วิธีฝึกทักษะด้านการออกแบบจากสรุปหนังสือพรีเซนเทชั่นเซน ดีไซน์

บทความนี้เป็นสรุปหนังสือของผมชื่อ “พรีเซนเทชั่นเซน ดีไซน์ ปรับปรุงงานนำเสนอด้วยหลักการและเทคนิคการออกแบบที่เรียบง่าย” จากเพจสรุปให้

ผู้เขียนคือ การ์ เรย์โนลด์ส (Garr Reynolds) ผู้เชี่ยวชาญด้านการนำเสนอระดับโลก

ผู้แปลคือ คุณจุไรพร วิสุทธิกุลพาณิชย์ คุณดำเกิง ไรวา และผม

บรรณาธิการคือ อาจารย์ธัญญา และอาจารย์ขวัญฤดี ผลอนันต์

จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ขวัญข้าว’ 94

ถ้าคุณต้องการพัฒนาทักษะด้านการออกแบบสไลด์ คุณสามารถทำได้หลายวิธี เช่น เรียนในห้อง เรียนคอร์สออนไลน์ ฟังสัมมนา อ่านหนังสือเกี่ยวกับการทำสไลด์

แต่นอกจากวิธีดังกล่าวแล้ว คุณยังเรียนรู้หรือฝึกฝนตัวเองให้เป็นนักออกแบบสไลด์ที่ดีได้จากบทเรียนต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัว

สรุปหนังสือพรีเซนเทชั่นเซน ดีไซน์ จะแนะนำการใช้บทเรียนรอบตัวมาฝึกทักษะด้านการออกแบบสไลด์

1. สังเกตสิ่งรอบตัว

มีงานออกแบบมากมายในชีวิตประจำวันที่เราสังเกตได้ เช่น ป้ายโฆษณา บรรจุภัณฑ์ หรือโบรชัวร์

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ใช้นักออกแบบมืออาชีพ ลองสังเกตว่า พวกเขาใช้หลักการหรือเทคนิคอะไรในการออกแบบให้น่าดึงดูดใจ

การเดินทางในชีวิตประจำวันหรือการท่องเที่ยวก็ช่วยเปิดหู เปิดตา คุณควรสังเกตว่า มีอะไรน่าสนใจบ้างระหว่างการเดินทาง ซึ่งอาจมีรูปแบบน่าสนใจที่นำมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบสไลด์ได้

2. ตั้งคำถามเกี่ยวกับงานออกแบบ

เมื่อคุณสังเกตสิ่งน่าสนใจในชีวิตประจำวัน ขอให้ตั้งคำถามต่อไปนี้ เพื่อกระตุ้นความคิด เช่น

- รูปภาพในงานออกแบบทำอย่างดีหรือไม่

- คุณเห็นภาพในงานออกแบบชัดเจนหรือไม่

- งานออกแบบนี้ใช้หลักการอะไรบ้าง

- คุณให้คะแนนความงามของงานออกแบบเท่าไร

คำถามเหล่านี้จะทำให้คุณฝึกคิดวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ด้วยสายตาของนักออกแบบ

3. อ่านหนังสือด้านการออกแบบ

ถ้าคุณอยากเป็นนักออกแบบสไลด์ที่มีฝีมือ นอกจากการอ่านหนังสือเกี่ยวกับการทำสไลด์ การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ยังมีหนังสืออีกหลายแนวที่คุณเรียนรู้เรื่องการออกแบบได้

ตัวอย่างเช่น

- หนังสือด้านสถาปัตยกรรมที่คุณเรียนรู้วิธีคิดของสถาปนิก

- หนังสือเกี่ยวกับการถ่ายรูปที่คุณสังเกตภาพถ่ายสวย ๆ ที่นำมาใช้กับสไลด์

- หนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่คุณเรียนรู้สตอรี่บอร์ดหรือการเล่าเรื่อง

- หนังสือเกี่ยวกับตัวอักษรที่คุณเรียนรู้การใช้ฟอนต์หรือตัวอักษรในสไลด์

4. ตัดขาดจากโลกที่ยุ่งเหยิง

หาเวลาผ่อนคลาย หยุดกิจกรรมที่ใช้สมอง ไม่ต้องใช้สมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์ ออกไปหาธรรมชาติบ้าง เช่น เดินเล่นในสวน ปีนเขาเพื่อออกกำลังกาย ขี่จักรยานในสวนสาธารณะ หรือนั่งสมาธิในบ้าน

การหลุดออกจากชีวิตที่ยุ่งเหยิงและปลดปล่อยจิตใจ ก็จำเป็นในการทำให้ไอเดียลื่นไหลเช่นกัน

5. ชม TED Talk

หาโอกาสชม TED Talk โดยเฉพาะหัวข้อเกี่ยวกับงานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ถ้ามีโอกาส ลองไปฟังงาน TEDx ซึ่งจัดตามที่ต่าง ๆ

ทุกครั้งที่ชม TED Talk ขอให้สังเกตสไลด์ที่ผู้พูดใช้ใน TED Talk ว่ามีรูปแบบอย่างไร คุณสามารถนำไอเดียที่สังเกตจากสไลด์ใน TED มาปรับกับสไลด์ของคุณได้

6. ทำสมุดรวบรวมภาพ

มีสมุดรวบรวมภาพเพื่อเก็บงานออกแบบทั้งที่ดีและไม่ดี เช่น โปสเตอร์ แผ่นพับ หน้าปกแมกกาซีน ใบปลิว หรือสิ่งที่คุณคิดว่าน่าสนใจ

สมุดรวบรวมภาพอาจเป็นสมุดจริง ๆ หรือเป็นไฟล์คอมพิวเตอร์ก็ได้ ทุกครั้งที่คุณต้องการแรงบันดาลใจในการออกแบบสไลด์ ก็ดูสมุดรวบรวมภาพของคุณ เพื่อหาไอเดียในการออกแบบสไลด์

7. เล่นดนตรี

ฝึกทักษะความคิดสร้างสรรค์ด้วยการเล่นดนตรีใหม่ที่ไม่เคยเล่นมาก่อน หรือหยิบเครื่องดนตรีที่คุณคุ้นเคยในอดีต แต่ไม่ได้เล่นมานานแล้ว

การเล่นดนตรีเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ใช้สมองทั้งสองซีก เป็นงานอดิเรกที่ทำให้จิตใจผ่อนคลาย และช่วยทำให้ไอเดียลื่นไหล

ไม่มีใครแก่เกินไปที่จะหัดเล่นดนตรี

8. แบ่งปันความรู้

สอนคนอื่นในสิ่งที่คุณได้เรียนรู้ วิธีดีที่สุดอย่างหนึ่งในการเข้าใจเนื้อหาอย่างลึกซึ้งคือ การแบ่งปันความรู้หรือประสบการณ์ให้ผู้อื่น ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น

- เป็นผู้พูดในงานนำเสนอต่าง ๆ เช่น TEDx หรือชมรม Toastmaster

- สอนในห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นการสอนในห้องหรือสอนออนไลน์ โดยเริ่มต้นจากกลุ่มเล็ก ๆ ก่อน

- จัดเวิร์คชอปสอนการออกแบบสไลด์ ซึ่งเน้นการฝึกปฏิบัติ

นอกจากวิธีเหล่านี้แล้ว คุณอาจเขียนบทความ ทำวิดีโอคลิป บันทึกเสียง เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่นได้เช่นกัน

สรุปวิธีพัฒนาทักษะการออกแบบ

ในที่นี้แนะนำ 8 วิธีในการพัฒนาทักษะด้านการออกแบบ ได้แก่ การสังเกต การตั้งคำถาม การอ่าน การหยุดพัก การชม TED การทำสมุดภาพ การเล่นดนตรี และการสอนคนอื่น

แต่นอกจาก 8 วิธีนี้แล้ว ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่คุณอาจคิดด้วยตนเองได้ และคุณไม่จำเป็นต้องใช้ทั้ง 8 วิธี ขอให้ลองใช้วิธีที่คุณถนัดหรือชอบก่อน แล้วจึงค่อยทดลองวิธีอื่น

ข้อความนี้ของการ์ เรย์โนลด์ส สรุปใจความสำคัญของการพัฒนาทักษะด้านการออกแบบ คือ

บทเรียนเรื่องการออกแบบมีอยู่รอบตัว ขอให้คุณเปิดหู เปิดตา เปิดใจ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

ในที่สุด คุณก็เป็นนักออกแบบสไลด์ที่เก่งกาจได้เช่นกัน ทุกอย่างขึ้นกับคุณเอง

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์