เหตุผล 5 ข้อที่อาจารย์มหาวิทยาลัยควรสอนวิชา GenEd หรือการศึกษาทั่วไป
ประสบการณ์ที่ได้จากการสอนวิชา Innovative Thinking ซึ่งเป็นวิชา GenEd ของจุฬาฯ 12 ปี
วิชาการศึกษาทั่วไปที่นิสิตจุฬาฯ ชอบเรียกสั้น ๆ ว่า GenEd หรือมหาวิทยาลัยบางแห่งเรียกว่า จีอี (GE) มาจากคำว่า General Education คือ วิชาที่นิสิตต้องเรียนนอกจากวิชาในหลักสูตรตัวเอง โดยแบ่งเป็นหมวดต่าง ๆ เช่น หมวดวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หมวดภาษาต่างประเทศ หมวดมนุษยศาสตร์ หมวดสหศาสตร์ หมวดสังคมศาสตร์
ผมสอนวิชา GenEd ของจุฬาฯ ชื่อ Innovative Thinking ประมาณ 12 ปีแล้ว และคิดว่า มีอาจารย์จำนวนมากที่ไม่เคยสอนหรือไม่สนใจวิชา GenEd มาก่อน
จึงขอแชร์ประสบการณ์ตัวเองว่า การสอน GenEd มีข้อดีอะไรบ้างครับ
1. ได้ภาระงานสอนเพิ่มขึ้น
ขณะนี้หลายคณะ หลายสาขาในมหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบอย่างหนัก มีนิสิต นักศึกษามาเรียนน้อยลง เพราะเด็กเกิดน้อยลง
แม้แต่คณะวิศวกรรมศาสตร์ในบางสถาบันที่เคยดังสุด ๆ ก็มีนิสิตหายไปอย่างกับโดนธานอสดีดนิ้ว เช่น บางสาขาแทบไม่มีนิสิตอยากเรียน หรือมาเรียนน้อยมาก
อาจารย์อาจต้องแย่งกันสอนแล้ว เพราะภาระงานสอนเป็นส่วนสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการประเมินอาจารย์ ถ้าอาจารย์มีภาระงานสอนไม่พอ อาจประเมินไม่ผ่าน เช่น ต้องมีภาระงานสอนเทอมละ 2 วิชาเป็นอย่างน้อย
ผมเชื่อว่า อาจารย์ทุกคนน่าจะสอนวิชาบังคับในหลักสูตรอยู่แล้ว และอาจเปิดวิชาเลือกในระดับตรี โท เอก เพิ่มเติม แต่ต่อให้เปิดวิชาเลือกแล้ว ก็อาจมีนิสิตมาเรียนน้อยมาก เช่น 5 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่เหมาะสมในปริญญาโทหรือเอก แต่อาจน้อยเกินไปในระดับปริญญาตรี หรือแย่กว่านั้นคือไม่มีนิสิตมาลงทะเบียนเรียนเลย แล้วจะทำอย่างไรดี
วิธีหนึ่งที่ช่วยให้มีภาระงานสอนเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องแย่งกันสอนกับอาจารย์ภาคเดียวกันคือ ลองปรับเนื้อหาวิชาที่สอนอยู่แล้ว เป็นวิชา GenEd ที่นิสิตทุกคณะ ทุกชั้นปีมาเรียนได้
การเปิดวิชา GenEd ทำให้อาจารย์รับผู้เรียนทั้งมหาวิทยาลัยได้ แทบไม่ต้องห่วงว่า จะมีนิสิตมาเรียนหรือเปล่า เพราะนิสิตทุกคนต้องเรียนวิชา GenEd
การหานิสิตทั้งมหาวิทยาลัยมาเรียนวิชา GenEd 20 คนขึ้นไป ย่อมง่ายกว่าการหานิสิตภาควิชาตัวเอง 20 คนมาเรียนวิชาเลือกที่เปิดเฉพาะในภาคของเราเท่านั้น
อาจารย์ไม่จำเป็นต้องเปิดวิชา GenEd ทุกเทอมด้วย อาจเปิดเฉพาะเทอมที่มีภาระงานสอนน้อย เช่น อาจารย์มีภาระงานสอนครบ 2 วิชาในเทอมต้นแล้ว แต่เทอมปลายมีภาระงานสอนแค่วิชาเดียว ซึ่งน้อยเกินไป อาจารย์ก็เปิดสอน GenEd เฉพาะเทอมปลายก็ได้ครับ
แต่ถ้าอาจารย์ไฟแรงหรือเป็นวิชาที่นิสิตอยากเรียนมาก จะเปิดทุกเทอมก็ได้ เช่น ผมเปิดวิชา Innovative Thinking ทั้งเทอมต้นและเทอมปลาย เทอมละ 2 ตอนเรียน คือ เรียนวันพฤหัสเช้าและวันพฤหัสบ่าย เมื่อรวมกับวิชาบังคับที่ผมสอนอยู่แล้ว ทำให้ผมมีภาระงานสอนครบทั้ง 2 เทอมครับ
2. สอนวิชาที่อาจเปิดในหลักสูตรตัวเองไม่ได้
บางครั้งอาจารย์อาจสนใจบางเรื่องเป็นพิเศษ เป็นแฟนพันธุ์แท้ที่รู้ลึก รู้จริงในศาสตร์บางเรื่อง แต่ไม่ใช่ศาสตร์ที่ตรงกับสาขาตัวเอง
เช่น ผมสนใจเรื่องความคิดสร้างสรรค์ , ความจำ และ Mind Map มาก จึงเปิดสอนวิชา Creativity เป็นวิชาเลือกให้นิสิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ครั้งแรกในพ.ศ. 2546
แต่หลังจากที่เปิดสอนได้ 4–5 ปี ก็เริ่มได้ยินความเห็นทำนองว่า วิชา Creativity ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสตร์คอมพิวเตอร์เลย ซึ่งก็จริง เพราะผมไม่ได้สอนเนื้อหาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เลยแม้แต่น้อย
12 ปีที่แล้ว ผมจึงปิดวิชา Creativity และเปิดวิชาใหม่ชื่อ Innovative Thinking หรือการคิดเชิงนวัตกรรม เป็นวิชา GenEd ให้นิสิตจุฬาฯ ทุกคณะ ทุกชั้นปีเรียน
ดังนั้น ถ้าอาจารย์เคยเจอเหตุการณ์คล้าย ๆ ผมคือ สนใจหรือมี passion บางเรื่องมากเป็นพิเศษ แต่ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคณะหรือสาขาตัวเอง เปิดเป็นวิชาเลือกในคณะตัวเองไม่ได้ ก็ลองเปิดเป็นวิชา GenEd ที่ให้นิสิตทุกคนได้เรียน ซึ่งนำไปสู่ข้อ 3
3. รู้จักผู้เรียนมากขึ้น
เราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าว่า วิชา GenEd ที่สอนจะมีนิสิตคณะไหน ชั้นปีไหนมาเรียนบ้าง จะรู้ก็ต่อเมื่อนิสิตลงทะเบียนครบแล้ว ไม่เหมือนวิชาบังคับหรือวิชาเลือกในหลักสูตรที่เรามั่นใจว่า เป็นนิสิตภาควิชาของเรา
ข้อดีอย่างหนึ่งของการสอน GenEd คืออาจารย์ได้รู้จักนิสิตคณะต่าง ๆ มากขึ้น ได้ทราบทัศนคติ วิธีคิด วิธีทำงานของนิสิตคณะอื่น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการทำงานกับคนวงการอื่น
มีลูกศิษย์คณะต่าง ๆ หลายคนที่เคยเรียนวิชา Innovative Thinking กับผม และยังสนิทสนม ติดต่อกันจนถึงทุกวันนี้ ทั้ง ๆ ที่เรียนจบหลายปีแล้ว เช่น จิตวิทยา นิเทศ บัญชี ครุ วิทยา วิศว อักษร ศิลปกรรม
4. ได้ทดลองรูปแบบการสอนหรือเนื้อหาใหม่
เนื่องจาก GenEd เป็นวิชาที่อาจารย์เปิดสอนตามความสนใจของตัวเองหรือผู้เรียน จึงไม่ค่อยมีกรอบต่าง ๆ บังคับมากมายเหมือนวิชาบังคับในหลักสูตร
การสอน GenEd ทำให้ผมทดลองเนื้อหาการสอน กิจกรรม หรือรูปแบบการสอนใหม่ ๆ อย่างง่ายดายและสะดวกมาก เช่น แต่ละเทอม ผมจะเพิ่มเนื้อหาหรือกิจกรรมใหม่ ๆ แล้วทดสอบว่า ผู้เรียนมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเนื้อหานั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง COVID-19 ทำให้การสอนในห้องทั้งหมดกลายเป็นออนไลน์ ช่วงแรก ๆ ผมก็ลำบากมาก เพราะวิชา Innovative Thinking เน้นการทำเวิร์คชอปในห้องเรียนอย่างมาก
เมื่อปรับการสอนเป็นออนไลน์ ทำให้ผมต้องตัดเนื้อหาหลายเรื่องที่เคยสอนในห้องเรียน และเพิ่มเนื้อหาใหม่ที่เหมาะกับการสอนออนไลน์ ซึ่งทำได้เร็ว เพราะผมเป็นหัวหน้าวิชา สอนคนเดียว และไม่ต้องปรับหลักสูตรอะไรทั้งสิ้น
เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก จนเป็นยุคสับสนอลหม่านแล้ว การสอนเนื้อหาที่ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงอาจเหมาะกับการสอนในวิชา GenEd ซึ่งปรับเนื้อหาตามผู้เรียนและสถานการณ์
แต่อาจารย์สอน GenEd ก็ต้องปรับเนื้อหาอย่างรวดเร็วเช่นกัน ควรเป็นคนที่ active ตื่นตัวด้านการสอน เพราะเมื่อคนเรียนเปลี่ยน ผู้สอนก็ควรปรับเปลี่ยน ยืดหยุ่นมากขึ้น
5. ได้เนื้อหาการสอนซึ่งนำไปใช้อย่างอื่นได้
สิ่งสำคัญของการสอน GenEd คือ การสอนความรู้หรือทักษะให้นิสิตคณะอื่นเข้าใจและรู้เรื่อง ซึ่งพวกเขาไม่มีความรู้พื้นฐานในศาสตร์นั้นมาก่อน
ดังนั้น อาจารย์สอน GenEd จะต้องหาวิธีการสอน ปรับเนื้อหา ให้เหมาะสมกับผู้เรียนทุกคณะ โดยไม่ assume หรือไม่มโนว่า ผู้เรียนต้องมีความรู้พื้นฐานมาก่อน
การที่อาจารย์สอนเนื้อหาที่ทุกคนเข้าใจได้ ก็มีข้อดีคือ อาจารย์นำเนื้อหานั้นไปสอนบุคคลอื่นได้อีก เช่น
- จัดอบรมเรื่องนั้นให้ประชาชนทั่วไป เพราะยุคนี้ การ upskill หรือ reskill กลายเป็นเรื่องจำเป็นแล้ว
- นำเนื้อหา GenEd ไปสอนเป็นคอร์สออนไลน์หรือ MOOC ก็ได้ เพราะ MOOC คือคอร์สออนไลน์ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เรียน
ผมนำเนื้อหาจากวิชา Innovative Thinking ไปทำคอร์สออนไลน์ของจุฬาฯ ชื่อ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์
อาจารย์บางคนก็นำเนื้อหา GenEd ไปแปลงเป็นรูปแบบอื่น เช่น พูดใน Clubhouse , ทำพอดแคสต์ , ทำคอร์สออนไลน์ขาย , ทำวิจัยด้านการสอนในห้องเรียน , สร้างนวัตกรรม , ทำแอป , เขียนหนังสือ และอื่น ๆ อีกมาก
หลังจากที่ผมสอนวิชา Innovative Thinking หลายปี ก็มีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เชิญผมไปบรรยายเรื่อง เทคนิคการสอนเพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ หรือ Innovative Teaching ให้อาจารย์สถาบันนั้น ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการสอน GenEd
แต่สิ่งที่ผมภูมิใจที่สุดคือ การได้รับเชิญเป็น keynote speaker ในงานประชุมวิชาการ ซึ่งเกิดจากการสอนวิชา Innovative Thinking นั่นเอง
การสอน GenEd จะช่วยเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้อาจารย์อย่างนึกไม่ถึงครับ
การสอน GenEd ไม่ได้เหมาะกับอาจารย์ทุกคน
ถึงแม้ว่าบทความนี้เชียร์อาจารย์มหาลัยให้เปิดสอน GenEd แต่ไม่ได้แปลว่า อาจารย์มหาลัยทุกคนต้องสอน GenEd ครับ
ก่อนเปิดสอน GenEd ลองถามตัวเองก่อนว่า
- ชอบสอนหรือไม่
GenEd ก็คือวิชาหนึ่งที่ต้องมีการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นการสอนในห้อง สอนออนไลน์หรือสอนผสมผสาน
ถ้าอาจารย์ไม่ชอบสอนอยู่แล้ว แค่สอนวิชาบังคับหรือวิชาเลือกในสาขาตัวเอง ก็กล้ำกลืนฝืนทน หรือชอบทำวิจัย เขียนบทความวิชาการ ชอบงานด้านบริหารมากกว่าการสอน ก็ควรทำงานที่ตัวเองถนัดหรืองานที่ตัวเองชอบมากกว่า
2. มีภาระงานสอนมากหรือไม่
ถ้าอาจารย์มีภาระงานสอนมากอยู่แล้ว เช่น สอนวิชาบังคับ 3–4 วิชาในแต่ละเทอม คงไม่จำเป็นต้องเปิด GenEd เพื่อหาภาระงานเพิ่มแล้วครับ
แต่ถ้าอาจารย์อยากเปิด GenEd มาก เพราะมี passion ในวิชานั้นหรือมีความฝันยิ่งใหญ่ที่อยากสอนนิสิตคณะอื่นบ้าง อาจลองเปิดเป็นหลักสูตรสั้น ๆ เพื่อทดลองก่อน เช่น จุฬาฯ มีโครงการ CUVIP ที่เปิดให้ทุกคนมาสอนและมาเรียนได้ ใช้เวลาเรียนทาง Zoom แค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น
การสอนหลักสูตรสั้น ๆ มีข้อดีคือ ไม่เสียเวลามากเหมือนการสอนวิชาทั้งเทอม และยังได้ทดสอบเนื้อหาด้วยว่า คนอื่นสนใจอยากเรียนเรื่องนี้หรือไม่
เชิญอ่านบทความเกี่ยวกับ CUVIP ได้ที่ CUVIP : คอร์สพิเศษเพื่อชาวจุฬาฯ
3. ผู้บริหารสนับสนุนหรือไม่
ต่อให้อาจารย์ผ่านข้อ 1 ข้อ 2 แล้ว ก็อาจจอดเมื่อเจอข้อนี้คือ ผู้บริหาร เช่น หัวหน้าภาควิชา คณบดี หน่วยงานไม่สนับสนุน
ผมโชคดีมากที่จุฬาฯ สนับสนุนการเปิดสอน GenEd อย่างมาก แต่ไม่ทราบว่าสถาบันการศึกษาแห่งอื่นเป็นอย่างไร
ผมเคยได้ยินว่า ผู้บริหารบางคนไม่สนับสนุนให้อาจารย์ตัวเองสอน GenEd เพราะมองว่า GenEd เป็นวิชากระจอก เป็นวิชาพื้น ๆ ที่เปิดให้ทุกคนเรียน ไม่ใช่วิชาเฉพาะด้าน
ถ้าอาจารย์คนไหนเจอผู้บริหารที่มีทัศนคติแบบนี้ คงต้องออกแรงมากขึ้นครับ ขอให้นึกถึงน้องเทนนิสว่า ยังชนะเหรียญทองโอลิมปิกได้เลย !
การสอนวิชา GenEd หรือ Innovative Thinking คือการตัดสินใจดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตการเป็นอาจารย์ของผมครับ
หวังว่า บทความนี้จุดประกายอาจารย์ที่ไม่เคยคิดเรื่องการสอน GenEd มาก่อน ลองคิดเนื้อหาหรือวิชา GenEd ที่เปิดสอนให้นิสิต นักศึกษา
การเปิดวิชาใหม่ไม่ว่าจะเป็นวิชาบังคับ วิชาเลือก หรือวิชา GenEd ต้องใช้เวลาเตรียมตัวอย่างน้อย 1 เทอม
ถ้าอาจารย์อยากสอน GenEd แล้วล่ะก็ อย่าปล่อยให้แรงบันดาลใจหายไปกับสายลม
วางแผนการสอน GenEd ตั้งแต่วันนี้เลยครับ
บทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิชา Innovative Thinking
การคัดเลือกนิสิตที่แย่งกันเรียนในวิชา Innovative Thinking
วิธีจัดกลุ่มผู้เรียนในมหาวิทยาลัย
ฝึก Design Thinking ด้วยการสร้างอุปกรณ์ให้ผู้วิเศษ
การสอนออนไลน์ของวิชาเลือกจุฬาฯ Innovative Thinking ในช่วง COVID-19
ถ้าคุณเป็นนักอ่านหรือผู้ชอบการเรียนรู้ เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ออกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือนเพื่อแนะนำเรื่องน่าสนใจ เช่น บทความ หนังสือ เว็บไซต์ แอป วิดีโอ คอร์สออนไลน์ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่