สรุปเวิร์คชอปเรื่อง Navigating Ambiguity จากทีมอาจารย์ Stanford d.school
กิจกรรมต่าง ๆ ในการรับมืออนาคตที่ผันผวนจาก Stanford d.school
ผมไปร่วมเวิร์คชอปเรื่อง Navigating Ambiguity จากทีมวิทยากรของ Stanford d.school ในวันอังคารที่ 13 ธันวาคม 2565 ที่อาคาร K+ Building ซึ่งอยู่ติดแอมพาร์ค ใกล้จุฬาฯ
จึงสรุปเนื้อหาเวิร์คชอปมาให้อ่านครับ
เมื่อเดินเข้าไปในอาคาร K+ ก็เห็นป้ายใหญ่ที่ทางเข้า
เวิร์คชอปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Innovative Teaching Scholars ซึ่งทาง Stanford จัดให้อาจารย์มหาวิทยาลัยของไทย
ผมไม่ได้อยู่ในโครงการนี้ แต่ได้รับคำเชิญมาเข้าเวิร์คชอปจากกลุ่มไลน์ของอาจารย์คณะวิศว จุฬาฯ จึงสมัคร เพราะเห็นหัวข้อแล้ว น่าสนใจมาก
นี่คือรายละเอียดของเวิร์คชอปนี้
เวิร์คชอปจัดในเวลา 14.00–16.30 น. แต่ผมมาถึงตั้งแต่บ่ายโมงครึ่ง เพราะนั่งรถปอพ.สาย 5 ของจุฬาฯ จากศาลาพระเกี้ยว แล้วเดินแค่นิดหน่อย
เมื่อถึงเวลาบ่ายสอง ก็เข้าห้องเวิร์คชอป
กิจกรรมในเวิร์คชอป
1. แนะนำตัว
วิทยากรให้พวกเราแนะนำตัวในกลุ่มว่า เป็นใครกันบ้าง
โต๊ะจัดนั่งเป็นกลุ่มๆ ละ 3 คน ผมได้นั่งโต๊ะกลุ่มเดียวกับอาจารย์โจ้จากลาดกระบัง และอาจารย์คิวจากศิลปากร ได้คุยกับอาจารย์ทั้งสองท่านจึงทราบว่า อาจารย์ทั้งสองท่านได้เรียนในโครงการนี้ และเล่าข้อดีต่าง ๆ ของโครงการ จนผมเสียดายว่า ทำไมไม่สมัครเข้าร่วมตั้งแต่แรก
2. สิ่งที่อยากได้ในไอโฟน 15
โจทย์คือ สมมติว่า ปี 2023 พวกเราไปต่อคิวเพื่อซื้อไอโฟน 15
วิทยากรขอให้พวกเราแชร์กันว่า เราอยากให้ไอโฟน 15 มีคุณสมบัติอะไรบ้างที่อยากได้
ผมอยากได้ความสามารถของกล้องไอโฟนที่ถ่ายดวงจันทร์สวย ๆ เพราะเห็นคนอื่นใช้กล้องถ่ายรูปดวงจันทร์สวย ๆ แล้ว อยากให้กล้องไอโฟนทำอย่างนั้นได้บ้าง
3. สิ่งที่อยากได้ในไอโฟนอีก 100 ปีข้างหน้า
วิทยากรให้พวกเราช่วยกันคิดว่า สมมติว่า อีก 100 ปีข้างหน้าคือ ปี 2122 มีไอโฟนรุ่น 114 พวกเราอยากได้อะไรในไอโฟนรุ่นนั้น
ถึงตอนนี้ หลายคนคงคิดแล้วว่า อีก 100 ปีข้างหน้าคงไม่ตัองใช้สมาร์ตโฟนแล้วมั้ง เราอาจติดต่อทางโทรจิตกันได้เลย หรือไม่ก็บริษัท Apple ยังอยู่หรือเปล่าในตอนนั้น
ผมเสนอไอเดียว่า อีก 100 ปีข้างหน้า มนุษยชาติคงไปตั้งถิ่นฐานในอวกาศแล้ว จึงหวังว่า ผู้ใช้ไอโฟนอนาคตสามารถคุยข้ามดวงดาวกันได้
4. The Polak Game : เลือกว่าอนาคตจะดีขึ้นหรือแย่ลง
วิทยากรให้พวกเราทำกิจกรรม The Polak Game คือ เลือกว่า อนาคตจะดีขึ้นหรือแย่ลง แล้วให้ทุกคนออกมายืนในฝั่งที่ตัวเองเชื่อ
ผมยืนในฝั่งที่เชื่อว่าอนาคตจะดีขึ้น แล้ววิทยากรก็ให้พวกเราแชร์ว่า ทำไมจึงเชื่อเช่นนั้น
จากนั้นก็ให้พวกเราเลือกว่า ปัจเจกบุคคลมีผลกระทบต่ออนาคตหรือไม่ โดยยืนในฝ่ายที่ตัวเองเชื่อ ซึ่งผมเชื่อว่า ปัจเจกบุคคลสร้างผลกระทบต่ออนาคตได้ แล้ววิทยากรก็ให้พวกเราแชร์ว่า ทำไมเลือกข้างที่ตัวเองเลือก
กิจกรรม Polak Game ทำให้ผู้เรียนตื่นตัวเพราะทุกคนต้องลุกจากเก้าอี้ แล้วมายืนรวมกลุ่มกัน จากนั้นก็ให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มแชร์ความเห็น ทำให้เราได้ฟังความเห็นของคนอื่นที่เหมือนเราและตรงข้ามกับเรา ได้ฟังมุมมองที่หลากหลาย
5. จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามหาลัยไม่มีสิ่งนี้
นี่เป็นเวิร์คชอปที่ผมชอบที่สุดในวันนี้ เพราะผมสอนนิสิตเรื่องนี้ด้วย เรียกว่า “Challenging Assumptions”
หลักการของ Challenging Assumptions คือ การแสดงสมมติฐานหรือกรอบความคิดเกี่ยวกับหัวข้อที่เราสนใจ จากนั้นตัดสิ่งนั้นทิ้ง แล้ววิเคราะห์ว่า จะเกิดผลกระทบอย่างไร
วิทยากรยกตัวอย่างโดยสมมติว่า ถ้ารถยนต์ไม่มีคนขับ จะเกิดผลกระทบต่อไปนี้
- อุบัติเหตุที่เกิดจากมนุษย์เป็นคนขับจะลดลง
- อุบัติเหตุที่ลดลงทำให้เสียชีวิตน้อยลง
- ค่าประกันลดลง
- รถยนต์ขับได้เร็วขึ้น เพราะเป็นระบบอัตโนมัติ
- รถขับเร็วขึ้น ทำให้คนใช้รถมากกว่าเครื่องบิน
- เมื่อคนใช้เครื่องบินน้อยลง ก็ทำให้หุ้นสายการบินตก
นี่คือแผนภาพที่แสดงผลกระทบจากการที่รถไม่มีคนขับ โดยแยกเป็น 2 ฝั่งคือ การเพิ่มขึ้นและการลดลง เรียกแผนภาพนี้ว่า Future Wheel
จากนั้นวิทยากรให้พวกเราสมมติว่า ถ้ามหาวิทยาลัยไม่มีสิ่งต่าง ๆ เช่น ไม่มีภาควิชา ไม่มีสาขา ไม่มีเกรด ไม่มีตำรา ไม่มีอาจารย์ แล้วจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง
กลุ่มผมซึ่งมีอาจารย์คิว อาจารย์โจ้ และผมเลือกหัวข้อ คือ ถ้ามหาลัยไม่มีภาควิชา จะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง เพราะเคยอ่านเจอว่า มหาลัยหลายแห่งรวมทั้ง Stanford อาจไม่มีคณะหรือภาควิชาในอนาคต
นี่คือรูป Future Wheel ของกลุ่มผมครับ
หลังจากเขียน Future Wheel เสร็จแล้ว วิทยากรก็ให้พวกเราเขียนพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ในปี 2050 และวาดภาพประกอบหนังสือพิมพ์แสดงผลกระทบหนึ่งอย่างจาก Future Wheel
วิทยากรแสดงตัวอย่างคือ อนาคตไม่มีห้องเรียนอีกต่อไป ดังนั้น เด็กนักเรียนในอนาคตไปเรียนในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก
กลุ่มผมเขียนพาดหัวข่าวว่า อายุเฉลี่ยของนักศึกษาในมหาลัยปี 2050 คือ 60 ปี เพราะทุกคนมาเรียนมหาลัยได้สะดวกขึ้นมาก เนื่องจากมหาลัยไม่มีภาควิชา ใครอยากเรียนอะไร ก็เรียนเรื่องที่ตัวเองสนใจ อีกทั้งคนในอนาคตมีอายุยืนขึ้นมาก ทำให้คนอายุ 60–80 ปียังมาเรียนในมหาลัยได้
เรียนฟรี แล้วยังได้หนังสือฟรีด้วย
นอกจากได้ทำกิจกรรมสนุก ๆ ที่มีข้อคิดดีมาก นำไปใช้กับการสอนได้แล้ว ทุกคนที่เข้าเวิร์คชอปยังได้หนังสือจาก d.school ฟรีคนละ 1 เล่มคือ Navigating Ambiguity ตรงตามชื่อเวิร์คชอป
วิทยากรยังแนะนำหนังสืออีกเล่มคือ Creative Acts for Curious People: How to Think, Create, and Lead in Unconventional Ways (Stanford d.school Library) ซึ่งโชคดีที่ผมมีเล่มนี้แล้ว มีเทคนิคต่าง ๆ มากมาย รวมทั้ง Future Wheel
ถ้าใครสนใจ Creative Acts ลองไปดูที่ร้านหนังสือภาษาอังกฤษใหญ่ ๆ ของไทยครับ ยังเห็นวางจำหน่ายอยู่
แบบสะท้อนความคิด
ก่อนเลิกคลาส วิทยากรให้พวกเราเขียนการ์ดที่มีข้อความว่า
I used to think ….
Now I think ….
หมายความว่า ก่อนเข้าอบรม เราเคยคิดอย่างไร และหลังจากเข้าอบรมแล้ว ความคิดของเราเปลี่ยนไปอย่างไร
ความประทับใจ
ในเวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมงครึ่ง ผมได้ทำกิจกรรมน่าสนใจหลายเรื่อง ซึ่งนำมาใช้ในการสอนวิชา Innovative Thinking และการทำงานได้อย่างดี ได้เห็นการสอนของวิทยากรที่เป็นอาจารย์จาก Stanford d.school ว่า ยอดเยี่ยมสมคำร่ำลือจริง ๆ
อีกทั้งยังได้รู้จักเพื่อนใหม่ที่เป็นอาจารย์มหาลัยอื่น ได้พบเพื่อนอาจารย์ที่รู้จักกันอยู่แล้ว และศิษย์เก่าวิชา Innovative Thinking ที่มาร่วมคลาสด้วย
สำหรับผู้อ่านที่ไม่ได้เข้าเวิร์คชอปนี้ ข่าวดีคือ ทีมงานได้ถ่ายวิดีโอเวิร์คชอปนี้ โดยจะทำเป็นคอร์สออนไลน์ให้คนไทยได้ชมในต้นปี 2566 ครับ
บทความสรุปเวิร์คชอปอื่นจาก Stanford d.school
นอกจากเวิร์คชอปเรื่อง Navigating Ambiguity แล้ว ผมยังเข้าเวิร์คชอปอื่นจากทีมวิทยากร Stanford d.school
อ่านสรุปของเวิร์คชอปอื่นได้ที่
สรุปเวิร์คชอปเรื่อง Collaboration จากทีมวิทยากร Stanford d.school
เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่