สรุปการบรรยาย Designing Your Life ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

เมื่อเย็นวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2562 ผมได้ไปฟังบรรยายเรื่อง Designing Your Life by Bill Burnett ที่ห้องประชุมชั้น 2 ตึก 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งชมรม CU Leadership Club เป็นผู้จัด

งานนี้มีผู้เข้าฟังอย่างล้นหลามจนเต็มห้องประชุม มีทั้งอาจารย์และนิสิตเข้าฟังเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็เข้าไปฟังได้เลย ผู้สนใจต้องสมัครก่อน จึงจะมีสิทธิ์เข้าร่วมฟังสัมมนาครั้งนี้ เพราะนี่เป็นการบรรยายครั้งแรกในจุฬาฯ และแน่นอนว่า มีหลายคนที่ไม่ได้เข้าฟัง เพราะมีที่นั่งจำกัดแค่ 200 กว่าที่

ตอนที่ผมทราบข่าวการบรรยายครั้งนี้ ก็ตัดสินใจว่า ต้องมาฟังให้ได้ เพราะเป็นโอกาสที่หายากมาก และจัดที่ตึกเดียวกับห้องทำงานของผมด้วย เรียกได้ว่า สถานที่บรรยายสะดวกสุดๆ สำหรับผมครับ

ก่อนเริ่มฟังบรรยาย

ดังนั้น ผมขอสรุปเนื้อหาบรรยายประมาณ 2 ชั่วโมงในบทความนี้ครับ

ที่มาของวิชา Designing Your Life

คุณ Bill Burnett ซึ่งผมขอเรียกว่าอาจารย์บิล เพราะเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา

อาจารย์บิลบอกว่า Design Thinking หรือ D.S ที่กำลังโด่งดังในยุคนี้ เป็นแนวคิดที่ใช้กับผลิตภัณฑ์ แต่นำหลักการของ D.S. ประยุกต์ใช้กับชีวิตได้ เช่นการออกแบบอนาคตของตนเอง

วิชา Designing Your Life เปิดสอนมาแล้ว 12 ปี ได้ผ่านการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหามานับครั้งไม่ถ้วน จนกลายเป็นวิชาสุดฮิตของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และอาจารย์บิลก็เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้

ลูกศิษย์ที่โด่งดังคนหนึ่งในวิชา Designing Your Life คือผู้ก่อตั้ง Snapchat แอปสุดฮอตของวัยรุ่นอเมริกัน

ลูกศิษย์คนนี้มาถามอาจารย์บิลว่า อยากทำให้รูปภาพหายไปได้ อาจารย์บิลก็ถามกลับไปว่า จะมีไปทำไม เพราะนึกไม่ออกว่า มีประโยชน์อย่างไร

แต่ในที่สุด แอป Snapchat ก็ใส่ความสามารถที่ทำให้รูปภาพหายไปได้ จนกลายเป็นแอปสุดฮิต

ความเชื่อผิดๆ

1. ความเชื่อเรื่อง passion ว่า เราต้องมี passion

อาจารย์บิลบอกว่า ใน 10 คน จะมีแค่ 2 คนเท่านั้นที่ตอบว่า ตัวเองมี passion อีก 8 คนตอบว่า ตัวเองไม่มี passion หรือไม่ทราบว่า passion ของตัวเองเป็นอะไร

2. ความเชื่อผิดๆ เราต้องรู้ว่า เรากำลังมุ่งไปทางใด มิฉะนั้น เราจะช้ากว่าคนอื่น แต่นี่เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องครับ อย่าไปกังวลว่า เราจะช้ากว่าคนอื่น

มุมมองใหม่เกี่ยวกับ work life balance

อาจารย์บิลเสนอแนวคิดใหม่เรื่องการใช้ชีวิตอย่างสมดุล โดยแบ่งออกเป็น 4 เรื่องคือ play , health , work , love

อาจารย์บิลบอกให้ผู้เรียนวิเคราะห์สถานะทั้ง 4 ด้านของตัวเอง โดยเขียนสเกลบนกระดาษกิจกรรม แล้วแลกเปลี่ยนไอเดียกับเพื่อนที่นั่งข้างๆ

จากนั้น อาจารย์บิลอธิบายว่า วิธีเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง คือ ให้เริ่มต้นจากน้อยๆ ก่อน หรือ pick one small thing to change

เช่น อาจารย์บิลวิเคราะห์ตัวเองว่า play น้อยที่สุด ดังนั้น อาจารย์บิลจึงเพิ่ม play ให้มากขึ้น คือ การไปเรียนเต้นแทงโก้สัปดาห์ละครั้ง

ผมก็เหมือนกันครับ จากการวิเคราะห์ 4 ด้านของตัวเอง ก็พบว่า play มีระดับต่ำสุด

ดังนั้นวิธีง่ายๆ ของผมในการเพิ่ม play ในชีวิตให้มากขึ้นคือ โยน juggling บ่อยๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ผมทำได้ง่ายๆ หรือฝึกชี่กงทุกวัน , ต่อเลโก้เป็นรูปแปลกๆ

ออกแบบแผนการชีวิต

เนื้อหาสำคัญอีกเรื่องของการบรรยายครั้งนี้คือ You have more than one life

หมายความว่า เรามีงานหรืออาชีพได้หลายแบบในชีวิตของเรา ไม่จำเป็นต้องทำอาชีพเดียวตลอดทั้งชีวิต

อาจารย์บิลให้พวกเราทำกิจกรรมคือ ออกแบบชีวิตของเป็น 3 แบบ

แผน 1 : อาชีพที่เรากำลังทำ ซึ่งสำหรับผมคือ อาจารย์มหาวิทยาลัย

แผน 2 : สิ่งที่เราจะทำ ถ้าแผน 1 ล้มเหลว ซึ่งอาจารย์บิลยกตัวอย่างว่า อนาคตอาจไม่ต้องมีครูมาสอนนักศึกษาแล้ว ใช้เอไอหรือหุ่นยนต์มาสอนแทนก็ได้ ครู อาจารย์ทั้งหลายก็ตกงาน

เมื่ออาจารย์บิลพูดแบบนี้ คนนั่งแถวหน้าซึ่งเป็นอาจารย์ทั้งหมดก็สะดุ้งกันเป็นแถบ

ผมก็คิดหนักสิครับ ถ้าตกงานจริงๆ เพราะเอไอสอนดีกว่าผม แล้วผมจะทำงานอะไรดี เริ่มแก่ขึ้นเรื่อยๆ

แผน 3 : สิ่งที่จะทำโดยไม่สนใจเงิน ไม่แคร์คนอื่น ซึ่งอาจารย์บิลเรียกว่า wild card plan

แผนสามก็คือ สิ่งที่ผมกำลังทำอยู่คือ เขียนบทความใน Medium ครับ เพราะไม่ได้เงิน และเขียนตามใจตัวเอง

ผมคิดว่า แผนชีวิตทั้งสามแผนเป็นประโยชน์มากสำหรับเด็กรุ่นใหม่ เพราะโลกอนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างมาก จะมีอาชีพใหม่ๆ อย่างที่เราไม่นึกฝันมาก่อน

การทำต้นแบบของชีวิต

อาจารย์บิลยังแนะนำให้พวกเราสร้างต้นแบบ ( prototype ) เพื่อทดลองประสบการณ์ต่างๆ ของชีวิต

ตัวอย่างเช่น

  • Prototype conversation คือ การนัดคนที่เราสนใจอาชีพของเขาไปดื่มกาแฟ เพื่อสัมภาษณ์หรือถามเรื่องที่เราสนใจ
  • Prototype experience เช่น อยากเรียนหลักสูตรหนึ่งในมหาวิทยาลัย ก็ลองเข้าไปนั่งในห้องเรียนจริงๆ ทดลองเรียนจริงๆ เพื่อดูว่า เราอยากเรียนจริงหรือไม่

William Gibson เป็นใคร

ขณะที่บรรยายเรื่องการทำต้นแบบ อาจารย์บิลยกคำพูดของวิลเลียม กิบสัน ( William Gibson ) ว่า

“อนาคตเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่กระจายเท่าไร”

ชื่อวิลเลียม กิบสันอาจไม่คุ้นหูนักอ่านชาวไทย แต่ที่จริงแล้ว เขาเป็นนักเขียนนิยายไซไฟที่โด่งดังมากคนหนึ่งครับ

ผลงานเขียนที่สร้างชื่อให้วิลเลียม กิบสันมากที่สุดคือ “Neuromancer” ซึ่งเป็นเรื่องของแฮคเกอร์ในอินเทอร์เน็ตยุคอนาคต เรียกว่า cyberspace (ไซเบอร์สเปซ) และเป็นผู้ปลุกกระแสนิยายแนว cyberpunk จนโด่งดังในยุคที่อินเทอร์เน็ตเริ่มบูมพอดี

เคยมีหนังที่สร้างจากเรื่องสั้นของวิลเลียม กิบสันคือ Johnny Mnemonic ฉายปี 1995 ที่เคียนู รีฟ พระเอกหล่อตลอดกาลรับบทเป็นคนส่งของในโลกอนาคตที่กลายเป็นฮาร์ดดิสก์มีชีวิต เพราะมีคนฝังข้อมูลสำคัญ 320 Gigabyte ไว้ที่สมอง ถูกยากูซ่าตามล่า และต้องรีบเอาข้อมูลออกจากหัวตัวเองก่อนสมองจะระเบิด

หนัง Johnny Mnemonic ไม่ประสบความสำเร็จทางรายได้นัก แต่ฉากไซเบอร์สเปซในหนังตื่นตาตื่นใจดีครับ

ผมยังไม่เคยได้ยินว่า มีนิยายไซไฟของวิลเลียม กิบสันแปลเป็นไทยแล้ว ถ้ามีใครทราบ กรุณาชี้เป้าให้ผมด้วยครับ จะรีบซื้อมาอ่านทันที

เทคนิค Impact Location

อาจารย์บิลให้พวกเราทำกิจกรรมชื่อ Impact Location คือ ให้ผู้เรียนเขียนงานต่างๆ ที่เราทำ แล้วพล็อตในกราฟว่า แต่ละงานที่เราทำ มีผลกระทบต่อโลกมากน้อยเพียงใด

สรุปเนื้อหาหลัก 4 อย่าง

ดังนั้น การบรรยายประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งของอาจารย์บิล ประกอบด้วย 4 เรื่อง คือ

  • play , health , work , love dashboard
  • แผนชีวิต 3 แบบ
  • การทำต้นแบบชีวิต
  • Impact mapping

คำถามจากผู้ฟัง

ครึ่งชั่วโมงสุดท้ายเป็นช่วงถาม-ตอบ มีหลายคำถามจากผู้ฟัง ซึ่งใช้วิธีไฮเทคคือ ผู้ฟังพิมพ์คำถามเข้าไปในเว็บไซต์ pigeonhole.at แล้วโหวตคำถามที่ชอบ จากนั้นอาจารย์บิลจะตอบคำถามที่มีคนโหวตเยอะๆ

แต่คำถามที่ผมชอบที่สุดคือ มีผู้ฟังคนหนึ่งถามอาจารย์บิลว่า อยากจะบอกอะไรตัวเองตอนอายุ 20 ขึ้นไป

อาจารย์บิลตอบว่า ตอนหนุ่มๆ ตนเองเป็นคนขี้อายมากและระวังตัวมากเกินไป ดังนั้นสิ่งที่อยากจะบอกตัวเองคือจงกล้าหาญ be brave ลองทำสิ่งต่างๆให้มากขึ้น

อาจารย์บิลอธิบายเรื่องวิธีรู้จักตัวเองให้มากขึ้นว่า มีวิธีต่างๆ เช่นการเจริญสติ เพื่อทำให้สมองเงียบและใช้ความรู้สึกของตัวเองหรือที่เรียกว่า gut feeling , การเขียนสมุดบันทึก

ถ่ายรูปกับอาจารย์บิลหลังฟังบรรยายจบ

การบรรยายครั้งนี้คุ้มค่ามาก ผมได้แนวคิดหลายอย่าง และเชื่อว่า ผู้ฟังแต่ละคนก็คงได้แง่คิดที่นำไปปรับใช้กับชีวิตของตัวเองเช่นกันครับ

ขอบคุณชมรม CU Leadership Club ที่จัดกิจกรรมครั้งนี้ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ในการจัดบรรยายครั้งนี้ครับ

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
ธงชัย โรจน์กังสดาล

Written by ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์

Responses (2)