ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างสอนการใช้งานแอปหรือซอฟต์แวร์
รวบรวมปัญหาเกี่ยวกับการสอนโปรแกรมที่เคยพบและวิธีป้องกัน
ผมสอนการใช้งานโปรแกรมต่าง ๆ ให้นิสิตคณะต่าง ๆ และบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช้นักคอมพิวเตอร์หลายครั้ง
บทความนี้เล่าประสบการณ์และปัญหาที่ผมเคยพบในการสอนโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ครับ
1. แบตโน้ตบุ๊คหรือไอแพดใกล้หมด
การสอนซอฟต์แวร์หรือแอปหลายชั่วโมง อาจทำให้แบตโน้ตบุ๊คหรือไอแพดของผู้เรียนหมดได้
ถ้าการสอนใช้เวลาไม่นาน เช่น 1–2 ชั่วโมง ผมจะบอกผู้เรียน ให้ชาร์จแบตมาให้เต็มก่อนเรียน
แต่ถ้าสอนตั้งแต่ 3 ชั่วโมงขึ้นไป ควรมีปลั๊กไฟให้ผู้เรียน เพื่อป้องกันแบตหมด โดยเฉพาะโน้ตบุ๊คที่แบตเสื่อมแล้ว แบตจะหมดเร็วมาก
ห้องเรียนบางแห่งมีปลั๊กไฟที่โต๊ะเรียน ทำให้สะดวกมาก แต่ถ้าสอนในห้องเรียนหรือห้องอบรมที่ไม่มีปลั๊กไฟ ผู้สอนหรือสถานที่อบรมก็ควรเตรียมรางปลั๊กไฟให้พร้อมและเพียงพอกับจำนวนผู้เรียน
โรงแรมบางแห่งคิดค่าใช้จ่ายรางปลั๊กไฟด้วย ดังนั้น ควรสอบถามโรงแรมว่า คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มหรือไม่
2. ไวไฟขัดข้อง
มีคาบหนึ่งในวิชา Innovative Thinking ที่ผมให้นิสิตนำโน้ตบุ๊คมาเพื่อทำกิจกรรม และต้องเข้าเว็บไซต์ภาษา Scratch
แต่วันนั้นไวไฟของจุฬาฯ ขัดข้องตั้งแต่ 11 นาฬิกา และไม่มีวี่แววว่า จะใช้ได้ในคาบบ่ายที่ผมสอน
ผมจึงแจังนิสิตทุกคนให้ใช้ไวไฟฮอตสปอทของตนเอง เพื่อเข้าเว็บไซต์ภาษา Scratch
โชคดีที่กิจกรรมในวันนั้นไม่ต้องใช้เน็ตนาน เมื่อทำกิจกรรม Scratch เสร็จแล้ว ผมจึงบอกนิสิตให้หยุดฮอตสปอทของตนเอง จะได้ไม่สิ้นเปลืองเน็ต
ถ้าสอนโปรแกรมที่ใช้เน็ตนาน ๆ ควรเตรียมแผนสำรองเผื่อกรณีที่ไวไฟใช้ไม่ได้ครับ
3. ใช้แอปที่มีในระบบเดียว เช่น ไอโฟนหรือแอนดรอยด์เท่านั้น
เวลาเลือกแอปบนสมาร์ตโฟนมาสอน ควรเลือกแอปที่ทำงานได้ทั้งไอโอเอสและแอนดรอยด์ เพราะผู้เรียนมีความหลากหลาย
ถ้าเราเลือกแอปที่ทำงานได้บนไอโฟนอย่างเดียว ผู้ใช้แอนดรอยด์ก็จะเรียนไม่ได้ หรือถ้าเราเลือกแอปที่มีในแอนดรอยด์เท่านั้น ผู้ใช้ไอโฟนก็เรียนไม่ได้
แต่ถ้าผู้เรียนทุกคนมีไอโฟน ไอแพดหรือแอนดรอยด์อยู่แล้ว ก็สามารถสอนแอปที่มีเฉพาะในระบบปฏิบัติการนั้นได้ เช่น ผู้สอนแจ้งว่า คอร์สนี้สำหรับผู้ใช้ไอโฟนเท่านั้น
4. ผู้เรียนไม่อัพเดทระบบปฏิบัติการในสมาร์ตโฟน
ผมเคยให้ผู้เรียนติดตั้งแอปตัวหนึ่งในสมาร์ตโฟน ปรากฏว่า มีผู้เรียนคนหนึ่งติดตั้งแอปตัวนั้นไม่ได้ เพราะเธอไม่เคยอัพเดทไอโอเอสเลย แอปซึ่งใหม่กว่า จึงไม่สามารถทำงานในไอโอเอสรุ่นเก่าได้
ผมจึงรีบบอกผู้เรียนทุกคนว่า ขอให้รีบอัพเดทระบบปฏิบัติการโดยด่วน ไม่ว่าจะเป็นไอโอเอสหรือแอนดรอยด์
เพราะนอกจากทำให้แอปรุ่นใหม่ทำงานได้แล้ว ยังช่วยป้องกันปัญหาด้านระบบความปลอดภัยด้วย เพราะระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่จะแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยที่เคยพบในรุ่นเก่า
แต่การอัพเดทระบบปฏิบัติการมักใช้เวลานาน จึงควรทำที่บ้านหรือก่อนเรียน จะดีที่สุด
5. ผู้เรียนไม่ได้ติดตั้งโปรแกรมล่วงหน้า
การใช้งานโปรแกรมหรือแอปบางตัวควรแจ้งให้ผู้เรียนติดตั้งล่วงหน้า เพื่อที่ว่า จะได้สอนทันที ไม่ต้องรอให้ผู้เรียนมาติดตั้งโปรแกรมระหว่างการสอน
เช่น ตอนที่ผมสอนคอร์ส “การสร้าง Second Brain ด้วย Obsidian” จะบอกนิสิตหรือผู้เรียนให้ติดตั้งโปรแกรม Obsidian ก่อนมาเรียน
แต่ถ้าบางคนไม่ทราบหรือไม่ติดตั้งโปรแกรมมาก่อน เวลาสอนการใช้งานโปรแกรมก็อาจตามคนอื่นไม่ทัน เพราะเพิ่งมาติดตั้งโปรแกรมในขณะที่วิทยากรเริ่มสอนการใช้งานโปรแกรมแล้ว
วิธีแก้ไขคือ ก่อนสอน 5 นาทีหรือระหว่างคอยผู้เรียนคนอื่น ก็แจ้งผู้เรียนว่า ใครที่ยังไม่ได้ติดตั้งโปรแกรม ขอให้รีบติดตั้งโปรแกรมทันที
6. ผู้เรียนไม่ได้ sign-up หรือสร้าง account ล่วงหน้า
เว็บไซต์จำนวนมากต้องให้ผู้ใช้งาน sign-up หรือสมัครเป็นสมาชิกก่อนจึงจะใช้งานได้ ซึ่งเดี๋ยวนี้เว็บไซต์จำนวนมากสมัครใช้งานด้วย Facebook หรือ Google จึงสะดวกมาก
แต่ผมเคยพบเหตุการณ์ที่ผู้เรียนบางคนจำรหัสผ่าน Facebook ไม่ได้ หรือไม่ต้องการใช้ Facebook ในการสมัคร ก็แจ้งผู้เรียนให้สมัครสมาชิกด้วยการสร้าง account ใหม่
7. หน้าจอในเว็บไซต์และแอปไม่เหมือนกัน
หลายโปรแกรมที่ผมสอนมีทั้งเว็บไซต์และแอป เช่น Medium ซึ่งเป็นเว็บไซต์เขียนบทความ, Notion ซึ่งเป็นเว็บไซต์ช่วยการทำงานที่หลากหลาย
เวลาผมสอนซอฟต์แวร์เหล่านี้ จะสอนการใช้งานบนเว็บไซต์ในโน้ตบุ๊ค เพราะทุกคนที่เปิดเว็บไซต์จะเห็นหน้าตาเหมือนกัน
แต่แอปจะมีหน้าตาต่างจากเว็บไซต์ บางแอปยังมีหน้าตาที่ต่างกันทั้งในไอโอเอสและแอนดรอยด์ด้วย
ส่วนใหญ่ผมไม่ค่อยสอนการใช้งานบนแอป เพราะเวลาไม่พอ จะเน้นการใช้งานบนเว็บไซต์เป็นหลัก แล้วแนะนำผู้เรียนให้ลองหัดใช้แอปด้วยตนเอง หลังจากที่เข้าใจการทำงานบนเว็บไซต์แล้วครับ
8. โปรแกรมในวินโดวส์และแมคทำงานไม่เหมือนกัน
ในกรณีที่สอนการใช้โปรแกรมที่ต้องติดตั้งบนโน้ตบุ๊ค ปัญหาที่พบคือ บางคำสั่งในวินโดวส์และแมคไม่เหมือนกัน หรือหน้าตาโปรแกรมแตกต่างกัน
ส่วนใหญ่แล้ว คำสั่งในวินโดวส์ที่ใช้ control ก็ใช้ command ในเครื่องแมคแทนได้ แต่อาจมีบางคำสั่งที่ต่างกันมากในแมคและวินโดวส์ ซึ่งผู้สอนที่ไม่ถนัดระบบปฏิบัติการอื่นอาจลองค้นหาในเน็ต หรือให้ผู้เรียนที่คล่องช่วยหาคำตอบให้ครับ
9. ผู้เรียนไม่มีโน้ตบุ๊ค มีแค่ไอแพด
ไอแพดเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้สำหรับนิสิต นักศึกษายุคนี้แล้ว ลูกศิษย์ผมบางคนไม่มีคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊ค มีแค่ไอแพดเครื่องเดียว
ถ้าผู้เรียนใช้ไอแพด เวลาสอนการใช้งานโปรแกรมบนเว็บไซต์ ก็บอกผู้เรียนให้เปิด Safari หรือ Chrome ในไอแพด ก็ใช้งานได้เหมือนบนโน้ตบุ๊ค
แต่ถ้าสอนโปรแแกรมที่ต้องพิมพ์ตัวอักษรเยอะๆ เช่น Obsidian ซึ่งต้องติดตั้งเป็นแอปในไอแพด ผมจะบอกผู้เรียนให้นำแป้นพิมพ์มาด้วย เพื่อจะได้พิมพ์ข้อความได้สะดวก
10 . พื้นฐานความรู้ของผู้เรียนเกี่ยวกับโปรแกรมที่สอน
บางโปรแกรมใหม่มาก แทบไม่มีใครรู้จักมาก่อน เช่น Obsidian ในกรณีนี้สอนง่ายตรงที่ว่า ผู้เรียนทุกคนไม่รู้จัก Obsidian เลย ก็สอนตั้งแต่ระดับพื้นฐานได้
บางโปรแกรมเช่น Medium อาจมีผู้รู้จักบ้างเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่ไม่เคยใช้มาก่อน ผมก็เตรียมเนื้อหาตั้งแต่พื้นฐานเช่นกัน
เช่น ข้อมูลข้างล่างมาจากแบบสอบถามผู้เรียนในคอร์ส Medium ที่ผมสอนต้นเดือนพฤษภาคม 2566 ว่า เคยมีใครเขียนบทความใน Medium บ้าง จะเห็นว่า ผู้เรียนส่วนใหญ่ไม่เคยเขียนบทความใน Medium
แต่ผมเคยสอนบางโปรแกรม แล้วมีผู้เรียนให้ความเห็นว่า ง่ายเกินไป เพราะทราบอยู่แล้ว หรือบางโปรแกรมก็รู้จักกันอย่างแพร่หลายแล้ว ผู้สอนควรเน้นที่ความสามารถชั้นสูง ไม่ต้องปูพื้นฐานอีก
การทำแบบสอบถามว่า ผู้เรียนเคยรู้จักโปรแกรมที่จะเรียนหรือไม่ จะช่วยให้ผู้สอนวางแผนเนื้อหาได้อย่างเหมาะสม
11. ผู้เรียนตามเนื้อหาไม่ทัน
บางครั้งเนื้อหายากหรือเร็วจนกระทั่งผู้เรียนบางคนตามไม่ทัน หรือผู้เรียนบางคนเข้าห้องสายหลังจากที่สอนการใช้งานโปรแกรมไปบ้างแล้ว
ผู้สอนควรเช็คความเข้าใจของผู้เรียนเป็นระยะ ๆ ว่าตามทันหรือไม่ ถ้าผู้เรียนบางคนติดปัญหา ก็เข้าไปดูเพื่อช่วยแก้ไข
ถ้าผู้เรียนมาสาย ก็ควรให้นั่งกับเพื่อนหรือคนเรียนที่มีความคล่องหรือเชี่ยวชาญ เพื่อให้เพื่อนช่วยแนะนำให้
การมีผู้ช่วยสอนจะช่วยแก้ปัญหาได้มาก
หลายปัญหาที่กล่าวในบทความนี้แก้ไขหรือป้องกันได้ด้วยการมีผู้ช่วยวิทยากร ผู้ช่วยสอน หรือทีเอ (TA คือ Teaching Assistant ผู้ช่วยสอน)
ตอนที่ผมสอนคอร์ส Second Brain ในโครงการ CUVIP ก็รับสมัครนิสิต 2 คนที่ใช้ Obsidian คล่องมาเป็นผู้ช่วยผม เพราะคอร์ส Second Brain มีผู้เรียน 30 กว่าคน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้ช่วย
ผมบอกนิสิตผู้ช่วยให้มาก่อนเวลาสอนครึ่งชั่วโมง เมื่อมีผู้เรียนเดินเข้ามาในห้อง ก็เข้าไปถามว่า ติดตั้ง Obsidian แล้วยัง ถ้าผู้เรียนยังไม่ได้ติดตั้ง Obsidian ก็บอกให้ติดตั้ง Obsidian ทันที และอธิบายการใช้งานไวไฟของจุฬาฯ
ผมแจ้งผู้เรียนว่า ถ้ามีปัญหาระหว่างการเรียน ให้ยกมือได้เลย ผู้ช่วยสอนจะเข้าไปดูและช่วยแก้ไขปัญหาให้ ถ้าปัญหาเรื่องไหนแก้ไขไม่ได้ ผมจะเข้าไปดูเอง
วิธีนี้ช่วยแบ่งเบาภาระผมได้มาก เพราะโฟกัสการสอนได้อย่างเต็มที่ ผู้ช่วยจะคอยแก้ปัญหาเล็กน้อยให้ผมครับ
เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่