เรียนรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์เพิ่มเติมจากที่ไหน
วิธีหาแหล่งเรียนรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมโดยไม่ต้องออกจากบ้าน
“อาจารย์ครับ อาจารย์หาแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์จากที่ไหนบ้างครับ”
คำถามข้างบนมาจากผู้เรียนคนหนึ่งในหลักสูตร “CUVIP ปลดล็อคพลังความคิดสร้างสรรค์” ที่ผมเพิ่งสอนในวันพุธที่ 12 มิถุนายน 2562
ผมตอบไป 2 – 3 ข้อ แต่คำถามนี้ก็ยังวนเวียนในจิตใจ เพราะตั้งแต่ผมสอนหลักสูตรด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมมา 16 ปี ยังไม่เคยมีใครถามผมเรื่องนี้ และผมคิดว่า น่าจะมีคนอื่นอยากรู้เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
เนื่องจากผมสอนหลักสูตรด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม จึงต้องหาข้อมูล เรียนรู้เครื่องมือ เทคนิค สื่อการสอนใหม่ๆ เพื่อให้เนื้อหาทันสมัยหรือแตกต่างจากคนอื่น
ผมจึงขอเล่าเทคนิคส่วนตัวบางอย่างของผมที่ใช้หาความรู้เพิ่มเติมเรื่องความคิดสร้างสรรค์ครับ
1. หาหนังสือในคินเดิล
ทุกครั้งที่ผมสอนเรื่องนวัตกรรม ผมจะยกตัวอย่างเครื่องคินเดิล ซึ่งเป็นเครื่องอ่านอีบุ๊คของ Amazon และเป็นอุปกรณ์ที่ผมพกติดตัวเป็นประจำ เพราะใส่หนังสืออีบุ๊คได้เป็นพันเล่ม
หนอนหนังสืออย่างผมจึงชอบคินเดิลมาก เรียกได้ว่า เป็นนวัตกรรมในฝันของผม เพราะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นเยอะ ไม่ต้องห่วงเรื่องการถือหนังสือหนักๆ หรือหาที่เก็บหนังสืออีกต่อไป
ในเวลาว่าง ผมจึงชอบค้นหาหนังสือในร้านหนังสือของ Amazon ว่า มีหนังสือใหม่ๆ อะไรบ้างเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม ธุรกิจ หรือการพัฒนาตนเอง
ถ้าเจอหนังสือที่น่าสนใจ ผมก็ดาวน์โหลดตัวอย่างหนังสือมาอ่านในคินเดิลก่อน ถ้าผมอ่านตัวอย่างหนังสือแล้วชอบ ก็ซื้อมาอ่านในคินเดิลเลย เพราะอีบุ๊คในคินเดิลราคาถูกกว่าหนังสือจริง บางเล่มก็ลดราคามาก เหลือ 0.99 ดอลล่าร์ ซึ่งเป็นราคาถูกที่สุด หรือแจกฟรีในบางครั้ง
คินเดิลยังช่วยแนะนำหนังสืออื่นๆ ที่มีเนื้อหาคล้ายๆ กับเล่มที่เราอ่าน หรือเป็นหนังสือที่ลูกค้าคนอื่นซื้อมาอ่าน
คินเดิลทำให้ผมเจอหนังสือใหม่ๆ หลายเล่ม หรือบางเล่มเก่าแล้ว แต่น่าสนใจ เป็นหนังสือที่ผมไม่รู้จักมาก่อน ทำให้ได้เนื้อหาแปลกๆ หรือน่าสนใจที่อาจไปใช้ในการสอนได้
เช่น เล่มนี้คือหนังสือคินเดิลที่ผมพบโดยบังเอิญระหว่างหาหนังสือไปเริ่อยๆ และไม่ใช่หนังสือใหม่ล่าสุด แต่รวบรวมกิจกรรมมากมายที่ใช้ประกอบการสอนวิชาด้านธุรกิจหรือนวัตกรรมครับ
2. อ่านและเขียนบทความใน Medium
แอปตัวหนึ่งที่ผมใช้ทุกวันคือ Medium ซึ่งเป็นแอปหรือเว็บไซต์ที่ผมเขียนบทความ
นอกจากเขียนบทความแล้ว ผมยังอ่านบทความใน Medium เป็นประจำด้วย โดยเลือกหัวข้อที่สนใจ เช่น creativity , self development , writing , A.I. , innovation
Medium จะแสดงบทความที่เราสนใจให้ในแอปหรือส่งทางอีเมล์ให้อ่านเป็นประจำ ซึ่งมีผู้เขียนบทความแนวต่างๆ ใน Medium จำนวนมาก และมีเนื้อหาทันสมัยมาก
ตัวอย่างนักเขียนบทความใน Medium ที่ผมติดตามเป็นประจำ เช่น คุณ Nicolas Cole ซึ่งเขียนบทความเกี่ยวกับเทคนิคการเขียนเนื้อหาต่างๆ ในออนไลน์ ซึ่งผมได้นำเทคนิคที่คุณ Cole แนะนำมาใช้ในการเขียนบทความของผมครับ
คนไทยยังเขียนบทความใน Medium ค่อนข้างน้อย ผมจึงเชียร์ให้มาเขียนบทความใน Medium กันเยอะๆ ครับ เพราะเขียนฟรี อ่านฟรี
การเขียนเป็นเทคนิคการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการเปลี่ยนไอเดียในหัวให้เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ และฝึกทักษะหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ในการทำงาน
3. สมัคร Mailing List ที่น่าสนใจ
มี mailing list น่าสนใจจำนวนมากที่ส่งข่าวสารน่าสนใจมาให้เราอ่านทางอีเมล์เป็นประจำ เช่น ด้านการพัฒนาตนเอง , ไอที , นวัตกรรม , ความคิดสร้างสรรค์
ตัวอย่าง mailing list ที่ผมสมัครเช่น 5- bullet Friday ของนักเขียนดังชื่อ Tim Ferris
Tim Ferris เป็นนักเขียนหนังสือดังด้านการพัฒนาตนเองหลายเล่ม เช่น The 4-hour Workweek , Tools of Titans , Tribes of Mentors ซึ่งผมซื้อหนังสือของคุณ Ferris อ่านในคินเดิลหลายเล่ม
นอกจากการเขียนหนังสือแล้ว คุณ Ferris ยังมี mailing list ชื่อ 5-bullet Friday ที่ส่งเรื่องน่าสนใจห้าเรื่องมาให้อ่านทางอีเมล์ทุกวันศุกร์ เช่น บทความ , หนังสือ , แอป , ข่าวสาร
5- bullet Friday ทำให้ผมรู้จักบทความหนึ่งที่คุณ Ferris แนะนำ จนผมสนใจและนำมาแปลเผยแพร่ใน Medium จนกลายเป็นบทความของผมที่มีผู้อ่านมากที่สุดตั้งแต่เขียนใน Medium คือ “บทเรียน 10 ข้อจากคนอายุเกือบ 50 ที่หัดเขียนโปรแกรมด้วยตนเอง”
นักเขียนส่วนใหญ่มี mailing list ที่ให้ผู้อ่านติดตาม ถ้าเราชอบผลงานเขียนของใคร ก็ลองค้นหาว่า นักเขียนคนนั้นมี mailing list หรือไม่ แล้วสมัครติดตามครับ
ตัวอย่างเช่น ผมสมัคร mailing list ของนักเขียนชื่อ Ryan Holiday ซึ่งแนะนำหนังสือน่าสนใจทุกเดือน
คุณ Holiday เพิ่งแนะนำหนังสือใหม่ล่าสุดชื่อ “Range: Why Generalists Triumph in a Specialized World” ทำให้ผมซื้ออ่านในคินเดิลทันที
หนังสือ Range ทำให้ผมได้เนื้อหาใหม่ล่าสุดที่ยังไม่เคยสอนมาก่อน มาเล่าในหลักสูตร “CUVIP ปลดล็อคพลังความคิดสร้างสรรค์” และเกิดไอเดียคิดเนื้อหาและกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม
ผมจะเขียนบทความเล่าเนื้อหาน่าสนใจจากหนังสือ Range เร็วๆ นี้ โปรดติดตามครับ
ตัวอย่าง mailing list อื่นๆ ที่ผมติดตาม เช่น WIRED Magazine , O’Reiily ซึ่งเน้นเรื่องข่าวสารด้านเทคโนโลยี
4. ชม TED Talk
ผู้สนใจเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ควรหาโอกาสชม TED Talk บ่อยๆ เพราะมีการบรรยายเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมมากมาย
ขณะนี้มีการจัดงาน TEDx ในไทยหลายครั้ง ถ้ามีเวลา ก็ควรไปชม TEDx สดๆ ด้วยครับ เพราะจะได้ประสบการณ์พิเศษที่ต่างจากการชมวิดีโออย่างเดียว
ตัวอย่างวิดีโอ TED Talk ที่ผมเปิดให้นิสิตชม เช่น “A 50-cent microscope that folds like origami” ซึ่งใช้ความคิดสร้างสรรค์เปลี่ยนกล้องจุลทรรศน์เป็นกระดาษพับ เรียกได้ว่า เป็นนวัตกรรมของกล้องจุลทรรศน์ที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง แต่มีประโยชน์ในวงการศึกษามาก
5. ใช้ความชอบส่วนตัว
ถ้าความรู้หรือเทคนิคเปรียบเหมือนกระบวนท่าที่จอมยุทธใช้ต่อสู้ในนิยายกำลังภายใน
ความชอบก็เปรียบเหมือนกำลังภายในของจอมยุทธแต่ละคน แต่ละคนมีความชอบที่ต่างกัน ลอกเลียนแบบกันไม่ได้
ผมชอบอ่านนิยายกำลังภายในมาก แต่ไม่เคยคิดว่า จะใช้นิยายกำลังภายในสอนเรื่องความคิดสร้างสรรค์
จนกระทั่งผมอ่านหนังสือ Range เรื่องการแก้ปัญหาด้วยเทคนิคอุปมาอุปไมย ผมจึงนึกถึงฉากหนึ่งในหนังทีวี มังกรหยก จึงเปิดให้ชมในห้องเรียน
ฉากนี้เป็นช่วงท้ายเรื่องที่ก๊วยเจ๋งยกทัพมองโกลไปตีเมืองสมาร์คานต์ แต่ยังบุกเมืองไม่ได้ถึงแม้ว่ามีตำราพิชัยสงครามของงักฮุย จนกระทั่งอึ้งย้งสังเกตวิธีที่อาวเอี้ยงฮงใช้หลบหนี จึงคิดอุบายที่คล้ายคลึงกันในการโจมตีเมือง
อุบายที่อึ้งย้งคิดได้จึงตรงหลักการอุปมาอุปไมยที่หนังสือ Range อธิบาย
ดังนั้น ถ้าผู้อ่านชอบเรื่องอะไร เรื่องนั้นอาจเป็นแหล่งกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเราได้ครับ
บทความนี้เล่าแค่เทคนิคบางอย่างที่ผมใช้ในการหาความรู้เพิ่มเติมด้านความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังมีเทคนิคอื่นๆ อีกมาก เช่น การคุยกับคนอื่น , การฟังสัมมนา , การลองทำสิ่งใหม่ๆ หรือกิจกรรมที่ยังไม่เคยทำ
แค่การคุยกับคนอื่น ก็กระตุ้นไอเดียได้ เหมือนที่ผมได้ไอเดียของบทความนี้จากคำถามของผู้เรียน บทความหลายเรื่องของผมใน Medium เกิดจากการคุยหรือมีคนอื่นมาถามผม
เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่