ไหนก็ตาม ก็ไม่มีสิทธิได้ A

[5] ท้องเสีย

ผมเจอนิสิตหลายคนที่เขียนเหตุผลในการเข้าสอบสายว่า ท้องเสีย

เคยถามบางคนว่า เพราะอะไร นิสิตก็ตอบว่า ทานอาหารที่เผ็ดเกินไปหรืออาหารที่ไม่คุ้นเคย ทำให้ระบบขับถ่ายผิดปกติ

ผมเห็นด้วยว่า ระหว่างการสอบ ไม่ควรทานอาหารที่พิสดารมากเกินไป กินอาหารพื้นๆ ที่ทานประจำดีที่สุด

[6] เสียเวลาพิมพ์เอกสารที่อาจารย์อนุญาตให้เข้าห้องสอบ

บางวิชาอนุญาตให้นิสิตนำกระดาษ A4 1 แผ่นเข้าห้องสอบได้ นิสิตจึงต้องเตรียมเอกสารที่เขียนละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ในกระดาษแผ่นเดียว จนบางครั้งแทบจะต้องใช้แว่นขยายส่องอ่าน

แต่กรณีนี้ นิสิตลืมหรือด้วยเหตุผลใดก็ไม่ทราบ เพิ่งมาเตรียมก่อนเข้าสอบ จึงเกือบเข้าห้องสอบไม่ทัน

[7] หาห้องสอบหรือตึกสอบไม่เจอ

ถ้าเป็นการสอบวิชาของคณะตัวเอง จะไม่ค่อยมีปัญหาในการหาห้องเรียนหรือตึก เพราะคุ้นเคยอยู่แล้ว

แต่ถ้าเป็นการสอบวิชาต่างคณะ เช่น วิชาเลือก, วิชาการศึกษาทั่วไป ที่ต้องไปสอบคณะอื่น บางทีต้องไปสอบที่ตึกซึ่งไม่ใช่ตึกที่เคยเรียน อาจทำให้เสียเวลา เพราะหาตึกไม่เจอ

[8] ใช้เวลาในการอ่านหนังสือหน้าห้องสอบ

บางคนมาเร็วก็จริง แต่ทราบว่า อนุญาตให้เข้าห้องสอบสายได้ไม่เกิน 30 นาที ก็จะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการอ่านจนใกล้ครบ 30 นาทีแล้ว จึงเข้าห้องสอบ

วิธีนี้ไม่ได้ผิดอะไร แต่มีความเสี่ยงมาก เพราะถ้าอ่านเพลิน เกิน 30 นาทีเมื่อไร อาจหมดสิทธิสอบได้

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว ไฟฉาย ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
ธงชัย โรจน์กังสดาล

Written by ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์

No responses yet