สรุปเวิร์คชอปเรื่อง Collaboration จากทีมวิทยากร Stanford d.school

ปัจจัยสำคัญในการทำงานเป็นทีมให้ประสบความสำเร็จ อาจเป็นเรื่องที่คุณนึกไม่ถึง

ภาพถ่ายโดย Andrea Piacquadio จาก Pexels: https://www.pexels.com/th-th/photo/3755440/

ผมได้เข้าเวิร์คชอปเรื่อง Collaboration จากทีมวิทยากร Stanford d.school ในวันพฤหัสที่ 15 ธันวาคม 2565 เวลา 14.00–16.30 น. โดยจัดที่คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

นี่คือรายละเอียดของเวิร์คชอปครับ

เมื่อถึงเวลาประมาณบ่ายสอง ผู้เข้าอบรมประมาณ 30 คนก็เข้าห้องเรียน โดยนั่งโต๊ะเป็นกลุ่มๆ ละ 3 คน และนี่คือสไลด์หัวข้อเวิร์คชอปครั้งนี้

สไลด์หัวข้อเวิร์คชอป

ต่อไปนี้เป็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำในเวิร์คชอปนี้

1. การระดมสมองแลกเปลี่ยนไอเดีย

กิจกรรมแรกที่วิทยากรให้พวกเราทำคือ ดูรูปกระป๋องโค้กในสไลด์ แล้วเขียนคำที่นึกได้ให้มากที่สุดภายใน 1 นาที

สไลด์กิจกรรมเรื่องการระดมสมอง

หลังจากครบ 1 นาทีแล้ว แต่ละคนในกลุ่มก็อ่านคำที่ตัวเองเขียน แล้วขีดฆ่าคำที่เขียนซ้ำกัน

ภาพล่างคือคำที่ผมเขียนทั้งหมด คำที่ขีดฆ่าคือคำที่ซ้ำกับเพื่อนในกลุ่ม คำที่ผมเขียนโดยไม่ซ้ำกับเพื่อนในกลุ่มมี 12 คำ

ภาพกิจกรรมเขียนคำจากรูปในสมุดบันทึกของผม

2. การ์ดเล่าความในใจ

กิจกรรมถัดมาคือ วิทยากรแจกการ์ดที่มีข้อความต่าง ๆ แล้วให้แต่ละคนบอกคำตอบของการ์ดให้เพื่อนในกลุ่ม

นี่คือข้อความในการ์ดใบแรกที่ให้ทุกคนตอบว่า “ถ้าให้ทานอาหารเพียงอย่างเดียวใน 1 ปี จะทานอะไร”

คำถามในการ์ดใบแรก

การ์ดคำถามมีทั้งหมด 8 ใบ การ์ดแต่ละใบจะเพิ่มความยากขึ้นเรื่อย ๆ บางการ์ดทำให้ผมต้องใช้เวลาคิดพอสมควรกว่าจะคิดคำตอบได้

คำถามในการ์ดต่าง ๆ

วิทยากรบอกว่า การ์ดเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้เพื่อให้คำถามยากขึ้นเรื่อย ๆ จากนั้นให้ทุกคนช่วยเขียนสะท้อนความคิดตัวเอง

ผมเขียนว่า กิจกรรมนี้ทำให้ผมนึกถึงสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อน และรู้จักเพื่อนในกลุ่มได้ดีขึ้น

3. งานวิจัยเกี่ยวกับการทำงานเป็นทีม

วิทยากรเล่าเรื่อง Project Aristotle ที่วิจัยเรื่องปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการทำงานเป็นทีม โดยที่งานวิจัยนี้ค้นพบว่า ตัวแปรบางตัวไม่มีผลต่อการทำงานเป็นทีม ในขณะที่ตัวแปรบางตัวมีผลอย่างมาก

Project Aristotle บอกว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดในการทำงานเป็นทีมคือ Psychological Safety หมายความว่า สมาชิกในทีมรู้สึกปลอดภัยที่จะกล้าเสี่ยงและเปราะบางต่อหน้าคนอื่น

Credit : https://rework.withgoogle.com/print/guides/5721312655835136/

4. Protobot Challenge

นี่คือเวิร์คชอปที่ผมชอบมากที่สุดในวันนี้ กิจกรรมนี้ให้ทุกคนอ่านสไลด์ แล้วทำให้เสร็จภายใน 15 นาที โดยไม่มีการอธิบายใด ๆ ทั้งสิ้น เรียกว่าเป็น Ambiguous challenge

สไลด์ Protobot challenge

Protobot.org เป็นเว็บไซต์ที่สุ่มโจทย์การสร้างสิ่งประดิษฐ์แปลก ๆ เช่น ออกแบบเทอร์โมมิเตอร์เพื่อช่วยให้คนมีความเมตตาต่อคนแปลกหน้า !

Credit : Protobot.org

โจทย์ใน Protobot มีให้เลือกเยอะมาก สุ่มแต่ละครั้งได้โจทย์ไม่ซ้ำกันเลย กลุ่มผมก็สับสนในตอนแรกว่า จะเลือกหัวข้ออะไรดี

จนกระทั่งเพื่อนในกลุ่มสุ่มได้โจทย์เรื่อง “ออกแบบสมาร์ตโฟนที่ทำให้จิตใจสงบ” ( Design a phone that calms your down) ซึ่งทุกคนเห็นว่า เป็นโจทย์ที่สนุกดี

ทีมงานเวิร์คชอปได้เตรียมกระดาษ Flip chart, ปากกาสี และ Post-it ให้แต่ละกลุ่มแล้ว กลุ่มผมก็รีบหยิบกระดาษ Post-it แล้วช่วยกันคิดและเขียนไอเดียบน Post-it โดยแบ่งเป็นหมวดฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ได้ตามภาพข้างล่าง

ไอเดียในการออกแบบโทรศัพท์ที่ช่วยให้จิตใจสงบ

หลังจากครบกำหนดเวลาแล้ว วิทยากรก็ให้ทุกคนมานั่ง reflect ความรู้สึกและอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำกิจกรรมนี้

ใบสะท้อนความรู้สึก Protobot challenge

ความรู้สึกของผมในตอนแรกคือ สับสน ลังเล ไม่แน่ใจ แต่หลังจากที่ตัดสินใจได้แล้ว ก็เกิดความสนุก ความกระตือรือล้น

จากนั้น วิทยากรก็ให้ทุกคนในกลุ่มแชร์ความรู้สึกและสังเกตความรู้สึกของเพื่อนในกลุ่มระหว่างทำกิจกรรมนี้ ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์คล้าย ๆ กัน

แข่งเป่ายิ้งฉุบก่อนเลิกเรียน

ก่อนเลิกคลาส วิทยากรให้พวกเราเล่นเกมที่ทุกคนรู้จักดี คือแข่งเป่ายิ้งฉุบหาผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียวในคลาสที่เรียกเสียงหัวเราะและเสียงเชียร์ ผมเกือบเป็นผู้ชนะด้วยครับ

สรุปข้อคิดที่ได้จากเวิร์คชอป

  1. Psychological safety เป็นปัจจัยสำคัญมากในการร่วมมือทำงาน โดยวิทยากรให้พวกเราทำกิจกรรมเล่าความรู้สึกจากการ์ด ซึ่งตั้งใจให้เริ่มจากคำถามง่าย ๆ ไปถึงคำถามยาก ๆ
  2. กิจกรรม Protobot challenge ต้องการให้พวกเราสังเกตอารมณ์ ความรู้สึก และรูปแบบในการทำงานเป็นทีม
  3. ข้อคิดสำคัญที่สุดคือ การมี awareness of self and other คือ การเข้าใจตนเองและเข้าใจผู้อื่น

สะท้อนความคิดหลังจากเรียนจบแล้ว

ก่อนปิดคลาส วิทยากรขอให้เขียนแบบฟอร์มสะท้อนความคิดว่า

I USED TO THINK …. (ก่อนมาเรียน ฉันคิดอย่างไร)

NOW I THINK …. (หลังจากเรียนเสร็จแล้ว ฉันคิดอย่างไร)

โดยที่ผมเขียนว่า

ก่อนมาเรียน ผมคิดว่า การทำงานเป็นทีมเป็นเรื่องของไอเดียอย่างเดียว

หลังจากเรียนเสร็จแล้ว ผมคิดว่า psychological saftety และอารมณ์เป็นเรื่องสำคัญมากในการทำงานเป็นทีม

แบบฟอร์มสะท้อนความคิดของผมหลังจากเรียนเสร็จแล้ว

ได้หนังสือฟรีอีกแล้ว

เวิร์คชอปนี้มีการอัดวิดีโอและจะทำเป็นคอร์สออนไลน์ เผยแพร่ให้คนไทยได้เรียนประมาณต้นปี 2566 ครับ

ทุกคนที่เข้าเวิร์คชอปวันนี้ นอกจากได้เรียนฟรีแล้ว ยังได้รับหนังสือฟรีอีกคนละ 1 เล่มเรื่อง Designing for Belonging ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียนในวันนี้

หนังสือที่ได้รับแจก

วิทยากรยังแนะนำหนังสืออีกเล่มคือ คือ Creative Acts for Curious People: How to Think, Create, and Lead in Unconventional Ways (Stanford d.school Library) ซึ่งอธิบายกิจกรรม Protobot ด้วย

บทความสรุปเวิร์คชอปอื่นจาก Stanford d.school

นอกจากเวิร์คชอปเรื่อง Collaboration แล้ว ผมยังเข้าเวิร์คชอปอื่นจากทีมวิทยากร Stanford d.school

อ่านสรุปของเวิร์คชอปอื่นได้ที่

สรุปเวิร์คชอปเรื่อง Navigating Ambiguity จากทีมอาจารย์ Stanford d.school

สรุปงานวิจัยเกี่ยวกับคนทำงานจากทีมวิทยากร Stanford d.school

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์