คินเดิลน่าอ่านในครึ่งปีแรกของ 2019

แนะนำหนังสือคินเดิลน่าสนใจที่ผมอ่านในครึ่งปีแรกของ 2019

Credit: Pexels.com

เป็นธรรมเนียมของผมที่จะแนะนำหนังสือคินเดิลน่าอ่านในเดือนธันวาคมของแต่ละปี แต่ครั้งนี้ขอฉีกกรอบตัวเอง ด้วยการแนะนำหนังสือน่าอ่านในครึ่งปีแรก เนื่องจากผมอ่านหนังสือน่าสนใจหลายเล่มในครึ่งปีแรกของ 2019 อดใจไม่ไหวที่จะคอยถึงปลายปี อยากแนะนำให้รู้จักตั้งแต่ตอนนี้ เผื่อใครสนใจเล่มไหน จะได้ไปหาอ่านครับ

1. “Coders: The Making of a New Tribe and the Remaking of the World” by Clive Thompson

Coders เป็นหนังสือเล่าชีวิตของโค้ดเดอร์หรือโปรแกรมเมอร์ในแง่มุมต่างๆ เช่น ชีวิตการทำงาน วิธีคิด ปัญหาชีวิต ความท้าทายต่างๆ ของโค้ดเดอร์ตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน

คุณ Thompson ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้สัมภาษณ์โค้ดเดอร์เกือบ 200 คน และมีเรื่องราวเกี่ยวกับโค้ดเดอร์จำนวนมาก เช่น ผู้คิดอัลกอริทึม Newsfeed ของ Facebook ซึ่งกลายเป็นอัลกอริทึมที่มีผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์เกือบทั้งโลก , โปรแกรมเมอร์ที่คิดค้นซอฟต์แวร์ดังๆ หลายตัว, โค้ดเดอร์เก่งขั้นเทพ เขียนโปรแกรมเก่งกว่าคนอื่นหลายเท่า หรือที่เรียกว่า 10X Coder

แต่โค้ดเดอร์ที่ผมประทับใจที่สุดในเล่มนี้ ไม่ใช่ 10X Coder ที่เก่งขั้นเทพ แต่เป็น 1X Coder ที่มีฝีมือธรรมดา แต่สร้างซอฟต์แวร์ที่โด่งดังทั่วโลกชื่อ คุณ Dennis Crowley ซึ่งเป็นผู้คิดค้น Foursquare และผมได้เขียนบทความเล่าเรื่องของคุณ Crowley อย่างละเอียดในบทความเรื่อง “เขียนโปรแกรมไม่เอาไหน ก็ทำซอฟต์แวร์ดังได้

สิ่งที่ผมประหลาดใจมากที่สุดเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้คือ การเหยียดหยามทางเพศในวงการคอมพิวเตอร์ สถิติบอกว่า ผู้หญิงเรียนคอมพิวเตอร์ในสหรัฐน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับสาขาอื่นที่มีผู้หญิงเรียนมากขึ้น

ผมอ่านเล่มนี้แล้วตกใจมากที่ทราบว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีระดับโลกที่เรารู้จักกันดี มีการคุกคามหรือเหยียดเพศหญิงมากในที่ทำงาน โค้ดเดอร์ผู้หญิงทำงานในบริษัทเหล่านี้บอกว่า การร้องไห้ในห้องน้ำสัปดาห์ละครั้งเป็นเรื่องธรรมดามาก และการพูดจาดูถูกเหยียดหยามความสามารถโค้ดเดอร์ผู้หญิงก็เกิดขึ้นบ่อยมาก

เรื่องตลกไม่ออกเกี่ยวกับโค้ดเดอร์คือ นักคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่พูดจาภาษามนุษย์หรือสื่อสารกับคนอื่นไม่ค่อยได้ เพราะนักคอมพิวเตอร์ถูกฝึกฝนมาให้คิดแบบเป็นตรรกะหรือขั้นตอนอย่างมาก ใครที่เคยเขียนภาษาคอมพิวเตอร์ก็คงทราบว่า เราต้องระบุทุกอย่างในคำสั่งคอมพิวเตอร์แบบถูกต้องเป๊ะๆ ผิดพลาดไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว

เมื่อโค้ดเดอร์ใช้วิธีคิดแบบคอมพิวเตอร์ไปคุยกับคนทั่วไป ก็เกิดปัญหาแน่นอน ผมอ่านบทนี้ ก็ขำไปด้วย เพราะนึกถึงตัวเองในสมัยก่อนที่พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง (ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่บ้าง)และลูกศิษย์หลายคนที่เหมือนโค้ดเดอร์ในหนังสือเล่มนี้ แต่หนังสือเล่มนี้กล่าวว่า เมื่อทำงานถึงจุดๆ หนึ่งแล้ว ทักษะในการสื่อสาร การทำงานเป็นทีมจะสำคัญมากขึ้น โค้ดเดอร์ที่สื่อสารกับคนทั่วไปไม่รู้เรื่องหรือทำงานเป็นทีมไม่ได้ จะทำงานได้ลำบาก

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบในหนังสือเล่มนี้คือ วิธีคิดที่แตกต่างกันของโปรแกรมเมอร์แบบเดิมที่เขียนคำสั่งอย่างละเอียดให้โปรแกรมทำงานตามที่ต้องการ กับโค้ดเดอร์ยุคเอไอที่ไม่ได้เขียนโปรแกรมอย่างละเอียด แต่ “ปรับแต่ง Neural Network หรือ Deep Learning” ให้รู้จักข้อมูลต่างๆ และเรียนรู้ด้วยตัวมันเองเหมือนคนปลูกต้นไม้ โดยที่โค้ดเดอร์ยุคเอไอก็อาจไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่า เอไอทำงานได้อย่างไร

ผู้ที่ทำงานในวงการคอมพิวเตอร์โดยตรง หรือเกี่ยวข้องกับวงการคอมพิวเตอร์หรือทำงานกับนักคอมพิวเตอร์ ควรอ่านเล่มนี้ จะเข้าใจโค้ดเดอร์ โปรแกรมเมอร์ นักคอมพิวเตอร์ขึ้นมากครับ

แต่ถ้ายังไม่มีเวลาอ่าน Coders หรืออยากรอฉบับแปลไทยก่อน ผมแปลและสรุปบทความของคุณ Thompson ที่เล่าข้อคิดในการหัดเขียนโปรแกรมด้วยตนเองตอนอายุเกือบ 50 ซึ่งกลายเป็นบทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดของผมใน Medium แล้วในขณะนี้ คือ “บทเรียน 10 ข้อจากคนอายุเกือบ 50 ที่หัดเขียนโปรแกรมด้วยตนเอง” อ่านบทความนี้จบแล้ว เชื่อว่า จะมีไฟอยากเรียนการเขียนโปรแกรมทันทีครับ !

2. “Range : How Genearlists Triumph in a Specialized World” by David Epstein

หนังสือเล่มนี้ “Range: Why Generalists Triumph in a Specialized World “ เหมาะกับพ่อแม่ที่กำลังเลือกเส้นทางให้ลูก , ผู้ที่กำลังสับสนกับชีวิตว่า จะทำอาชีพหรืองานอะไรกัน หรือผู้ที่รู้สึกว่า ตัวเองเริ่มต้นช้ากว่าคนอื่น

Range เพิ่งออกสิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งผมพรีออเดอร์เล่มนี้ เพราะคุณ Ryan Holiday นักเขียนหนังสือชื่อดังได้แนะนำเล่มนี้ใน mailing list ของเขา

Range อธิบายว่า หนังสือ Outliers ของมัลคอล์ม แกลดเวลล์ เรื่องการฝึกฝน 10,000 ชั่วโมง อาจไม่เหมาะกับทุกสถานการณ์เสมอไป

สภาพแวดล้อมมี 2 แบบคือ

  1. แบบ “กรุณา” มีกติกาแน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง วัดผลได้ง่าย เช่น กีฬา หมากรุก ดังนั้น การส่งเสริมเด็กให้เก่งด้านใดด้านหนึ่งไปเลย จะเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมแบบนี้ ตราบใดที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทฤษฎี 10,000 ชั่วโมงใช้การได้กับคนเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น ไทเกอร์ วูดส์ ตีกอล์ฟตั้งแต่เด็ก จนเก่งในระดับสุดยอด เพราะกติกากอล์ฟแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย

2. แบบ “ดุร้าย” แต่โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กติกาอาจเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ไม่มีเป้าหมายชัดเจน ดังนั้น การฝึก 10,000 ชั่วโมงหรือเก่งตั้งแต่เด็ก จึงไม่มีประโยชน์ เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนตลอดเวลา

หนังสือเล่มนี้จึงบอกว่า บางคนอาจไม่ได้เก่งตั้งแต่เด็ก แต่ลองผิด ลองถูก ทำ sampling ประสบการณ์ต่างๆ จนแน่ใจแล้ว จึงค่อยโฟกัสด้านนั้นอย่างเต็มที่

ในโลกที่เอไอเก่งขึ้นเรื่อยๆ และเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้นเรื่อยๆ การโฟกัสมากเกินไปตั้งแต่อายุน้อยอาจกลายเป็นผลเสีย ในขณะที่บางคนมาเริ่มทีหลัง อาจไปได้ดีกว่า เพราะได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ และมีประสบการณ์รอบด้านมากกว่า

หนังสือเล่มนี้ สรุปว่า การเก่งตั้งแต่เด็กไม่ใช่กฎ แต่เป็นข้อยกเว้น เพราะคนเก่งๆ จำนวนมากในวงการต่างๆ ไม่ได้เก่งตั้งแต่เด็ก แต่สะสมประสบการณ์และเรียนรู้ด้านต่างๆ แลัวโฟกัสให้เก่งเฉพาะด้านในภายหลังครับ

3. “The Power of Consistency” by Weldon Long

ถ้าใครคิดว่า ชีวิตตัวเองกำลังลำบาก ทำงานแล้วมีปัญหา ก็ควรอ่านเล่มนี้ เพราะผู้เขียนเล่มนี้คือ คุณ Weldon Long เคยใช้ชีวิตตกต่ำที่สุดแล้วคือ เคยติดคุกหลายปี

ระหว่างที่คุณ Long ติดคุก ก็ได้แรงบันดาลใจจาก Stephen Covey ผู้เขียนหนังสือ 7 Habits ที่โด่งดังและ Tony Robbins นักพูดปลุกใจระดับโลก จึงเปลี่ยนแปลงตัวเองตั้งแต่อยู่ในคุก จนกระทั่งออกจากคุก และกลายเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง

ใจความสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ เรามีข้อมูลหรือความรู้มากพอที่จะสร้างความสำเร็จได้แล้ว แต่เราไม่ทำ “อย่างสม่ำเสมอ” จึงทำให้ไม่เกิดผลลัพธ์ตามที่เราต้องการ นี่จึงเป็นที่มาของชื่อหนังสือคือ The Power of Consistency ที่แปลว่า “พลังของความสม่ำเสมอ”

คุณ Long แนะนำเทคนิคหลายอย่างในเล่มนี้ ตัวอย่างเช่น คือ การใช้ Affirmation ซึ่งผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายคนก็เคยได้ยินหรือเคยฝึกมาบ้างแล้ว

Affirmation คือการพูดประโยคที่เราต้องการซ้ำๆ ให้ฝังเข้าไปในจิตใต้สำนึก และเปลี่ยนการกระทำของเรา เช่น “ฉันเป็นนักขายที่เก่ง” “ฉันเป็นคนขยันทำงาน”

แต่นอกจากการใช้ Affirmation แล้ว คุณ Long ยังเน้นเรื่องการลงมือทำด้วย โดยให้เขียนเป้าหมายที่เราต้องการบรรลุ แล้วเขียนการกระทำหนึ่งถึงสามอย่างที่เราต้องทำทุกวัน เพื่อให้เป้าหมายนั้นสำเร็จ

สิ่งที่ผมประทับใจที่สุดเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้คือ การที่คุณ Long เล่าชีวิตส่วนตัวระหว่างที่ติดคุก และใช้เทคนิคต่างๆ จนกระทั่งออกจากคุกแล้ว ก็ยังพบอุปสรรคมากมาย เช่น สมัครงานในที่ต่างๆ ก็ไม่มีใครรับ เพราะเคยเป็นคนติดคุก แต่คุณ Long ก็ไม่ท้อถอย จนกระทั่งประสบความสำเร็จในชีวิต

ถ้าใครกำลังพบจุดอับของชีวิต รู้สึกว่า ชีวิตตัวเองไปไม่ถึงไหน หรือยังไม่ได้ผลลัพธ์ในชีวิตที่ต้องการ ลองอ่านหนังสือจากผู้เขียนที่เคยติดคุกบ้างครับ อาจเกิดแรงบันดาลใจหรือแรงฮึดมากขึ้น เพราะ “ความสม่ำเสมอคือพลัง”

4. “The Entrepreneurship Teacher Playbook: Tested Tools for Teaching Entrepreneurship” by Beau Brannan

เนื่องจากผมสอนวิชาการคิดเชิงนวัตกรรมหรือ Innovative Thinking ซึ่งเน้นการทำกิจกรรมในห้องเรียน ดังนั้นผมจึงพยายามหาหนังสือต่างๆ ที่แนะนำกิจกรรมน่าสนใจเพื่อใช้ในห้องเรียน

หนังสือเล่มนี้แนะนำกิจกรรมและเกมต่างๆ สำหรับอาจารย์ที่สอนวิชาด้านการประกอบการ ธุรกิจ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม เช่น เกมเกี่ยวกับการนำเสนอ การหาไอเดีย การสร้างต้นแบบอย่างรวดเร็ว เกมด้านธุรกิจต่างๆ

สิ่งที่ผมชอบเป็นพิเศษเกี่ยวกับเล่มนี้คือ เล่มนี้แนะนำแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติมต่างๆ เช่น หนังสือ เว็บไซต์ รวมทั้งเกมต่างๆ อีกหลายเกม

ครู อาจารย์ วิทยากรที่สอนวิชาด้านธุรกิจ สตาร์ทอัพ หรือนวัตกรรม ลองอ่านเล่มนี้ครับ จะได้ไอเดียไปใช้ในการสอนได้อีกหลายเรื่องครับ

5. “Learning How to Learn: How to Succeed in School Without Spending All Your Time Studying; A Guide for Kids and Teens” by Barbara Oakley, Terrence Sejnowski with Alistair McConville

นี่คือหนังสือที่ผมหวังว่า น่าจะได้อ่านตั้งแต่ 40 กว่าปีก่อนตั้งแต่เป็นเด็กประถม เพราะเล่มนี้กล่าวถึงวิชาที่ไม่เคยสอนในสถาบันการศึกษาคือ “วิชาเรียนให้เป็น”

ความโดดเด่นของเนื้อหาเล่มนี้คือ เป็นเนื้อหาจากคอร์สออนไลน์ที่โด่งดังที่สุดของ Coursera คือ “Learning How to Learn: Powerful mental tools to help you master tough subjects” ซึ่งผู้สอนคอร์สนี้คือ Dr. Barbara Oakley เป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ด้วย

นอกจากนี้ เล่มนี้ยังเน้นผู้อ่านที่เป็นเยาวชน ดังนั้นจึงมีผู้เขียนร่วมที่แปลงเนื้อหาให้เด็กอ่านเข้าใจได้ง่าย โดยใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษง่ายๆ และอธิบายศัพท์วิชาการต่างๆ ให้เข้าใจ โดยมีภาพประกอบและการ์ตูนตลอดทั้งเล่มครับ

ตัวอย่างเทคนิคในหนังสือเล่มนี้เช่น การทบทวนเนื้อหา , การฝึกความจำ , การแบ่งเวลา และเทคนิคการเรียนรู้แบบต่างๆ ที่เหมาะกับทั้งเด็กและผู้ใหญ่

จุดเด่นที่สุดของหนังสือเล่มนี้ คือ มีเนื้อหาสรุป และบอกให้ผู้อ่านทบทวนเนื้อหาที่เพิ่งอ่านไปทุกบท

ถ้ามีสำนักพิมพ์ไหนสนใจแปลเล่มนี้เป็นภาษาไทย ผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษาไทยอย่างมากครับ เพราะเด็กไทยจะได้ทราบวิธีการเรียนรู้ที่นำไปใช้ในการเรียนวิชาต่างๆ ได้ทันทีครับ

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
ธงชัย โรจน์กังสดาล

Written by ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์

No responses yet