วิธีจัดออนไลน์เวิร์คชอปให้เวิร์ค
สรุปเนื้อหาจากคอร์สเรื่อง How to create and run a brilliant workshop
ผมเพิ่งเรียนคอร์สออนไลน์ชื่อ How to create and run a brilliant workshop จาก Linkedin Learning ซึ่งจุฬาฯ เปิดโอกาสให้เรียนฟรี
ถึงแม้ว่าคอร์สนี้เน้นเรื่องการทำออนไลน์เวิร์คชอป แต่มีหลายประเด็นเกี่ยวข้องกับการสอนออนไลน์ ซึ่งเป็น New normal ของครู อาจารย์ วิทยากรในขณะนี้
ผมจึงสรุปเฉพาะประเด็นน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับการสอนออนไลน์ มาให้อ่านครับ
รู้จักผู้สอน
ผู้สอนคอร์สนี้คือคุณ Dave Birss ซึ่งเป็นนักเขียนหนังสือด้านความคิดสร้างสรรค์ และสอนความคิดสร้างสรรค์อีกหลายคอร์สที่ Linkedin Learning
ติดตามผลงานของเขาได้ที่เว็บไซต์ https://davebirss.com/
การวางแผนออนไลน์เวิร์คชอป
1.ตั้งเป้าหมายของการทำเวิร์คชอปว่า ต้องการบรรลุเป้าหมายเรื่องอะไร แล้วหาวิธีที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายนั้นในออนไลน์
2. โฟกัสที่คน ไม่ใช่เทคโนโลยี การบรรยาย 30 นาทีเป็นเรื่องน่าเบื่อมาก หาวิธีที่ทำให้คนเรียนมีส่วนร่วม เช่น ตั้งคำถาม ทำแบบสอบถาม ถามผู้เรียนว่าเห็นด้วยหรือไม่
3. ถ้าเป็นงานเวิร์คชอปใหญ่ที่มีผู้เรียนมาก หาผู้ช่วยหรือผู้ทำหน้าที่ฟา (Facilitator) เพื่อทำหน้าที่คิดแทนผู้เรียน เช่น ตั้งคำถามแทนคนเรียนในช่อง chat
4. หาวิธีเพิ่มคุณค่าให้การอบรม สปอนเซอร์ หรือทำให้คนเรียนร้องว้าว เช่น แจกของรางวัล , สรุปเนื้อหา
5. มีช่องทางสื่อสารก่อนและหลังเวิร์คชอป เช่น ให้งานคนเรียนล่วงหน้าก่อนการทำเวิร์คชอป เพื่อให้คนเรียนทราบความสำคัญของออนไลน์เวิร์คชอปนี้ และเตรียมตัวก่อนเข้าเรียน หรือ ผู้สอนควรใช้อีเมลติดต่อผู้เรียนก่อนและหลังเวิร์คชอป
การใช้เครื่องมือทำงานร่วมกันทางออนไลน์
คุณ Dave ใช้เครื่องมือทำงานร่วมกันที่แยกออกจาก video conference platform เช่น Google doc , Google Slide หรือ live collaboration in word document
การใช้ซอฟต์แวร์แยกต่างหาก จะข่วยให้เห็นการทำงานของคนเรียนได้ท้นที โดยมีขั้นตอนการทำงานดังนี้
- สร้าง shared document ล่วงหน้า แล้วบอกให้ผู้เรียนเข้า shared document นั้นก่อนการทำเวิร์คชอป เช่น เขียนชื่อ นามสกุล สิ่งที่คาดหวังจากเวิร์คชอป เป็นต้น
วิธีนี้ทำให้ผู้จัดเวิร์คชอปทราบว่า shared document ใช้งานได้หรือไม่
ถ้า shared document ใช้งานไม่ได้ ผู้จัดจะได้แก้ปัญหาก่อนเวิร์คชอป การแก้ปัญหาระหว่างการทำเวิร์คชอปจะยุ่งยากและเสียเวลา
2. แบ่ง shared document ออกเป็นแต่ละส่วน เพื่อเตรียมทำกิจกรรมใน breakout room และเขียนคำอธิบายของทุกกิจกรรมอย่างชัดเจน
3. ระหว่างการทำ breakout room คอยดูการทำงานของผู้เรียนใน shared document นั้น ถ้าพบว่า shared document ส่วนไหนมีปัญหา ก็เข้าไปใน breakout room ห้องนั้น เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา
Shared document จีงเป็นตัวช่วยสำคัญที่เก็บผลลัพธ์ของการทำเวิร์คชอปออนไลน์นั่นเอง เปรียบเสมือนฟลิปชาร์ตหรือโพสต์-อิทที่ได้จากการทำเวิร์คชอปในห้อง
คุณ Dave ถึงกับบอกว่า shared document ทำให้บางคนติดใจการทำออนไลน์เวิร์คชอป มากกว่าเวิร์คชอปในห้องซะอีก เพราะสะดวกสบายกว่า รวดเร็วกว่า และนำไปเผยแพร่หรือใช้งานต่อได้ง่ายกว่า
การสอนหน้ากล้องต่างจากการสอนในห้อง
กล่าวกันว่า เว็บแคมดูดพลังงานผู้สอนไป 20 % การทำออนไลน์เวิร์คชอปจึงต้องใช้พลังงานมากกว่าการสอนปกติเช่น ยิ้มเยอะ ๆ พยักหน้าบ่อย ๆ แสดงท่าทางที่ทรงพลัง เพื่อยกพลังงานของผู้เรียน
เวิร์คชอปต้องดึงส่วนดีที่สุดของผู้ร่วมงาน ดังนั้น เวลาส่วนใหญ่ของการทำเวิร์คชอปคือ การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมเยอะ ๆ แลกเปลี่ยนความเห็น อภิปราย พูดคุย
สิ่งสำคัญคือ การหยุดพักบ่อย ๆ เช่น ทุก 90 นาที ควรหยุดพัก 10 นาที และเปิดไมโครโฟนให้ทุกคนได้คุยกันระหว่างหยุดพัก
ประโยคเด็ดจากคอร์สนี้
“Online events don’t need to be second rate. Look for opportunities to make them better than real world event” แปลว่า งานออนไลน์ไม่จำเป็นต้องด้อยกว่า มองหาโอกาสเพื่อทำให้งานออนไลน์ดีกว่างานในห้อง
ข้อคิดจากคอร์สนี้
ตั้งแต่เกิด COVID-19 ผมสอนออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ มีสอนในห้องเรียนบ้าง และมีหลายครั้งที่ผมต้องเปลี่ยนจากการสอนหรือเวิร์คชอปในห้องมาเป็นออนไลน์ รวมทั้งการจัดสอบออนไลน์
เหตุการณ์ล่าสุดคือ ผมได้รับเชิญไปบรรยายให้นักเรียนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในกลางเดือนสิงหาคม 2564 แต่ครูที่ประสานงานแจ้งว่า ขอเปลี่ยนจากการสอนในห้องเป็นการสอนออนไลน์ เพราะสถานการณ์ COVID-19 รุนแรงมากขึ้น ซึ่งผมก็เห็นด้วย
ถ้าเทียบกันแล้ว ผมชอบสอนในห้องมากกว่าสอนออนไลน์ แต่หลังจากเรียนคอร์สนี้แล้ว ผมเริ่มมีมุมมองใหม่ และเห็นด้วยกับคุณ Dave ว่า การสอนออนไลน์ไม่จำเป็นต้องด้อยกว่าการสอนในห้อง และเรามีโอกาสเสมอในการปรับปรุงการสอนออนไลน์ให้ดีกว่าการสอนในห้องครับ
ถ้าคุณเป็นนักอ่านหรือผู้ชอบการเรียนรู้ เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ออกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือนเพื่อแนะนำเรื่องน่าสนใจ เช่น บทความ หนังสือ เว็บไซต์ แอป วิดีโอ คอร์สออนไลน์ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่