อย่างนี้สิ Active Learning !
เทคนิคต่างๆ ของการสอนแบบ Active learning
ครู อาจารย์ วิทยากรจะได้ยินคำว่าการเรียนการสอนแบบ Active Learning บ่อยขึ้นเรื่อยๆ
ผมได้ยินและได้อ่านบ่อยๆ ว่าการเรียนการสอนในยุคนี้ต้องเปลี่ยนแล้ว จะสอนแบบเดิมๆ เน้นเลคเชอร์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะผู้เรียนเปลี่ยนไป
แต่ Active Learning คือการสอนแบบไหนล่ะครับ
ผมได้เข้าเวิร์คชอปเรื่อง Active Learning ในวันพุธที่ 6 มกราคม 2563 เวลา 14.00–16.00 น. ซึ่งจุฬาฯ เพิ่งเปิดเทอมหมาดๆ ที่ห้อง 309 ตึกแถบ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอเล่าว่า Active Learning ที่ผมได้เรียนรู้ในเวิร์คชอปนี้เป็นอย่างไรครับ
แนะนำวิทยากร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมฤดี จิตประไพ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้ประสานงานอบรมครั้งนี้ ได้แนะนำวิทยากร 2 คนคือ คุณ Patty Parnell และคุณ Scott Perry ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของโรงเรียนในรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา และมีประสบการณ์ในการสอนแบบ Active Learning รวมกันหลายสิบปี
วิทยากรทั้งสองท่านได้แนะนำตัว เล่าประวัติคร่าวๆ และถามผู้เข้าอบรมว่า เป็นอาจารย์หรือนิสิต ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เข้าอบรมเป็นอาจารย์จากคณะต่างๆ เช่น วิทยา , วิศว , บัญชี , อักษร
เหตุผลที่นิสิตปริญญาโทหรือปริญญาเอกมาเข้าเวิร์คชอปนี้ คือ จะได้คุ้นเคยและเข้าใจการเรียนการสอนแบบ Active learning ไม่ตกใจเวลาที่เจอของจริง
เหตุผลที่ควรสอนแบบ Active Learning
วิทยากรบอกว่า มีเหตุผล 2 ข้อของการสอนแบบ Active learning
- สถานที่ทำงานต้องการคนทำงานที่มีทักษะใหม่ๆ และแก้ปัญหาในที่ทำงานได้ ซึ่ง Active learning ช่วยพัฒนาผู้เรียนในแง่นี้ได้
- ช่วยการเรียนรู้ (improve learning) จากคำพูดที่ว่า
“Tell me and I forget , show me and I remember , involve me and I understand”
วิทยากรเล่าตัวอย่าง Active learning ในชีวิตจริงคือ การเรียนทำก๋วยเตี๋ยวผัดไทย
ระหว่างการจำเมนูของผัดไทย กับการลงมือทำผัดไทย และทานผัดไทยของตัวเอง วิธีใดให้ผลลัพธ์ดีกว่า
แน่นอนว่า การได้ลงมือทำผัดไทยด้วยตนเองจริงๆ เป็นการเรียนรู้ที่ดีกว่าจำสูตรผัดไทยเฉยๆ ซึ่งวิทยากรได้ไปเรียนการทำผัดไทยมาจริงๆ และโชว์รูปให้พวกเราดูครับ
เทคนิค Active Learning แบบต่างๆ
วิทยากรได้แนะนำเทคนิค Active learning แบบต่างๆ ให้พวกเราได้ทดลองทำ ซึ่งสรุปได้เป็น 6 วิธีตามรูปข้างล่างครับ
1. Think Pair Share
กิจกรรมแรกคือ แบ่งกลุ่มละ 4–5 คน จากนั้นสมาชิกในกลุ่มช่วยกันระดมสมองเขียนตัวอย่างของการสอนแบบ Active learning กับ non-examples หรือตัวอย่างที่ไม่ใช่ Active Learning
จากนั้น ก็ขอให้แต่ละกลุ่มยกตัวอย่างทั้งสองแบบให้ทุกคนในห้องฟัง
ตัวอย่าง Active learning เช่น การใช้กิจกรรม , เกม , ถาม-ตอบ , การแก้ปัญหาจริงๆ , การทำโครงงาน
ตัวอย่างที่ไม่ใช่ Active learning เช่น การเปิดวิดีโอคลิปให้ดูอย่างเดียว , การอ่านสไลด์ให้ฟัง
คุณ Perry เล่าตัวอย่างให้ฟังว่า สมัยที่ตัวเองเรียน เคยมีครูที่เวลาเข้าห้องเรียน ก็จะบอกให้นักเรียนอ่านหนังสืออย่างเดียว ซึ่งนี่ไม่ใช่ active learning
ในที่สุด วิทยากรก็เฉลยว่า กิจกรรมที่ให้พวกเราทำคือ เทคนิค active learning ที่เรียกว่า think-pair-share นั่นเอง เป็นการช่วยกันคิด ช่วยกันแชร์
2. I Do It , We Do It , You Do It
เทคนิคนี้เป็นการที่ครู อาจารย์แสดงตัวอย่างให้ผู้เรียนดู แล้วให้ผู้เรียนทำตาม
คุณ Parnell เปิดภาพลวงตาแบบต่างๆ ให้เราดู แล้วให้พวกเราค้นหาว่ามีรูปอะไรซ่อนในรูปเหล่านั้น
จากนั้นวิทยากรก็ขออาสาสมัครในห้องที่มาช่วยแชร์ว่า ใครเคยใช้วิธีนี้บ้าง ผมจึงแชร์ว่า ผมใช้เทคนิคนี้ในการสอนโยนบอล 3 ลูกหรือ juggling โดยโยนเริ่มจากโยนบอล 1 ลูกก่อน แล้วให้ผู้เรียนทำตาม เมื่อคล่องแล้ว ก็สาธิตการโยนบอลสลับมือ 2 ลูก โดยให้ผู้เรียนทำตาม และขั้นสุดท้ายคือ การโยนบอล 3 ลูกหรือ juggling
3. Active Listening
ตอนแรกที่ได้ยิน ผมก็แปลกใจว่า การฟังเป็นกิจกรรมใน active learning ด้วยหรือ แต่วิทยากรบอกว่า ทักษะด้านการฟังเป็นเรื่องสำคัญ และนำมาใช้ใน active learning ได้
วิทยากรขอให้พวกเราช่วยกันเสนอไอเดียว่า พฤติกรรมของคนที่ตั้งใจฟังผู้อื่นเป็นอย่างไร ซึ่งคำตอบที่ได้ เช่น
- พยักหน้า
- สบสายตา
- ทวนคำพูด
- ถามเวลาที่ไม่เข้าใจ
จากนั้น วิทยากรก็บอกให้พวกเราจับคู่ แล้วผลัดกันเล่าว่า อาชีพของตนเองจะช่วยทำให้โลกดีขึ้นได้อย่างไร โดยเล่าคนละ 2 นาที และตั้งใจฟังเรื่องเล่าของอีกฝ่าย
ผมได้จับคู่กับอาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ ซึ่งอาจารย์สอนภาควิชาบรรณารักษ์ศาสตร์ ก็ได้เล่าความสำคัญของจดหมายเหตุ ซึ่งผมถามอาจารย์กลับว่า จดหมายเหตุในภาษาอังกฤษเรียกว่าอะไร คำตอบคือ archive ครับ
จากนั้น วิทยากรก็ขอให้พวกเราช่วยกันแชร์ความรู้สึกหรือประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำ active listening ซึ่งทุกคนตอบว่า เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เพราะรู้สึกว่า มีคนตั้งใจฟังเราจริงๆ
วิทยากรบอกว่า บางครั้งเวลาที่อาจารย์สอนแบบ active learning อาจมีผู้เรียนไม่สนใจ เช่น เล่นมือถือ (ซึ่งที่จริงแล้ว ถูกมือถือเล่น ) หรือไม่มีส่วนร่วมในการเรียน ก็บอกผู้เรียนให้ตั้งใจฟังหรือลองทำกิจกรรมเกี่ยวกับการฟังก่อน
4. Exit Tickets
กิจกรรมสุดท้ายของเวิร์คชอป Active Learning Strategies คือ Exit Tickets
ผมเคยได้ยินเทคนิค Exit Tickets แต่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ด้วยตัวเอง และไม่เคยใช้ในห้องเรียนมาก่อน
Exit Ticket คือการที่ผู้เรียนเขียนบางอย่างบนกระดาษแล้วยื่นให้อาจารย์ก่อนออกจากห้องเรียน เช่น ความเห็น ข้อเสนอแนะ คำถาม ข้อสงสัย
วิทยากรทั้งสองท่านให้เราเขียนแบบประเมินการสอน และเขียนสิ่งที่ต้องการจะนำไปใช้บนกระดาษโพสต์-อิท จากนั้นยื่นให้วิทยากรก่อนออกจากห้อง นี่เป็น Exit Tickets ของเวิร์คชอปวันนี้นั่นเอง
ผมเขียนในกระดาษโพสต์-อิทที่เป็น Exit Tickets ของผมว่า เทคนิคที่ผมสนใจและอยากนำไปใช้ในห้องเรียนคือ Active Listening เพราะยังไม่เคยใช้กิจกรรมนี้มาก่อนครับ
บอกกติกาของ Active Learning ให้ผู้เรียนทราบก่อน
บางครั้ง การทำ active learning ก็ทำให้ผู้เรียนสนุกหรืออินกับกิจกรรมมาก เช่น คุย แลกเปลี่ยนความเห็นอย่างสนุกสนาน จนไม่ได้สนใจครู
ดังนั้น วิทยากรจึงบอกพวกเราว่า ควรมีกติกาที่ชัดเจนใน active learning หรือ attention signal เพื่อให้ผู้เรียนหันกลับมาสนใจครู อาจารย์
เช่น ครูยกมือ แล้วขอให้ทุกคนหยุดพูด หรือครูบอกว่า “ถ้าใครได้ยินผมพูด ขอให้ช่วยยกมือด้วย” เพื่อให้ทุกคนหยุดพูด แล้วฟังครูต่อไป
แต่เทคนิคที่ผมใช้คือ มีระฆังเล็กๆ ที่ตีแล้วมีเสียงกังวาน ก็ทำให้ผู้เรียนหันกลับมาฟังผมอีกครั้งครับ
นี่เป็นเวิร์คชอปที่สนุกสนานและได้เทคนิคการสอนใหม่ๆ มากมายภายในเวลาแค่ 2 ชั่วโมง
ผู้อ่านบทความนี้ที่เป็นครู อาจารย์ อาจลองเลือกเทคนิค Active learning ในบทความนี้ไปปรับใช้ครับ
เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่