ถอดบทเรียนจาก MOOC อันดับ 3 ของโลก

Credit : Pexels.com

MOOC หรือ Massive Open Online Course คือคอร์สออนไลน์ที่มหาวิทยาลัยทั่วโลกกำลังสนใจกันมาก เพราะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เข้ามาเรียนได้ โดยไม่ต้องเดินทางมาเรียนในมหาวิทยาลัย เป็นการเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์อย่างดี

วันพฤหัสที่ 7 มีนาคม 2562 มีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยชิงหัวหรือชิงหวา (Tsinghua University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนมาบรรยายเรื่อง MOOC และ Blended Learning ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผมจึงไม่พลาดโอกาสที่จะไปฟัง เพราะกำลังทำ MOOC ของตนเอง จึงสรุปสิ่งที่เรียนรู้จากการบรรยายช่วงเช้าในบทความนี้ครับ

MOOC ของมหาวิทยาลัยชิงหวา

ดร.ยูซึ่งเป็นผู้อำนวยการของ Online Education Office มหาวิทยาลัยชิงหวาเป็นผู้บรรยายในช่วงเช้า

มหาวิทยาลัยชิงหวาก่อตั้งในปีค.ศ. 1911 และเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ถ้ากล่าวถึง MOOC แล้ว คนส่วนใหญ่มักนึกถึง Coursera หรือ edX ซึ่งเป็น MOOC ที่คนรู้จักทั่วโลก มหาวิทยาลัยชิงหวาก็สนใจ MOOC เช่นกัน และทำ MOOC ของตนเองชื่อ XuetangX ในปีค.ศ. 2013

สถิติผู้เรียนของ MOOC ในปี 2018 สูงสุด 3 อันดับแรกคือ

อันดับ 1 Coursera มีผู้เรียน 37 ล้านคน

อันดับ 2 edX มีผู้เรียน 18 ล้านคน

อันดับ 3 XuetangX มีผู้เรียน 14 ล้านคน

ดังนั้น XuetangX ซึ่งเป็น MOOC ของมหาวิทยาลัยชิงหวาจึงมีผู้เรียนมากเป็นอันดับ 3 ของโลกครับ

ดร.ยู กำลังบรรยาย

กว่าจะเป็น XueTangX

ถึงแม้ว่า MOOC จะเป็นแนวคิดที่ดีเพียงใดก็ตาม แต่การชักชวนอาจารย์ให้ทำ MOOC ในช่วงเริ่มต้น ก็ไม่ง่ายนัก เพราะอาจารย์หลายคนยังไม่เห็นประโยชน์และคิดว่าเสียเวลา

ชิงหวาจึงใช้หลายวิธีในการจูงใจและช่วยเหลืออาจารย์ เช่น ลดภาระงานสอนให้อาจารย์ที่สอน MOOC , มีเจ้าหน้าที่ช่วยสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่ , มีงบประมาณให้เต็มที่

ในที่สุด XuetangX ก็มี MOOC ประมาณ 1,700 คอร์ส ซึ่งผู้อ่านดูได้ที่เว็บไซต์ http://www.xuetangx.com/global

ดร.ยู เล่าว่า มีอาจารย์คนหนึ่งที่สอน MOOC กำลังยืนในรถไฟใต้ดินที่แน่นขนัด ปรากฎว่า มีคนหนึ่งลุกให้อาจารย์นั่ง บอกว่า “ผมเรียน MOOC กับอาจารย์ครับ” ทำให้อาจารย์ประทับใจมาก และปลื้มที่มีผู้เรียนจำตนเองได้

ตัวอย่างคอร์สที่สอนใน XuetangX

ตัวอย่างคอร์สใน XuetangX ที่ดร.ยูเล่า เช่น

  • Relics in Chinese History ถ่ายทำในสถานที่ต่างๆ ของประเทศจีน ใช้เงินลงทุนมหาศาลในการถ่ายทำ ทำให้ผู้เรียนได้เห็นสถานที่จริง ไม่ใช่แค่เห็นในสไลด์เท่านั้น
  • Core Technology of Big Data Platform ซึ่งร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญของ Alibaba
  • Conversational English Skills วิชาสนทนาภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นคอร์สที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคอร์สหนึ่ง

และขณะนี้ กำลังมีการใช้ VR (Virtual Reality) มาร่วมกับ MOOC แล้ว

การทำงานของ Rain Classroom

Rain Classroom : ห้องเรียนในสายฝน

Rain classroom คือวิธีการสอนของมหาวิทยาลัยชิงหวาที่นำการเรียนในห้องเรียนมารวมกับการเรียนออนไลน์ เรียกว่า Blended Learning

ถ้าดูรูปข้างบน ข้อมูลต่างๆ เก็บในก้อนเมฆหรือ cloud ส่วนสายฝนคือบทเรียนที่ส่งมาหาผู้เรียน

Rain classroom เป็นการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว เช่น

  • ไวไฟ
  • สมาร์ตโฟนของผู้เรียน
  • พาวเวอร์พอยต์
  • แอป Wechat ซึ่งเป็นแอปยอดนิยมของคนจีน
โลโก้ของ WeChat

เนื่องจากผู้เรียนเกือบทุกคนมีสมาร์ตโฟนอยู่แล้ว อาจารย์จะส่งบทเรียนหรือสไลด์พาวเวอร์พอยต์ให้ทาง WeChat ซึ่งเป็นพาวเวอร์พอยต์ที่ปรับขนาดมาให้เหมาะกับการอ่านในมือถือ เรียกว่า Vertical Slide

พาวเวอร์พอยต์ที่ปรับขนาดให้เหมาะกับการอ่านในมือถือเป็นเรื่องที่ผมไม่เคยนึกถึงมาก่อน เพราะพาวเวอร์พอยต์ทั้งหมดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามแนวนอน ซึ่งเหมาะกับการอ่านบนจอคอมพิวเตอร์

แต่สมาร์ตโฟนเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง ดังนั้น การทำสไลด์แนวตั้งเพื่อให้อ่านในมือถือได้สะดวก จึงเป็นแนวคิดที่น่าลองทำครับ

เมื่อผู้เรียนได้รับสไลด์ทางมือถือแล้ว ก็อ่านสไลด์ล่วงหน้าก่อนเข้าเรียน ถ้าไม่เข้าใจสไลด์หน้าไหน ก็คลิก unclear ในสไลด์ที่ไม่เข้าใจ

Rain Classroom จึงทดสอบและวัดความเข้าใจของผู้เรียนได้ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่เฉพาะในเวลาสอบเท่านั้น

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
ธงชัย โรจน์กังสดาล

Written by ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์

No responses yet