เครื่องมือสอนออนไลน์ของผมในช่วง COVID-19

ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ผมใช้ทำคอร์สออนไลน์สอนนิสิตจุฬาฯ ในช่วง COVID-19

Photo by bongkarn thanyakij from Pexels

จุฬาฯ ประกาศให้แต่ละวิชาปรับรูปแบบการสอนเป็นออนไลน์ได้ประมาณกลางเดือนมีนาคม 2563

ผมจึงต้องปรับการสอนใน 2 วิชาที่ผมสอนในเทอมนี้คือ Computer Networking (เครือข่ายคอมพิวเตอร์) ซึ่งเป็นวิชาบังคับของนิสิตปี 3 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และวิชา Innovative Thinking (การคิดเชิงนวัตกรรม) ซึ่งเป็นวิชาเลือกหมวดการศึกษาทั่วไปหรือ General Education ที่นิสิตจุฬาฯ ทุกคณะ ทุกชั้นปี เรียนได้

ทั้ง 2 วิชามีรูปแบบการสอนออนไลน์เหมือนกันคือ ทำวิดีโอคลิปให้นิสิตชม ไม่มีการสอนสด

กล่าวคือ ไม่ใช้ Zoom , Teams , Facebook Live หรือระบบ video conference ใดๆ ทั้งสิ้น

บทความนี้จะเล่าวิธีการเตรียมวิดีโอการสอนของผมว่า ใช้อุปกรณ์อะไรบ้างครับ

1. Camtasia 2018

โปรแกรมที่ผมใช้สร้างวิดีโอการสอนคือ Techsmith Camtasia 2018 ซึ่งเป็นโปรแกรมบันทึกหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ได้รับความนิยมมากตัวหนึ่ง

ผมซื้อ Camtasia มาหลายปีแล้ว เพราะเคยใช้ทำวิดีโอการสอนหลายปีก่อน และใช้เตรียมเนื้อหาคอร์ส Chula MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์ ที่ผมสอน

Camtasia เป็นโปรแกรมที่มีความสามารถมาก ทำวิดีโอบันทึกหน้าจอและมีความสามารถต่างๆ มากมาย

  • การใส่ effect ต่างๆ ในวิดีโอ เช่น Annotation , ซูมเข้า ซูมออก
  • การตัดต่อเสียงได้หลายรูปแบบ เช่น ตัด white noise , เพิ่มหรือลดระดับเสียง
  • การตัดต่อวิดีโอ การรวมวิดีโอหลายๆ คลิป การใช้ green screen

Camtasia ใช้งานไม่ยาก และใช้ได้ทั้งบนวินโดวส์และแมค แต่เนื่องจากมีความสามารถมาก จึงต้องใช้เวลาเรียนรู้พอสมควร จึงจะใช้ความสามารถได้ทั้งหมด

ผู้สอนคอร์สออนไลน์จำนวนมากใน Udemy ใช้โปรแกรม Camtasia ทำวิดีโอ และคลิปสอนการใช้งาน Camtasia มากมายใน Youtube ดังนั้น ผู้สนใจสามารถเรียนรู้การใช้งาน Camtasia ได้ด้วยตนเองครับ

ข้อจำกัดของ Camtasia คือ ไม่ใช่โปรแกรมฟรี ต้องซื้อ แต่ทดลองใช้งานได้ฟรี 30 วันก่อน ผู้อ่านที่สนใจ ดาวน์โหลดได้ที่ https://www.techsmith.com/video-editor.html

2. ไมโครโฟน Samson Go Mic

คุณภาพของเสียงเป็นเรื่องสำคัญมากในวิดีโอคลิปการสอน ถึงแม้ว่าโน๊ตบุ๊คมีไมโครโฟนในตัวก็ตาม แต่เมื่อลองอัดเสียงด้วยไมโครโฟนของเครื่อง คุณภาพก็ไม่ค่อยประทับใจเท่าไร

ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาฯ จึงสั่งซื้อไมโครโฟน Samson Go Mic ซึ่งเป็นไมโครโฟนขนาดเล็กที่เสียบเข้าพอร์ต USB ของโน๊ตบุ๊ค แจกอาจารย์ภาควิชาทุกคนครับ

ข้อดีของ Samson Go Mic คือ ขนาดเล็ก พกพาสะดวก ใช้งานง่ายมาก เพราะแค่เสียบพอร์ต USB เท่านั้น ใช้ได้ทั้งวินโดวส์และเครื่องแมค มีที่หนีบกับส่วนบนของโน๊ตบุ๊คได้ ราคาแค่พันกว่าบาทเองครับ และที่สำคัญที่สุดคือ มีคุณภาพเสียงดีกว่าการใช้ไมโครโฟนของโน๊ตบุ๊คอย่างเห็นได้ชัดเจน

3. myCourseVille

หลังจากที่ทำวิดีโอคลิปการสอนเสร็จแล้ว เราต้องเผยแพร่วิดีโอการสอนเพื่อให้นิสิตชมได้

แน่นอนว่า วิธีง่ายที่สุดคือ นำวิดีโอการสอนของเราขึ้นยูทูบ ซึ่งทำให้ทุกคนชมได้สะดวก

แต่ถ้าอาจารย์ไม่อยากนำวิดีโอการสอนของตนเองขึ้นยูทูบล่ะ เพราะอยากให้นิสิตชมเท่านั้น ไม่ต้องการเผยแพร่ให้ชมได้ทั่วไป เราจะนำวิดีโอการสอนไปไว้ที่ไหน

จุฬาฯ มีระบบ Learning Management System (LMS) ที่รศ.ดร.อติวงศ์ สุชาโต จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และทีมงานพัฒนามาหลายปีแล้วชื่อ myCourseVille

myCourseVille เป็นระบบที่ช่วยในการเรียน การสอน ซึ่งมีความสามารถมากมาย เช่น การประกาศข่าวสาร , การเช็คชื่อ , การใส่บทเรียนการสอน , การส่งการบ้าน รวมทั้งการสร้าง playlist เพื่อใส่วิดีโอบทเรียน

อาจารย์หลายคณะในจุฬาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จะใช้ myCourseVille ในการช่วยจัดการเรียน การสอน

ดังนั้น วิชา Computer Network และวิชา Innovative Thinking จึงนำวิดีโอบทเรียนขึ้น myCourseVille เพื่อให้นิสิตชมวิดีโอบทเรียนนั่นเองครับ

playlist ของ myCourseVille ยังบอกได้ด้วยว่า นิสิตคนไหนชมวิดีโอบทเรียนมากน้อยเพียงใด หรือใครบ้างที่ไม่ได้ชมวิดีโอบทเรียนเลย

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
ธงชัย โรจน์กังสดาล

Written by ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์

No responses yet