ทำไมคุณควรใช้โปรแกรม Obsidian สร้าง Second Brain

เหตุผลที่ผมเชียร์ให้ทุกคนทดลอง Obsidian

ภาพถ่ายโดย Gustavo Fring จาก Pexels: https://www.pexels.com/th-th/photo/3874109/

แนวคิดเรื่อง Second Brain, PKM (Personal Knowledge Management) และการจดโน้ต กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้

โปรแกรมจดโน้ตที่ผมสร้าง PKM หรือ Second Brain ส่วนตัวคือ Obsidian.md ซึ่งรู้จักประมาณ 2 ปีแล้ว

บทความนี้จะเล่าเหตุผลที่คุณควรเลือก Obsidian เป็นโปรแกรมจดโน้ตประจำตัวหรือสร้าง Second Brain ครับ

โลโก้ของโปรแกรม Obsidian

จุดเด่นของ Obsidian

Credit : Obsidian.md

1. ฟรี

ถ้าผมจะสอนโปรแกรมจดโน้ตตัวไหนก็ตาม ปัจจัยแรกที่ผมคิดคือ เสียค่าใช้จ่ายเท่าไร เพราะถ้าต้องให้ผู้เรียนจ่ายเงินซื้อโปรแกรมมาเรียนล่ะก็ คงไม่มีใครเรียนแน่

Obsidian เป็นโปรแกรมที่ทุกคนใช้ได้ฟรี ใช้ความสามารถทั้งหมดของ Obsidian ได้เต็มที่ โดยไม่ต้องห่วงว่า ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อใช้ความสามารถพรีเมียม

เมื่อผมสอนหลักสูตร Digital Note Taking, Smart Note หรือ Second Brain ให้นิสิตหรือบุคคลทั่วไป Obsidian จึงเป็นทางเลือกแรกที่ผมนึกถึงก่อนโปรแกรมอื่น

Credit : Obsidian.md

2. ทำงานในทุกระบบปฏิบัติการและมีแอป

ไม่ว่าคุณจะใช้ระบบปฏิบัติการอะไรก็ตาม เช่น Windows, Mac, iOS, Andriod หรือ Linux ก็ติดตั้ง Obsidian ได้ทั้งนั้น

ตรงนี้เป็นจุดเด่นมากของ Obsidian เพราะโปรแกรมจดโน้ตหลายตัวยังไม่มีแอป บางตัวทำงานได้บนเว็บบราวเซอร์เท่านั้น บางโปรแกรมทำงานได้เฉพาะเครื่องแมคเท่านั้น

แต่ Obsidian มีแอปที่ทำงานในสมาร์ตโฟนได้ด้วย ทำให้ใช้งานสะดวกมาก ไม่ต้องยึดติดกับระบบใดระบบหนึ่ง

Credit : Obsidian.md

3. ทำงานเร็วและไม่ต้องต่อเน็ต

Obsidian ทำงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์โดยตรง โดยไม่ต้องต่อเน็ต จึงทำงานได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาคอยเน็ตหรือโหลดหลายวินาทีกว่าจะใช้งานได้ ต่างจากโปรแกรมจดโน้ตหลายตัวที่ต้องต่อเน็ตหรือทำงานบนคลาวด์เท่านั้น

Obsidian จึงทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ตัองห่วงว่าเน็ตหลุด เน็ตหมด เน็ตช้า

Credit : Obsidian.md

4. ข้อมูลเก็บที่เครื่องของผู้ใช้ ไม่ได้เก็บในคลาวด์

นี่ก็เป็นจุดโดดเด่นมากอีกอย่างของ Obsidian คือ โน้ตทั้งหมดเก็บใน folder ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของเราเอง ไม่ได้เก็บในคลาวด์

ไฟล์ที่ Obsidian สร้างก็เป็นไฟล์ข้อความธรรมดา ไม่ได้มีรูปแบบไฟล์พิเศษ ทำให้เปิดได้ในคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง

คุณจะทำอะไรกับโน้ตก็ได้ ถึงแม้ว่าในอนาคต Obsidian จะไม่มีแล้ว หรืออาจมีโปรแกรมที่เจ๋งกว่า ทำให้คุณเลิกใช้ Obsidian ก็ไม่ต้องห่วง เพราะการย้ายโน้ตทั้งหมดของคุณไปยังโปรแกรมตัวอื่น ทำได้สบายมาก

Obsidian จึงประกาศในเว็บไซต์ว่า โน้ตที่คุณสร้าง ส่งต่อได้ถึงรุ่นหลาน

Credit : Obsidian.md

5. ปรับแต่งได้ด้วย Plugin และ Theme จำนวนมาก

Obsidian มีความสามารถพื้นฐานหลายอย่างที่ติดมากับโปรแกรมอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณต้องการความสามารถบางอย่างที่ Obsidian ไม่มี ก็ค้นหา Plugin ที่มีผู้พัฒนาจำนวนมากให้คุณใช้ฟรี

ตัวอย่าง Plugin เช่น Mind map, Table, การวาดรูป ,ปฏิทิน เป็นต้น

ขณะที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ มี 660 community plugin แล้ว และเพิ่มเรื่อย ๆ ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ถ้าคุณรู้สึกว่าหน้าตาของ Obsidian ยังไม่ถูกใจ ก็เปลี่ยนหน้าตาของ Obsidian ได้ด้วย theme ต่าง ๆ ที่มีมากมาย

ถ้าคุณเขียน CSS เป็น ก็สร้าง theme หรือ plugin ด้วยตนเองได้เลย

Credit : Obsidian.md

6. มีกลุ่มผู้ใช้จำนวนมาก

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการเลือกใช้โปรแกรมอะไรก็ตาม คือ มีผู้ใช้มากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าโปรแกรมนั้นมีผู้ใช้แค่หยิบมือเดียว อนาคตก็จะดูริบหรี่

โชคดีที่ Obsidian ไม่ใช่อย่างนั้น มีกลุ่มผู้ใช้ Obsidian จำนวนมาก และมีคลิปในยูทูบสอน Obsidian มากมาย ไม่ว่าคุณจะอยากรู้อะไรเกี่ยวกับ Obsidian ก็มีคนยินดีตอบหรือมีวิดีโอสอนเรื่องนั้นในยูทูบ

ไม่มีใครการันตีได้ว่า Obsidian จะอยู่ตลอดไป แต่อย่างน้อยตอนนี้ Obsidian ยังมีอนาคตที่สดใส เพราะมีผู้ใช้จำนวนมาก Obsidian คงยังไม่จอดง่าย ๆ

รูปนี้สรุปจุดเด่นของ Obsidian ที่กล่าวในบทความครับ

จุดสังเกตของ Obsidian

ถ้าพูดข้อดีของ Obsidian อย่างเดียวโดยไม่พูดถึงจุดด้อยหรือข้อเสียเลย ก็จะดูมีอคติเกินไป

นี่คือประเด็นต่าง ๆ ที่ Obsidian ยังต้องปรับปรุง

1.ใช้เวลาในการเรียนรู้

Obsidian ไม่ใช่โปรแกรมที่ใช้ง่ายซะทีเดียว ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้บ้าง ผมเองก็ดูคลิปต่าง ๆ ในยูทูบ ศึกษาด้วยตนเองจากคอร์สออนไลน์ ใช้เวลาพอสมควร กว่าที่จะเข้าใจและใช้งานได้คล่อง

แต่เมื่อใช้ Obsidian เป็นแล้ว ก็สนุกกับการใช้งานมาก

2. ยังใช้งานร่วมกันไม่ได้

Obsidian เป็นโปรแกรมจดโน้ตหรือทำ PKM ส่วนตัว ไม่เหมาะสมกับการทำงานร่วมกันหลาย ๆ คน ซึ่งต่างจากแอปจดโน้ตบางตัว เช่น Notion ที่หลายคนมาทำงานร่วมกันได้

ผมเชื่อว่า ในอนาคต Obsidian คงมี Plugin หรือเพิ่มความสามารถด้านการทำงานร่วมกันอย่างแน่นอน เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ Obsidian หลายคนเรียกร้อง

3. การ sync ทำเองได้ยาก ถ้าไม่จ่ายเงิน

ถ้าคุณใช้ Obsidian ในหลายเครื่อง เช่น พีซี โน้ตบุ๊ค ไอแพด สมาร์ตโฟน และต้องการ sync ข้อมูลให้ตรงกันทุกเครื่อง Obsidian มีบริการ sync ข้อมูลระหว่างเครื่องที่สะดวกมาก โดยเสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 8 ดอลลาร์

ถ้าคุณไม่อยากจ่ายเงิน อยาก sync ข้อมูลด้วยตนเอง ก็ทำได้ด้วยตัวเองโดยใช้บริการอื่น เช่น iCloud หรือ Git แต่ก็ไม่ง่ายซะทีเดียว ต้องมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์พอสมควรครับ

คลิปแนะนำจุดเด่นของ Obsidian

มีวิดีโอคลิปสอน Obsidian ในยูทูบมากมาย แต่ผมขอแนะนำคลิปนี้เป็นพิเศษ คือ

Optimal Note Taking Framework for all subjects using Obsidian

หนึ่งนาทีแรกของคลิปนี้ แนะนำความสามารถของ Obsidian แบบอลังการมาก

ถ้าคุณสนใจเรื่อง Obsidian, PKM, Second Brain กรุณา follow ผมใน Medium หรือสมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับบทความทางอีเมล เพราะผมจะเขียนบทความแนวนี้อีกหลายครั้งในอนาคตครับ

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์