กำเนิดโปรแกรมสเปรดชีตตัวแรกของโลก
ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านรู้จัก Excel ซึ่งเป็นโปรแกรมสเปรดชีตยอดนิยมในยุคนี้
แต่ทราบไหมครับว่า โปรแกรมสเปรดชีตตัวแรกของโลกชื่ออะไร
โปรแกรมสเปรดชีตตัวแรกของโลกชื่อ VisiCalc ซึ่งย่อมาจากคำว่า Visible Calculator เป็นโปรแกรมที่ทำงานในเครื่อง Apple II
โปรแกรม VisiCalc เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เครื่อง Apple II ประสบความสำเร็จ เพราะโปรแกรมนี้ขายได้ถึง 7 แสนชุดในเวลาหกปี
แม้กระทั่งสตีฟ จอบส์เองก็ยังกล่าวว่า VisiCalc คือปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้แอปเปิลประสบความสำเร็จ และทำให้เครื่อง Apple II ซึ่งแต่เดิมเป็นเครื่องสำหรับนักคอมพิวเตอร์สมัครเล่น กลายเป็นเครื่องมือทางธุรกิจที่ใช้อย่างแพร่หลาย
ผมไม่เคยใช้โปรแกรม VisiCalc มาก่อนครับ เพราะโปรแกรมสเปรดชีตตัวแรกที่ผมใช้คือ โลตัส 1–2–3 ซึ่งเป็นสเปรดชีตยอดฮิตในเครื่องไอบีเอ็มพีซียุคหลายสิบปีก่อน
ผู้คิดค้นโปรแกรม Visicalc คือ คุณแดน บริคลิน (Dan Bricklin) ได้เล่าที่มาของโปรแกรม VisiCalc ในการบรรยาย TEDxBeaconStreet เรื่อง “Meet the inventor of the electronic spreadsheet”
ถึงแม้ว่าเราจะไม่ใช้โปรแกรม VisiCalc ในปัจจุบันแล้ว แต่ข้อคิดต่างๆ ที่คุณแดนเล่าในการบรรยาย TED ยังคงใช้ได้ในยุคปัจจุบัน
ผมจึงขอสรุปข้อคิดที่ได้จากวิดีโอ TED เรื่องนี้ครับ
1. การมีประสบการณ์จริง
คุณแดนได้มีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์ตั้งแต่สมัยวัยรุ่น ซึ่งการใช้คอมพิวเตอร์ในยุคก่อนเป็นเรื่องยุ่งยากมาก ไม่ง่ายดายเหมือนสมัยนี้ และเรียนจบด้านคอมพิวเตอร์จากสถาบันเอ็มไอที และเข้าทำงานที่บริษัท DEC ( Digital Equipment Corporation)
ระหว่างที่คุณแดนทำงานที่บริษัท DEC ก็ได้ออกภาคสนาม พบลูกค้าจริงๆ และได้เห็นปัญหาจริงของผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ ทำให้คุณแดนมีประสบการณ์จริงที่ต่างจากการเรียนในห้องเรียน
2. การผสมผสานความรู้
เนื่องจากคุณแดนอยากตั้งบริษัทกับเพื่อน จึงได้สมัครเรียนหลักสูตรเอ็มบีเอ เพื่อให้มีความรู้ด้านธุรกิจมากขึ้น นอกเหนือจากความรู้ทางคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่แล้ว
แต่จุดเด่นที่คุณแดนเล่าใน TED ว่า แตกต่างจากคนอื่นคือ การมีพื้นฐานด้านการเขียนโปรแกรม ซึ่งเพื่อนร่วมชั้นส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรม
ปัจจุบันมีหนังสือหลายเล่มที่บอกว่า ทักษะสำคัญของคนในยุคนี้ คือการมีความรู้หลายด้าน และผสมผสานความรู้หรือประสบการณ์หลายด้านเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเอกลักษณ์หรือจุดเด่นที่แตกต่างจากคนอื่นครับ
คนที่เชียร์แนวคิดเรื่องการผสมผสานความรู้หรือทักษะหลายด้านมากคือ คุณ Scott Adams ผู้เขียนการ์ตูน Dilbert ที่โด่งดัง
3. หาวิธีแก้ปัญหาของตนเอง
ขณะที่คุณแดนเรียนเอ็มบีเอ จะต้องทำกรณีศึกษาต่างๆ มากมาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการคำนวณต่างๆ มากมาย
สิ่งที่ทำให้คุณแดนหงุดหงิดคือ ถ้าทำการบ้านกรณีศึกษา แล้วคำนวณผิด ตัวเลขทั้งหมดจะผิดไปหมด ทำให้ไม่มีส่วนร่วมในการเรียน และมีผลต่อคะแนนด้วย
คุณแดนจึงเริ่มฝันว่า “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามีกระดานมหัศจรรย์ ที่เปลี่ยนตัวเลขแล้ว ผลลัพธ์ก็จะเปลี่ยนตามโดยอัตโนมัติ”
คุณแดนทำเหมือนนวัตกรที่มีชื่อเสียงหลายคน คือ การพยายามแก้ปัญหาของตนเองหรือ pain point ของตัวเอง
4. เปลี่ยนไอเดียเป็นต้นแบบ
เมื่อมีไอเดียแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือ การสร้างต้นแบบหรือแบบจำลองง่ายๆ เพื่อฟังเสียงสะท้อนหรือความเห็น ซึ่งคุณแดนมีคุณพ่อสอนเรื่องการทำต้นแบบให้
คุณแดนกล่าวใน TED เรื่องการทำต้นแบบดังนี้ครับ
“การสร้างชิ้นงานง่ายๆ ที่ใช้การได้ของสิ่งที่คุณต้องการสร้าง ทำให้คุณค้นพบปัญหาและหาคำตอบในการแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่ามาก”
ปัญหาที่คุณแดนพบระหว่างการสร้างต้นแบบคือ จะใส่สูตรต่างๆ ได้อย่างไร จะใส่ที่ตำแหน่งไหนในจอภาพ
ในที่สุด คุณแดนใช้วิธีการใส่ค่าต่างๆ ใน เซลล์ ซึ่งกลายเป็นรูปแบบของสเปรดชีตจนถึงทุกวันนี้
วิธีการสร้างต้นแบบที่คุณแดนใช้ ก็ยังคงเป็นวิธีการสร้างนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ บริการใหม่ในทุกวันนี้เช่นกันครับ
5. ทดสอบต้นแบบ
คุณแดนและเพื่อนเริ่มเขียนโปรแกรมต้นแบบของ VisiCalc และลองทำกรณีศึกษาด้วยโปรแกรมต้นแบบ ซึ่งปรากฎว่า ประสบความสำเร็จ จนอาจารย์ที่สอนยังสงสัยว่า ทำได้อย่างไร
ดังนั้น เมื่อสร้างต้นแบบเสร็จแล้ว ก็ควรลองไปทดสอบสถานการณ์จริงด้วยครับ
ข้อคิดที่คุณแดนฝาก
คุณแดนกล่าวในช่วงท้ายของการบรรยายว่า
“คุณควรใช้ประสบการณ์ ทักษะ และความต้องการที่เป็นเอกลักษณ์ของคุณ แล้วสร้างต้นแบบเพื่อค้นหาและแก้ปัญหาสำคัญ แล้วออกไปเปลี่ยนโลก”
วันสเปรดชีต ( Spreadsheet Day)
VisiCalc วางจำหน่ายครั้งแรกในวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1979 จากนั้นสเปรดชีตก็เป็นโปรแกรมที่ติดตั้งในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเกือบทุกเครื่องในโลก
มีผู้เสนอไอเดียใน ค.ศ. 2010 ว่า ควรมีวันที่ระลึกถึงความสำคัญของสเปรดชีต จึงมีผู้เสนอให้ใช้วันกำเนิดของ VisiCalc เป็นวันสเปรดชีต
นับตั้งแต่นั้นมา วันที่ 17 ตุลาคมของทุกปีจึงเป็นวันสเปรดชีตครับ
ในปีนี้ ค.ศ. 2019 ยิ่งมีความพิเศษ เพราะครบรอบ 40 ปีของ VisiCalc ด้วย
ถ้าไม่มี VisiCalc ก็อาจไม่มีโปรแกรมสเปรดชีตแบบที่เราเห็นในทุกวันนี้ครับ
เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่