ภาพวาดไอเดีย 15 รูปของผมในเดือนมีนาคม 2566

ภาพวาดเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ การนำเสนอ การพัฒนาตนเอง และคำคม

ภาพถ่ายโดย Quang Nguyen Vinh จาก Pexels: https://www.pexels.com/th-th/photo/2131842/

1. ทำไมการนำเสนอภายในเวลาที่กำหนดจึงเป็นเรื่องสำคัญ

สมมติว่า ห้องหนึ่งมีผู้นำเสนอ 4 คนที่ทุกคนมีเวลาคนละ 15 นาที รวมเป็น 1 ชั่วโมง

เมื่อครบ 1 ชั่วโมง ทุกคนต้องออกจากห้อง เพราะต้องใช้ห้องต่อ เช่น โรงแรมจะใช้ห้องเพื่อจัดงานแต่งงาน หรืออาจารย์คนอื่นจะใช้ห้องสอนวิชาถัดไป

แต่ผู้นำเสนอคนแรกใช้เวลาเกินกำหนดคือ 20 นาที
คนที่สองก็เกินเวลาอีกคือ 20 นาที
คนที่สามนำเสนอตรงเวลาคือ 15 นาที

คนสุดท้ายอาจร้องไห้โฮ เพราะตัวเองเหลือเวลานำเสนอเพียง 5 นาทีเท่านั้น นำเสนอเต็มเวลา 15 นาทีไม่ได้

สาเหตุเกิดเพราะผู้ดูแลการนำเสนอในห้อง ไม่เข้มงวดเวลา ปล่อยให้นำเสนอตามใจชอบ ทำให้คนสุดท้ายเสียเปรียบ ถ้าเป็นการแข่งขันหรือการสอบ จะไม่แฟร์มากครับ

ดังนั้น ถ้ากำหนดเวลาในการนำเสนออย่างชัดเจนแล้ว ผู้ดูแลหรือผู้ควบคุมจะต้องเข้มงวด หรือหาวิธีทำให้ผู้นำเสนอทราบว่า หมดเวลาแล้ว เช่น สั่นกระดิ่ง ปิดไฟห้อง ปิดเสียงไมโครโฟน

ภาพจากผู้เขียนบทความ

2. เวลาเตรียมตัว > เวลานำเสนอ

ปัจจุบันมีการนำเสนอหลายรูปแบบที่ใช้เวลาสั้นมาก เช่น 3–10 นาที

การเตรียมตัวหรือการฝึกซ้อมนำเสนอให้จบในเวลาสั้น ๆ จึงสำคัญมาก

หลายคนฝึกซ้อมแค่ครั้งหรือสองครั้ง ทำให้นำเสนอไม่ทันเวลา จึงพลาดโอกาส เช่น ตกรอบการแข่งขัน โดนหักคะแนน ไม่ได้รับเงินลงทุน

ส่วนใหญ่ต้องซ้อมมากกว่า 5 ครั้งขึ้นไป บางคนซ้อมเป็นสิบครั้ง จึงจะนำเสนอได้ไม่เกินเวลา พูดอย่างมั่นใจ ไม่ตะกุกตะกัก ไม่ลืมบทพูด

ถ้ามีเวลานำเสนอน้อย ยิ่งต้องให้เวลาในการฝึกซ้อมมาก ๆ

เพราะไม่มีการนำเสนอที่ให้เวลาน้อยเกินไป มีแต่ผู้นำเสนอที่เตรียมตัวมาน้อยเกินไปครับ

ภาพจากผู้เขียนบทความ

3. โฟกัสเรื่องที่เราถนัด

เราควรยอมรับว่า เก่งทุกเรื่องไม่ได้

คงมีเรื่องที่เราถนัดหรือเก่งแค่ไม่กี่เรื่องเท่านั้น

การโฟกัสในเรื่องที่เราถนัด จะทำให้เรามีพลังงานในการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนเรื่องที่เราไม่ถนัด ก็หาคนอื่นมาช่วย

หรือถ้าจำเป็นจริง ๆ ก็ต้องเรียนรู้ แต่ไม่ต้องคาดหวังว่า จะเก่งเท่าเรื่องที่เราถนัดครับ

ภาพจากผู้เขียนบทความ

4. กดลิฟต์ชั้นไหน

เรามักได้ยินประโยคว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น”

แต่มีหลายครั้งที่ “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายามก็ยังอยู่ที่นั่น”

การฝืนทำต่อไปในบางเรื่อง จะไม่มีประโยชน์ มีแต่เสียเวลา เสียกำลังใจ

การเลิกล้มหรือการหยุดอาจเป็นการตัดสินใจที่ดีกว่ามาก

ไม่มีใครทราบดีกว่าตัวคุณว่า ควรไปต่อหรือล้มเลิก

คุณเป็นผู้ตัดสินใจเองว่า จะกดลิฟต์ไปชั้นไหนครับ

ภาพจากผู้เขียนบทความ

5. ไอเดียดี ๆ เหมือนยาแก้ปวด

มีข้อความจากบทที่ 4.1 ของหนังสือ “Build” ของ Tony Fadell ที่ผมกำลังอ่านและชอบมากเป็นพิเศษ

“ไอเดียเจ๋งที่สุดคือ ยาแก้ปวด ไม่ใช่วิตะมิน”

เพราะถ้าเราไม่ได้กินยาแก้ปวดเวลาเกิดอาการ จะรู้สึกได้ทันที

ส่วนวิตะมินนั้น ทานก็ได้ ไม่ทานก็ได้ ถึงไม่ทานสัก 2–3 วันหรือสัปดาห์หนึ่ง ก็ยังไม่เห็นผลอะไร

เวลาหาไอเดียที่โดนใจคน จึงควรเลือกไอเดียที่แก้ปัญหาให้คนจำนวนมาก เหมือนเป็นยาแก้ปวดนั่นเองครับ

ภาพจากผู้เขียนบทความ

6. เวลาเรียนและเวลาดู

ผมมีคอร์สออนไลน์ที่อยากเรียนมากมาย แต่เวลาเรียนแต่ละวันช่างน้อยนิด

ส่วนหนังสตรีมมิงที่อยากดูมีไม่กี่เรื่อง กลับหาเวลาดูแต่ละวันได้เหลือเฟือ

ภาพจากผู้เขียนบทความ

7. ประโยชน์ของการอ่านไซไฟ

นิยายประเภทหนึ่งที่ผมอ่านตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบันคือ นิยายวิทยาศาสตร์หรือนิยายไซไฟ

ดูผิวเผินแล้ว นิยายไซไฟเหมือนนิยายเพ้อฝันที่อ่านฆ่าเวลาไปวัน ๆ

แต่ที่จริงแล้ว การอ่านนิยายไซไฟให้ประโยชน์หลายอย่างครับ

ภาพจากผู้เขียนบทความ

8. คำคมของเอดิสัน

“ความล้มเหลวในชีวิตหลายครั้ง เกิดจากการที่คนไม่ตระหนักว่า พวกเขาใกล้ความสำเร็จมากแค่ไหน ตอนที่พวกเขาล้มเลิก”

โธมัส เอดิสัน นักประดิษฐ์ชื่อดังชาวอเมริกัน

ภาพจากผู้เขียนบทความ

9. กิจวัตรยามเช้า

บางครั้ง ตอนเช้าในอุดมคติหรือ morning routine ที่อ่านในหนังสือ productivity ทั้งหลาย ก็แตกต่างจากความจริงอยู่บ้าง

ภาพจากผู้เขียนบทความ

10. คำคมเรื่องอัจฉริยะ

“อัจฉริยะเกิดจากพรสวรรค์ 1 เปอร์เซ็นต์ และพรแสวง 99 เปอร์เซ็นต์” โทมัส เอดิสัน นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน

ภาพจากผู้เขียนบทความ

11. จำนวนนิสิตที่เข้าห้องเรียน

โชคยังดีที่ไม่ได้มีกราฟแบบนี้ทุกวิชา

ภาพจากผู้เขียนบทความ

12. คุณค่าของไอเดีย

ไอเดียหลายเรื่องในยุคนี้ที่คนตื่นเต้นหรือเห็นเป็นเรื่องธรรมดา เคยเป็นเรื่องที่โดนต่อต้านหรือคัดค้านอย่างมากในสมัยก่อน

บางครั้ง ไอเดียที่เรานำเสนอแล้วโดนหัวเราะเยาะ เสียดสี อาจเป็นเพราะยังไม่ถึงเวลา

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ไอเดียที่โดนเยาะเย้ย ถากถาง อาจเป็นไอเดียที่คนตื่นเต้นฮือฮาก็ได้

ภาพจากผู้เขียนบทความ

13. กฎระเบียบในยุคก่อนและหลังโควิด

โควิดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในทุกด้าน รวมทั้งเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ

หลายเรื่องที่เคยเป็นกฎเกณฑ์เคร่งครัดมาก่อน ก็ถูกปรับให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ตายตัวเหมือนเดิม

โลกหลังโควิดจึงต้องการผู้ที่มีแนวคิดยืดหยุ่น ไม่ยึดติดกฎเกณฑ์เดิม ๆ และยอมปรับกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อความคล่องตัวมากขึ้นครับ

ภาพจากผู้เขียนบทความ

14. การอ่านหนังสือก่อนสอบทั้งคืน

นิสิต นักศึกษาที่ไม่เคยทบทวนบทเรียนเลย แล้วมาอดหลับ อดนอนอ่านหนังสือทั้งคืนก่อนวันสอบ อาจเกิดเหตุการณ์แบบนี้ครับ

ตอนอ่านหนังสือทั้งคืน ก็คิดว่า รู้ เข้าใจ จำเนื้อหาได้

แต่เวลาทำข้อสอบจริงๆ อาจทำไม่ได้อย่างที่คิด ทั้ง ๆ ที่เพิ่งอ่านมาเมื่อคืน

เพราะสมองไม่สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมากในเวลาสั้น ๆ โดยเฉพาะข้อมูลหรือความรู้ใหม่ที่ไม่เคยทบทวนมาก่อน อีกทั้งการอดนอนก็บั่นทอนประสิทธิภาพของสมองด้วย

ภาพจากผู้เขียนบทความ

15. สิ่งที่ได้จากการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์มากมาย

ผมเคยเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ไม่ต่ำกว่า 10 ภาษาและซอฟต์แวร์อีกนับไม่ถ้วน

ตอนนี้ไม่ได้ใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ที่เคยเรียนเกินครึ่ง เพราะมีภาษาใหม่ ๆ เยอะมาก

ดูเผิน ๆ แล้ว เหมือนเสียเวลาเปล่าในการเรียนรู้เรื่องที่อยู่ได้ไม่นาน

แต่การที่ความรู้ล้าสมัยเร็ว มีผลพลอยได้คือ ต้องฝึกตัวเองให้เรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งยิ่งสำคัญมากในยุคนี้ครับ

ภาพจากผู้เขียนบทความ

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
ธงชัย โรจน์กังสดาล

Written by ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์

No responses yet