เคล็ดลับจับใจผู้อื่นด้วยการฟัง

Boost Up Active Listening Skills

ทักษะสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในยุคนี้คือ การฟัง แต่น่าเสียดายที่เราไม่ค่อยมีหลักสูตรสอนเรื่องการฟังสักเท่าไร โดยเฉพาะครู อาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับนิสิต นักศึกษา

เมื่อมีนิสิต นักศึกษา หรือเพื่อนมาขอคำปรึกษา ระบายความทุกข์ ปรับทุกข์ เราจะทำอย่างไรดี เราจะช่วยเหลือเขาได้อย่างไร

หน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิต จุฬาฯ ได้จัดสัมมนาเรื่อง “เคล็ดลับจับใจนิสิต : Boost Up Active Listening Skills” ที่ชั้น 3 อาคารจามจุรี 9 ในวันจันทร์ที่ 20 มกราคม 2563 เวลา 13.00–16.00 น.

จึงไม่น่าแปลกใจว่า มีอาจารย์จุฬาฯ สนใจสมัครเป็นจำนวนมาก รวมทั้งผมด้วย ซึ่งมีอาจารย์เข้าฟังสัมมนาเกือบ 70 คน

ผมจึงสรุปเนื้อหาการบรรยายให้ฟังในบทความนี้ครับว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้าง

อาจารย์ตี๋ วิทยากรของหลักสูตรนี้

รู้จักวิทยากร

วิทยากรที่มาบรรยายในวันนี้คือ อาจารย์สหรัฐ เจตมโนรมย์ หรือ อาจารย์ตี๋ ซึ่งเป็นนักจิตวิทยา กำลังศึกษาปริญญาเอกที่คณะจิตวิทยา จุฬาฯ และมีผลงานเขียนหนังสือชื่อ “ ห้าวันที่ฉันตื่น กับติช นัท ฮันห์”

อาจารย์ตี๋ยกคำพูดของอับราฮัม มาสโลว์ ว่า

“ถ้าคุณมีแต่ค้อน ทุกอย่างจะเหมือนเป็นตะปู”

หมายความว่า การอบรมในวันนี้ จะเพิ่มเครื่องมือใหม่ๆ ให้อาจารย์นำไปใช้ นอกเหนือจากค้อนที่อาจารย์มีอยู่แล้ว ทำให้ใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น

ระดมสมองคิดคำแทนความรู้สึกต่างๆ

กิจกรรมในวันนี้มีผู้เรียนเกือบ 70 คน อาจารย์ตี๋จึงให้ผู้เรียนนั่งเป็นกลุ่มๆ ละ 5 คน ซึ่งกลุ่มของผมมีอาจารย์วิศว 3 คน , อาจารย์จากคณะศิลปกรรมและอาจารย์จากคณะสถาปัตย์

จากนั้น ก็เริ่มการ breaking the ice ด้วยการให้ทุกคนในกลุ่มแนะนำตัวด้วยการบอกชื่อจริง ชื่อเล่น และสิ่งที่ทำในช่วงเปิดเทอม

กิจกรรมถัดมาคือ อาจารย์ตี๋ขอให้แต่ละกลุ่มช่วยกันระดมสมองเขียนคำที่แสดงความรู้สึกในทางบวก แล้วแต่ละกลุ่มพูดคำที่เขียน

คำที่กลุ่มผมนำเสนอ เช่น ดีใจ ประทับใจ ปลาบปลื้ม passion ฟิน วาบหวาม

กิจกรรมนี้ฮามาก เพราะจะได้ยินคำแปลกๆ ภาษาวัยรุ่น เช่น บางกลุ่มเสนอคำว่า ผอม ที่แสดงถึงความรู้สึกทางบวก!!!

หลังจากที่ทุกกลุ่มพูดคำที่แสดงความรู้สึกในทางบวกแล้ว อาจารย์ตี๋ก็ขอให้แต่ละกลุ่มเขียนคำที่แสดงความรู้สึกในทางลบ เช่น เสียใจ เศร้าใจ หดหู่ สิ้นหวัง ห่อเหี่ยว

กิจกรรมนี้เรียกเสียงฮาอีกครั้งตอนที่แต่ละกลุ่มแชร์คำที่แทนความรู้สึกในทางลบ เช่น อ้วน , อีกแล้ว , นก

ถ้าใครบอกว่า อาจารย์จุฬาฯ ซีเรียส เคร่งเครียด จะรู้ว่าไม่จริงเลยครับ เพราะอาจารย์แต่ละคนคิดคำเด็ดสุดๆ

อาจารย์ตี๋ยังแนะนำคำวัยรุ่นที่ผมไม่เคยได้ยินมาก่อน เช่น ดีย์ เยี่ยว!!! OMG

ผู้อ่านบทความนี้ลองทำกิจกรรมนี้ด้วยตนเองก็ได้ครับ คือเขียนคำที่แสดงความรู้สึกทางบวกและทางลบให้ได้มากที่สุด เพื่อเก็บเป็นคลังคำที่เราใช้เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น

เคล็ดลับ 3 ข้อ

อาจารย์ตี๋แนะนำเคล็ดลับ 3 ข้อของการอบรมในวันนี้คือ

  1. Find Figure Feeling หมายความว่า เน้นที่การเข้าใจความรู้สึก ไม่ได้เน้นที่การเข้าใจข้อเท็จจริง เช่น เวลาเราฟังใครพูดนานๆ เราจะเหนื่อย เพราะมัวแต่ไปหาข้อมูล ข้อเท็จจริง แต่ถ้าเราตั้งใจฟังหรือหาความรู้สึกของเขา จะง่ายกว่า และไม่เหนื่อยเท่า
  2. ลด 3 A คือ
  • ลด Ask why (อย่าถามว่าทำไม) เพราะเวลาถามคนอื่นว่า ทำไมทำแบบนี้ จะทำให้เกิดความไม่พอใจ แต่เราอาจถามใหม่ว่า what happen (เกิดอะไรขึ้น) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ให้ถามทำไมครับ เพราะในหลายกรณี อาจารย์ต้องถามว่าทำไม เช่น การสอบวิทยานิพนธ์ !
  • ลด Advise คือ ขอให้ฟังเขาก่อน อย่าเพิ่งให้คำแนะนำ ถึงแม้ว่าจะคันปาก อยากพูดใจจะขาด เช่น เวลาเพื่อนมาระบายความรู้สึก ก็ฟังเฉยๆ ไม่ต้องให้คำแนะนำ เดี๋ยวเขาพูดเสร็จ เขาก็จะสบายใจเอง เพราะเขาไม่ได้อยากขอคำแนะนำเรา เขาแค่อยากให้มีคนฟังเขาระบาย
  • ลด Assume คือ หยุดทึกทัก หยุดมโน หยุดคิดเอง เออเอง

3. พาไปเที่ยวยุโรปหรือ EU ซึ่ง EU ในที่นี้มาจาก Emphatic Understanding คือ การเข้าใจผู้อื่น

กิจกรรม Find Figure Feeling

หลังจากที่อาจารย์ตี๋แนะนำเคล็ดลับ 3 ข้อของกิจกรรมในวันนี้แล้ว อาจารย์ตี๋ก็ให้ชมมิวสิควิดีโอของนักร้องหลายคน เช่น เพลง ปราสาททราย ของสุรสีห์ อิทธิกุล , เพลง ผู้ชายห่วยๆ ของมาช่า , เพลงของพี่ตูน , เพลงของเบญจ์ ชลาทิศ แล้วระดมสมองช่วยกันหาคำที่แทนความรู้สึกของเพลง

ตัวอย่างเช่น หลายกลุ่มเสนอว่า เพลงปราสาททรายของสุรสีห์ แสดงความรู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ หมดอาลัยตายอยาก

ถ้าเราเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น ใช้คำที่แทนความรู้สึกได้ถูกต้อง ก็จะช่วยให้อีกฝ่ายเข้าใจความรู้สึกของเขาเองเช่นกัน

แต่ถ้าใช้คำไม่ตรงความรู้สึกของเขา ก็ไม่เป็นไร เพราะอีกฝ่ายจะบอกเองว่า เขาไม่ได้รู้สึกอย่างนี้

นี่เป็นกิจกรรมที่สนุกและมีประโยชน์ครับ ผู้อ่านลองเปิดมิวสิควิดีโอเพลงที่ชอบ และเขียนคำบรรยายความรู้สึกของเพลงนั้น

ช่วงถาม-ตอบ

ในช่วงท้ายของการอบรม มีคำถามจากอาจารย์ เช่น

เราจะมีเทคนิคอะไรในการเข้าหานิสิตที่มีปัญหาหรือให้นิสิตที่มีปัญหามาพบเรา

อาจารย์ตี๋ตอบว่า

นิสิตอาจไม่อยากมาหาเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ช่วยอะไรไม่ได้ แต่อาจารย์อาจสร้างความรู้สึกแบบไม่เป็นทางการ เพื่อให้นิสิตอยากเข้าพบ หรือมีเครือข่าย เช่น ให้นิสิตไปพบเพื่อนก่อนที่จะมาคุยกับอาจารย์

เราอาจถามนิสิตโดยตรงหรือขอให้เพื่อนไปช่วยถามให้ เพราะนิสิตอาจไม่อยากมาเจออาจารย์เอง ถึงแม้ว่าอาจารย์อยากคุยกับนิสิตก็ตาม

แต่อาจารย์ให้ข้อมูลนิสิตได้ เช่น บอกนิสิตว่า มาพบนักจิตวิทยาที่อาคารจามจุรี 9 ในกรณีที่เกิดปัญหา เพราะนิสิตอาจไม่ทราบข้อมูล

นอกจากนี้ อาจารย์อย่าไปกลัวว่า นิสิตที่มีปัญหาจะเป็นโรคซึมเศร้าทุกคน เพราะบางคนแค่ขี้เกียจ ไม่เอาเพื่อน ไม่มีสังคมเท่านั้น กลายเป็นว่า ทุกคนกลัวการเป็นโรคซึมเศร้าไปหมด

อาจารย์จึงควรตระหนักความรู้สึกเรื่องนี้ด้วย แต่ก็ไม่ถึงกับประมาท ถ้าไม่แน่ใจ ก็ให้นิสิตมาพบแพทย์ดีกว่า

ถ้านิสิตมีปัญหาเรื่องการเรียน เช่น เกรดตก ก็ให้เข้าใจความรู้สึกของนิสิตก่อน จากนั้นจึงค่อยช่วยคิดหาคำตอบหรือการแก้ไข

ถึงแม้ว่าอาจารย์อาจเคยมีประสบการณ์เรื่องนั้น อยากให้คำปรึกษา แต่ก็ขอให้อดใจไว้ก่อน ฟังนิสิตก่อน เพราะขณะนั้นเป็นเรื่องของนิสิต

แต่ถึงแม้ว่าอาจารย์ไม่เคยมีประสบการณ์ความทุกข์แบบนิสิต ก็ไม่เป็นไร เพราะอาจารย์สามารถเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์เรื่องนั้นโดยตรง

สิ่งสำคัญคือ ให้นิสิตเลือกและรับผิดชอบด้วยตนเอง อาจารย์อาจแนะนำได้ เช่น ควรเรียนหรือไม่เรียนอะไร แต่สุดท้ายแล้ว นิสิตต้องเลือกและรับผิดชอบด้วยตนเอง

ขอให้ระลึกว่า เรามีหน้าที่ฟัง ไม่ได้ตัดสินถูกหรือผิด ถึงแม้ว่า เขาเลือกไม่ตรงใจเรา ก็ต้องยอมรับการเลือกของเขา

เช่น เราบอกนิสิตว่า ถ้าเรียนสาขานี้ มีโอกาสโดนรีไทร์ แต่ถ้านิสิตไม่เชื่อเรา ก็เป็นเรื่องของเขา เพราะอย่างน้อยเขาเลือกด้วยตนเอง

กิจกรรมนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องการฟังมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะยากก็ตาม

อาจารย์ตี๋บอกว่า “ถ้าคิดว่ายาก แสดงว่ามาถูกทางแล้วครับ เพราะขนาดผมที่เป็นนักจิตวิทยา ยังต้องฝึกและเรียนรู้เรื่องนี้มาหลายปี”

ถึงแม้ว่า หัวข้อบรรยายในวันนี้จะเน้นกลุ่มผู้ฟังที่เป็นอาจารย์เวลาพบนิสิต แต่เทคนิคที่เรียนรู้ในวันนี้ นำไปใช้ในชีวิตประจำวันกับผู้อื่นได้ด้วยเช่นกันครับ

ดังนั้น การฟังเป็นทักษะที่ต้องฝึกบ่อย ๆ ครับ

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
ธงชัย โรจน์กังสดาล

Written by ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์

No responses yet