กิจกรรม 7 อย่างที่ผมทำครั้งแรกในปี 2019

ผู้อ่านได้ทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนในปี 2019 บ้างหรือเปล่าครับ

สตีฟ จอบส์เคยพูดทำนองว่า ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากการเชื่อมโยงจุดเข้าด้วยกัน คนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงมีจุดหรือประสบการณ์มากกว่าคนอื่น ทำให้เชื่อมโยงประสบการณ์ที่หลากหลายเข้าด้วยกัน และเกิดไอเดียใหม่ๆ มากกว่า

ผมจึงบอกผู้เรียนในวิชาความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมเสมอว่า ลองทำอะไรใหม่ๆบ้าง เพื่อหาประสบการณ์ใหม่ เรียนรู้ทักษะใหม่ สร้างการเชื่อมโยงแบบใหม่ รู้จักคนใหม่

ตัวอย่างเช่น วิชาการคิดเชิงนวัตกรรม (Innovative Thinking) ที่ผมสอนในจุฬาฯ มีโครงงานเดี่ยวที่นิสิตทุกคนต้องทำ เรียกว่า Innovative Missions ประกอบด้วย 4 ภารกิจ ได้แก่

1. ภารกิจการเรียน

2. ภารกิจการเขียนบทความใน Medium

3. ภารกิจจิตอาสา

4. ภารกิจสร้างวิดีโอหรือบันทึกเสียง

ถ้านิสิตที่เคยเรียนกับผมหรือกำลังจะเรียนในเทอมหน้า ถามผมว่า

“อาจารย์บอกให้พวกหนูทำสิ่งใหม่ๆ แล้วตัวอาจารย์ล่ะ ลองทำอะไรใหม่ๆ บ้างหรือเปล่าค้า”

คำตอบของผมอยู่ในบทความนี้ครับ

ผู้เรียน JUMC NOW รุ่นแรก

1. เรียนหลักสูตรใหม่ที่เปิดรุ่นแรก

ในต้นปี 2019 ผมได้เรียนหลักสูตร JUMC NOW รุ่นแรกซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้นของสมาคมนิสิตเก่าเอ็มบีเอ จุฬาฯ ( www.jumc.in.th)

ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็มาเรียน JUMC NOW ได้นะครับ เพราะต้องอยู่แถวหลักสี่คือ อายุเกือบ 40 ปีขึ้นไปจึงจะเรียนได้

ในทางตรงกันข้าม ผู้สอน JUMC NOW คือคนหนุ่มสาวหรือคนอายุน้อยกว่าที่ทำธุรกิจต่างๆ แล้วมาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง เช่น คุณชื่นชีวัน ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ Globish , อาจารย์ดร.เอกก์ ภทรธนกุล , คุณเฟื่องลดา พิธีกรและ influence ด้านไอที เป็นต้น

สถานที่เรียนของ JUMC NOW ก็หลากหลายมาก เช่น โรงแรม , coworking space และดูงานตามสถานที่ต่างๆ เช่น More Than A Game cafe’ , Naplab , สวนสามพราน , Once again hostel และอื่นๆ อีกหลายแห่ง โดยเรียนวันพุธบ่ายและวันเสาร์ทั้งวัน

หลักสูตร JUMC NOW ช่วยเปิดโลกทัศน์ผมอย่างมหาศาล ทำให้เข้าใจวิธีคิด วิธีทำงานของคนหนุ่มสาวยุคนี้ ดูงานสถานที่หลายแห่งที่ไม่เคยไป อีกทั้งได้เพื่อนใหม่ประมาณ 40 คนที่ยังคุยเฮฮาในไลน์และนัดพบกันเป็นประจำครับ

ขอบคุณ คุณโตสิต วิสาลเสสถ์ ซึ่งเป็นเพื่อนเทพศิรินทร์รุ่นเดียวกับผม ที่ชวนผมสอนในโครงการ JUMC NEXT เกือบสิบปี และชวนมาสมัครเรียนโครงการ JUMC NOW รุ่นแรกครับ

ผมเขียนบทความแนะนำ JUMC NOW เรื่อง “มารู้จัก JUMC NOW : หลักสูตรที่คนรุ่น Next สอนคนรุ่น Now”

ถ้าผู้อ่านสนใจอยากมาเรียน JUMC NOW รุ่นสอง ก็อ่านรายละเอียดได้ในเพจ JUMC NOW

ผมไม่มางานรับน้อง แต่จะมางานรับพี่ เพราะเราเรียกผู้เรียนทุกคนใน JUMC NOW ว่า พี่ !

2. เป็นกรรมการครั้งแรกในงานแฮคกาทอน

ผมได้ยินเรื่องงานแฮคกาทอนหลายครั้ง แต่ยังไม่เคยไปร่วมเลย ในที่สุด ผมก็ได้เข้าไปร่วมงานแฮคกาทอนครั้งแรกในฐานะที่เป็นกรรมการแข่งขันครับ

งานแฮคกาทอนที่ผมไปร่วมครั้งแรกคือ Food Tech Hackathon หรืองานแฮคกาทอนด้านอาหาร ซึ่งจัดในวันที่ 25–27 มกราคม 2562 ที่ Siam Innovation District

ผมได้เขียนเล่างานแฮคกาทอนครั้งนี้ในบทความเรื่อง “ครั้งแรกที่เป็นกรรมการในงานแฮกกาทอน

3. มีคอร์สออนไลน์ของตนเองเป็นครั้งแรก

จุฬาฯ มีคอร์สออนไลน์เรียกว่า Chula MOOC (Massive Open Online Course) ซึ่งมีหลักสูตรให้เรียนมากมายในเว็บ mooc.chula.ac.th

ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาฯ ติดต่อผมให้ทำคอร์สออนไลน์เกี่ยวกับวิชาความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมในปีพ.ศ. 2561 และทำคอร์สเสร็จในปีพ.ศ. 2562

คอร์สออนไลน์ที่ผมสอนใน Chula MOOC ชื่อ “ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์” ได้เปิดสอนรุ่นแรกในเดือนสิงหาคม 2562 และมีผู้เรียนครบ 4 พันคนภายในหนึ่งเดือนกว่าๆ ครับ เพราะ Chula MOOC รับผู้เรียนสูงสุดในแต่ละวิชาได้แค่ 4 พันคน

สิ่งที่ผมทึ่งก็คือ มีหลายคนเรียนจบในวันแรกที่เปิดสอน และส่งใบประกาศนียบัตรมาให้ผมดู เพราะหลักสูตรนี้ยาวแค่หนึ่งชั่วโมงครึ่ง และไม่ได้เน้นเนื้อหาวิชาการมากมาย ทำให้หลายคนสอบผ่าน เรียนจบในหนึ่งวันได้สบายครับ

ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์” เพิ่งเปิดได้รุ่นเดียว ผู้อ่านที่สนใจ ขอใหัติดตามดูเว็บของ Chula MOOC บ่อยๆ ว่า จะเปิดรุ่นสองเมื่อไรนะครับ

ถ้าเปิดรับสมัครเมื่อไร ขอให้รีบสมัคร มิฉะนั้น มีผู้สมัครเรียนครบแล้ว จะอดเรียนนะครับ ต้องรอรุ่นสาม !

4. สอนความคิดสร้างสรรค์ให้ทุกคนเรียนฟรีเป็นครั้งแรก

หลังจากที่เปิดหลักสูตรความคิดสร้างสรรค์ใน Chula MOOC แล้ว ผมก็อยากเปิดหลักสูตรความคิดสร้างสรรค์ในโครงการ CUVIP ซึ่งเป็นหลักสูตรหรือคอร์สสั้นๆ ของจุฬาฯ ที่เปิดให้ทุกคนเรียนฟรี

ในที่สุด ผมเปิดหลักสูตร CUVIP ชื่อ ปลดล็อคพลังความคิดสร้างสรรค์ รุ่นแรก ประมาณกลางปี 2019 และรุ่นสองในกลางเดือนธันวาคม

หลักสูตรนี้เปิดให้ชาวจุฬาฯ และบุคคลทั่วไปเรียนฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดยเรียนตอนเย็นที่อาคารจามจุรี 10 จุฬาฯ

โครงการ CUVIP มีหลักสูตรดีๆ มากมายทุกเดือนที่เปิดให้ทุกคนเรียนฟรี ดูหลักสูตรต่างๆ ได้ที่เพจ CUVIP PROJECT ครับ

5. จัดงานสังสรรค์นักอ่านคินเดิลครั้งแรกในไทย

หลังจากที่ผมตั้งกลุ่มใน Facebook ชื่อ “ชุมชนนักอ่าน Kindle” ก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ในที่สุด เราก็ได้จัดงานสังสรรค์ของนักอ่านคินเดิลครั้งแรกในบ่ายวันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2562 มีสมาชิกมาร่วมประมาณ 10 คน

พวกเราคุยเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับวงการหนังสือ , แจกหนังสือ และแนะนำหนังสือที่น่าสนใจในคินเดิลตั้งแต่บ่ายโมงจนถึงห้าโมงเย็น

ขอบคุณลูกศิษย์ผมสามคนที่มาช่วยงานนี้คือ Nuttakit Kundum , ใบบัว และจักรินทร์และขอบคุณ Siam Innovation District ที่อนุเคราะห์สถานที่ครับ

6. จัดเวิร์คชอป LEGO SERIOUS PLAY

“ซวยแล้วสิ ต้องมาจัดเวิร์คชอปเรื่อง LEGO SERIOUS PLAY แล้วหรือวะ”

นี่คือความคิดผม หลังจากที่ทราบว่า “อาจ” ต้องจัดเวิร์คชอป LEGO SERIOUS PLAY ที่ผมเรียนเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ไม่เคยสอนจริงเลย เคยไปเป็นผู้ช่วยแค่ครั้งเดียว

ผมจึงใช้กลยุทธ์ massive action คือ รีบขอชุดอุปกรณ์ LEGO SERIOUS PLAY ซึ่งอยู่กับอาจารย์อีกท่าน แล้วสอนทันที โดยวางแผนว่า จะจัดสอนหลายๆ รุ่น เพื่อให้คุ้นเคยและมีประสบการณ์มากพอ

ผมตั้งชื่อหลักสูตรว่า “Achieve Your Goals with LEGO SERIOUS PLAY” ซึ่งเป็นการใช้กระบวนการ LEGO SERIOUS PLAY ในการตั้งเป้าหมาย

ผู้เข้าเวิร์คชอปทุกคนคือ ศิษย์เก่าหรือนิสิตวิชา Innovative Thinking เพราะผู้เรียนวิชา Innovative ส่วนใหญ่สนใจเรื่องการพัฒนาตนเอง

ผมใช้วิธี “ส่งบัตรเชิญ” ให้คนที่ผมเดาว่า น่าจะสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่ตอบกลับว่า ยินดีมาร่วม

ผลลัพธ์ที่ได้คือ เวิร์คชอป 7 รุ่น ซึ่งรุ่นที่ 7 เพิ่งจัดในวันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน แต่ละรุ่นรับได้ไม่เกิน 7 คน ใช้เวลาทำเวิร์คชอป 3 ชั่วโมง

ผมดีใจที่ได้จัดเวิร์คชอปฟรีครั้งนี้ให้ชาว Innovative เพราะได้พบศิษย์เก่าวิชา Innovative ตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นล่าสุด หลายคนก็ไม่ได้พบกันเลยตั้งแต่เรียนจบ กลายเป็นงาน Reunion ชาว Innovative Thinking ไปด้วย และทำให้ศิษย์เก่ารู้จักเพื่อนใหม่ด้วย

พวกเรายังได้แลกเปลี่ยนไอเดียเรื่องการตั้งเป้าหมาย วิธีการบรรลุเป้าหมาย และรับพลังบวกมาเต็มๆ ผมก็ได้เรียนรู้จากผู้เข้าเวิร์คชอปเยอะมากเช่นกันครับ

นอกจากนี้ ผมยังได้จัดหลักสูตรพิเศษชื่อ “พิชิตเป้าหมาย 2020 ด้วย LEGO SERIOUS PLAY” ในวันอังคารที่ 10 ธันวาคม เพื่อระดมทุนหาเงินช่วยจัดงาน Give and Take 2020 โดยที่กลุ่มผู้เรียนส่วนใหญ่เป็นวิทยากร ลูกศิษย์ของอาจารย์ไชยยศ ปั้นสกุลไชยด้วย

กลับกลายเป็นว่า ผมได้จัดเวิร์คชอป LEGO SERIOUS PLAY ถึง 8 ครั้งในปีนี้โดยที่นึกไม่ถึง

ดังนั้น ปี 2020 ผมคงจัดเวิร์คชอป LEGO SERIOUS PLAY อีกหลายรุ่นแน่ๆ ครับ

7. ทำโครงการหนึ่งร้อยวันเป็นครั้งแรก

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราสร้างผลงานติดต่อกัน 100 วัน

ผมพบวิชาหนึ่งที่น่าเรียนมากคือ วิชา 100 Days of Making ซึ่งรายละเอียดของวิชานี้อยู่ในบทความเรื่อง “วิชาสุดคูลที่มีการบ้านเดียวและไม่ต้องสอบ

ผมจึงอยากลองทำงานแบบวิชานี้บ้างคือ สร้างผลงานแล้วเผยแพร่ 100 วันติดต่อกัน

โครงการแรกที่ผมทำคือ ถ่ายรูปหน้าปกหนังสือ 100 เล่มในอินสตาแกรมของผม ซึ่งค้นหาด้วย hashtag #100DaysofBookSuggestionbyThongchai

โครงการที่สองซึ่งกำลังทำอยู่คือ ทำเพจ 100 Days 100 Kindle Books เพื่อแนะนำหนังสือในคินเดิลที่ผมอ่าน 100 เล่มครับ

ขณะที่กำลังเขียนบทความนี้ ผมได้แนะนำหนังสือคินเดิล 70 เล่มติดต่อกันแล้วครับ

ผู้เรียน CUVIP ปลดล็อคพลังความคิดสร้างสรรค์รุ่นที่สอง

ผมหวังว่า บทความนี้จะจุดประกายผู้อ่านให้ทำอะไรใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องใหญ่โต และไม่จำเป็นต้องแปลกใหม่พิสดาร อาจเป็นเรื่องเก่าแล้วสำหรับคนอื่น แต่ใหม่สำหร้บเราก็ได้

ผมเพิ่งได้อ่านบทความทางไลน์เรื่องแนวทางปฏิรูปการศึกษา มีข้อความตอนหนึ่งเขียนว่า

“Everybody should be like a Child”

ทุกคนควรที่จะเป็นเหมือน “เด็ก” ที่เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา ในยุคใหม่งานเดิม ๆ ของคนเคยทำกันมาจะหายไป 15–20% และจะเกิดงานใหม่ที่เราคาดไม่ถึง อย่าหยุดการเรียนรู้ไว้แค่ที่มหาวิทยาลัย จงเรียนรู้โลกนี้ไปเรื่อย ๆ เพราะ “Society is The Best University”

จึงขอชวนผู้อ่านมาเป็น “เด็ก” อีกครั้งและเปลี่ยนปี 2020 เป็นปีที่น่าตื่นเต้นด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำโครงการใหม่ๆ เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ กันครับ

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
ธงชัย โรจน์กังสดาล

Written by ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์

Responses (1)