วิธีเขียนหนังสือที่มีประโยชน์จนกระทั่งคนอ่านแนะนำปากต่อปาก

สรุปเนื้อหาสำคัญจากหนังสือ Write Useful Books

ภาพถ่ายโดย Mikhail Nilov จาก Pexels

ถ้าคุณอยากเขียนหนังสือของตัวเอง และกำลังมองหาหนังสือเกี่ยวกับการเขียน

ผมขอแนะนำหนังสือที่ผมชอบมากที่สุดในปี 2021 คือ Write Useful Books: A modern approach to designing and refining recommendable nonfiction ของ Rob Fitzpatrick

Write Useful Books มีเทคนิคน่าสนใจมากมายเกี่ยวกับการเขียนหนังสือ ผมขอสรุปเนื้อหาบางส่วนมาให้อ่านครับ

สาระสำคัญของ “Write Useful Books”

นักเขียนส่วนใหญ่เขียนหนังสือคนเดียว ซ่อนต้นฉบับไว้ ไม่ให้ใครอ่าน จนกว่าจะพิมพ์เสร็จ

แต่ Write Useful Books เสนอไอเดียว่า แทนที่จะเก็บต้นฉบับเป็นความลับ นักเขียนควรเผยแพร่ต้นฉบับหนังสือให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดต้นฉบับหนังสือก่อนวางแผง ไม่ใช่แก้ไขหนังสือหลังจากวางแผงแล้ว

“เป้าหมายในการทำตลาดหนังสือคือ ไม่ต้องทำการตลาด”

วิธีการคือ ออกแบบหนังสือให้เป็นประโยชน์ต่อคนอ่าน จนกระทั่งคนอ่านบอกปากต่อปากหรือแนะนำ ทำให้ไม่ต้องทำการตลาดหนังสืออีกต่อไป

ประเภทของหนังสือ Nonfiction

หนังสือ nonfiction แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1.หนังสือที่ให้ความเพลิดเพลิน เช่น หนังสือของ Malcolm Gladwell

2.หนังสือที่มีประโยชน์ (useful book) คือผลิตภัณฑ์ในการแก้ปัญหาชนิดหนึ่ง หนังสือแนวนี้จะให้วิธีแก้ปัญหา อธิบายอย่างชัดเจน ผู้อ่านทำตามได้ เช่น หนังสือ Atomic Habits ของ James Clear

ผู้อ่านซื้อหนังสือ เพราะต้องการคำตอบในการแก้ปัญหา ไม่ใช่ต้องการเรื่องเล่าหรือ storytelling อย่างเดียว

สิ่งที่ควรระวังคือ คำแนะนำส่วนใหญ่เกี่ยวกับการเขียน เน้นที่หนังสือให้ความเพลิดเพลิน ไม่ใช่หนังสือที่มีประโยชน์

การตั้งชื่อหนังสือ

ชื่อหนังสือให้คำสัญญาหรือบอกผลลัพธ์ของหนังสือ เพื่อให้ผู้อ่านทราบว่า หนังสือเล่มนี้เหมาะกับตนเองหรือไม่ หรือผู้อ่านจะได้อะไรจากการอ่านหนังสือเล่มนี้

เทคนิคหนึ่งอย่างในการเช็คว่าชื่อหนังสือเหมาะสมหรือไม่ คือ การบอกชื่อหนังสือให้คนอื่น แล้วฟังว่า คนอื่นมีความเห็นอย่างไร

เมื่อใดก็ตามที่พูดชื่อหนังสือแล้ว คนฟังเข้าใจทันทีโดยไม่ตัองอธิบายเพิ่มเติม แสดงว่า ชื่อหนังสือเหมาะสมแล้ว

เนื้อหาของหนังสือ

เนื้อหาของหนังสือ (scope) จะหาได้จาก

Scope = Promise + Reader profile + Who it’s not for + What it won’t cover

promise หรือคำสัญญาของหนังสือคือ หลังจากที่อ่านหนังสือจบแล้ว คนอ่านจะได้อะไร เช่น มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในชีวิต มีมุมมองอะไรบ้างที่เปลี่ยนแปลง คนอ่านบรรลุผลลัพธ์อะไรบ้างจากการอ่านเล่มนี้

ผู้เขียนต้องตัดสินใจล่วงหน้าว่า หนังสือเล่มนี้เหมาะกับผู้อ่านกลุ่มไหน และไม่เหมาะกับใคร หนังสือที่มีประโยชน์จะไม่ใช่หนังสือที่เหมาะกับทุกคนเสมอไป

ระวังความเห็นจากคนอื่นระหว่างเขียนหนังสือ ผู้เขียนต้องตัดสินใจแน่วแน่ว่า หนังสือที่เขียนเหมาะกับผู้อ่านกลุ่มไหน อย่าหวั่นไหวไปตามคำวิจารณ์ของคนอื่น

“มีบางคนชอบหนังสือเล่มนี้มาก ดีกว่าไม่มีใครสนใจเล่มนี้เลย”

ลักษณะของหนังสือที่มีประโยชน์หรือหนังสือที่แก้ปัญหาให้ผู้อ่าน

ประกอบคุณสมบัติ 4 ข้อ เรียกสั้น ๆ ว่า D.E.E.P.

1. Desirable เป็นสิ่งที่คนอ่านต้องการ
2. Effectiveness ให้ผลลัพธ์ที่แท้จริงแก่คนอ่านทั่วไป
3. Engaging มีคุณค่าและคุ้มค่าอ่าน เช่น ทุกหน้ามีประโยชน์ต่อผู้อ่าน มีเนื้อล้วน ๆ
4. Polished เขียนและนำเสนออย่างดี

ในการเขียนหนังสือที่มีประโยชน์ ข้อ 1 และ ข้อ 2 สำคัญกว่าข้อ 3 และ ข้อ 4

ปัญหาของหนังสือ nonfiction ส่วนใหญ่คือข้อ 2 Effectiveness

หนังสือหลายเล่มที่ไม่มีประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่ได้เกิดจากคนเขียนไม่ดี แต่เป็นเพราะว่าหนังสือใช้การไม่ได้ หรือแก้ไขปัญหาให้ผู้อ่านไม่ได้ เช่น คนอ่านไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ภาพถ่ายโดย Pixabay จาก Pexels

Back Catalog

back catalog คือหนังสือที่ขายได้นานเป็นเวลาหลายปี นักเขียนควรเขียนหนังสือที่อยู่ได้หลายปี เพื่อให้ผู้อ่านแนะนำต่อไปเรื่อย ๆ และทำให้หนังสือขายได้นาน

วิธีการเขียนหนังสือ back catalog มีดังนี้
1. เขียนเนื้อหาที่อยู่ได้อย่างน้อย 5 ปี
2. หลีกเลี่ยงเนื้อหาที่ล้าสมัยเร็ว เช่น เครื่องมือหรือแนวโน้มที่กำลังดังในขณะนั้น หรือเทคโนโลยีที่อาจล้าสมัยเร็ว

ถ้าต้องเขียนถึงเครื่องมือต่าง ๆ หรือเนื้อหาที่อาจล้าสมัยได้ ก็เขียนแบบสั้น ๆ และให้ประโยชน์ต่อคนอ่าน แต่เป็นเนื้อหาที่ข้ามได้เมื่อเวลาผ่านไป

การออกแบบหนังสือที่ขายได้นานคือ แก้ปัญหาสำคัญที่สุดของคนอ่าน โดยไม่ยึดติดกับเครื่องมือที่ขึ้นกับเวลามากนัก , กำหนดขอบเขตของหนังสือให้ชัดเจน , ให้ผลลัพธ์ที่แท้จริงแก่คนอ่าน

วิธีปรับปรุงหนังสือก่อนเริ่มเขียน

หลักการสำคัญของการออกแบบผลิตภัณฑ์คือ การปรับปรุงผลิตภัณฑ์หลายครั้งกับผู้ใช้งานจริง จะทำให้ผลิตภัณฑ์ออกมาดียิ่งขึ้น

หนังสือที่มีประโยชน์คือผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่ง หลักการออกแบบผลิตภัณฑ์จึงประยุกต์ได้กับการเขียนหนังสือที่มีประโยชน์ต่อผู้อ่าน

วิธีการทำหนังสืออาจเริ่มต้นด้วยการคุยกับคนอ่าน เพื่อหาไอเดียของสารบัญ เช่น

- การคุยกับคนอ่าน เพื่อปรับปรุงเนื้อหาและขอบเขตหนังสือ
- การสอนคนอ่าน เพื่อปรับปรุงสารบัญและโครงสร้างหนังสือ

สิ่งสำคัญของขั้นตอนนี้คือ การคุยเพื่อหาขอบเขตหนังสือหรือสารบัญ โดยไม่ต้องเขียนอะไรทั้งสิ้น

Curse of Knowledge

curse of knowledge คือการที่ผู้เขียนมีความรู้ ความเชี่ยวชาญมาก จนลืมไปว่า คนอ่านยังไม่มีความรู้มากเท่าตนเอง

ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยที่สุดของหนังสือซึ่งทำให้ผู้อ่านเบื่อหน่ายมากคือ มีทฤษฎีมากเกินไปก่อนที่จะให้คุณค่าแก่คนอ่าน

เช่น หนังสือเกี่ยวกับหมากรุกที่เล่าทฤษฎีการเล่นหมากรุกทั้งหมด โดยไม่มีแบบฝึกหัดให้ฝึกเลย ทำให้คนอ่านเบื่อมาก เพราะสิ่งที่คนอ่านต้องการคือ เล่นหมากรุกเป็นให้เร็วที่สุด ไม่ใช่ทราบทฤษฎีทั้งหมดก่อนเล่น

แต่หนังสือสอนการเล่นหมากรุกที่มีประโยชน์ ควรเริ่มต้นด้วยการสอนวิธีเดินหมากรุกแบบง่าย ๆ สลับกับแบบฝึกหัด แล้วค่อย ๆ เพิ่มความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ

เนื่องจากผู้เขียนหนังสือมีประสบการณ์และความรู้มากกว่าผู้อ่าน การเขียนหนังสือที่มีประโยชน์ต้องเข้าถึงจิตใจผู้อ่านและมองหัวข้อจากมุมมองของผู้อ่านได้ รวมทั้งคาดการณ์ล่วงหน้าสิ่งต่าง ๆ เช่น ปัญหาที่เจอบ่อย ความกังวล ความสับสนของคนอ่านได้

การเขียนสารบัญ

เขียนบทหรือหัวข้อที่มีความหมายอย่างชัดเจนหรือบอกผลลัพธ์ว่า ผู้อ่านได้อะไรจากการอ่าน

ตัวอย่าง เช่น

การขาย 101 เป็นชื่อบทที่ไม่เหมาะสม

การขายที่ดีเป็นเรื่องของการตั้งคำถามที่ดี เป็นชื่อบทที่เหมาะสม

การเขียนชื่อบทอย่างละเอียดมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ ทำให้คนอ่านทราบว่า จะได้อะไรจากการอ่าน ข้อเสียคือ ชื่อบทในสารบัญอาจดูไม่สอดคล้องกัน

เปลี่ยนจากสารบัญเป็นต้นฉบับแรกที่ยังห่วย (shitty first draft)

เขียนต้นฉบับแรก เน้นที่เนื้อหาหลักเท่านั้น โดยที่ยังไม่ต้องสนใจรูปแบบ ความสวยงาม คำนำ ภาคผนวก ทรัพยากร หลังปก

คำนำมักเป็นส่วนสุดท้ายที่เขียน หลังจากผู้เขียนเข้าใจแล้วว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับอะไร

เทคนิคอย่างหนึ่งในการเขียนต้นฉบับแรกคือ สมมติว่าเรากำลังส่งอีเมลหาเพื่อน เขียนชื่อบทเป็น subject หรือหัวข้อในอีเมล จากนั้นเขียนต้นฉบับแรกของบทนั้นในอีเมลให้เพื่อนคนนั้น

อีกวิธีหนึ่งในการเขียนต้นฉบับแรกคือ พูดอัดเสียง แล้วถอดเทปเป็นงานเขียน

ยังไม่ต้องห่วงว่า งานเขียนในตอนนี้ดีหรือไม่ เพราะขั้นตอนนี้คือการดึงสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาบนกระดาษ

กำหนดเวลาในการเขียนต้นฉบับ

หาเวลาในการเขียนและเคร่งครัดกับเวลาช่วงนั้น ถึงแม้ว่าเขียนไม่ออก แต่ก็ไม่อนุญาตให้ทำอย่างอื่น ในที่สุด ความเบื่อจะครอบงำ และทำให้เขียนออก

การตัดเนื้อหาที่ยังไม่จำเป็น

ตัดเนื้อหาที่ไม่จำเป็นออกจากต้นฉบับ และเก็บไว้ เผื่อใช้ประโยชน์ในภายหลังได้

หลักการสำคัญคือ อย่าเพิ่มเนื้อหาดีเข้าไปอีก แต่ตัดส่วนเกินที่ถ่วงเวลาคนอ่าน วิธีนี้ทำให้คนอ่านได้เนื้อหาที่เป็นประโยชน์อย่างรวดเร็ว ไม่เสียเวลา

การให้ประโยชน์ตั้งแต่ส่วนเริ่มต้นของหนังสือ (front-load the value)

คนอ่านมีแนวโน้มว่า จะเลิกอ่านหนังสือถ้าไม่ได้สาระที่ต้องการตั้งแต่แรก ดังนั้น ผู้เขียนต้องใส่คุณค่าที่ส่วนแรกของหนังสือทันที เรียกว่า front-load the value ซึ่งทำได้ดังนี้

1. ลดเนื้อหาส่วนหน้า เช่น คำนำ ประวัติผู้เขียน
2. ถ้าตัองใส่ทฤษฎีในช่วงต้นของหนังสือ ควรใส่ประโยชน์ที่ผู้อ่านจะได้รับตั้งแต่ตอนแรก
3. ถ้าต้องการปิดท้ายหนังสือด้วยบทสรุปหรือเคล็ดลับ ควรนำสิ่งเหล่านี้มาใส่ไว้ที่ต้นหนังสือ

สรุปง่าย ๆ คือ หนังสือควรให้คุณค่าหรือประโยชน์คนอ่านเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้

“อย่าอ่านต้นฉบับราวกับว่าเป็นลูกรัก แต่จงมองว่าต้นฉบับเป็นศัตรูสำคัญที่ต้องหาข้อผิดพลาดให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ถ้าคุณอ่านแล้วเบื่อ คนอ่านก็เบื่อเหมือนกัน”

ภาพถ่ายโดย Mikhail Nilov จาก Pexels

การหา Beta Reader มาช่วยอ่าน

Beta reader คือคนอ่านจริง ๆ ที่อยากอ่านหนังสือของเรา ไม่ใช่เพื่อน ญาติพี่น้อง หรือใครก็ได้

วิธีการคือ หา beta reader 3–5 คนในการปรับปรุงต้นฉบับแต่ละครั้ง โดยเชิญ 12–20 คน ที่บอกว่าอยากอ่านหนังสือของเรา

ในความเป็นจริงแล้ว จะมีไม่กี่คนเท่านั้นที่ให้ความเห็นกลับมา เราจึงควรเชิญ beta reader เป็นจำนวน 4 เท่าของคนที่จะให้ความเห็นเรา

เช่น ถ้าเราต้องการคนให้ความเห็นจริง ๆ 4 คน ก็ควรหา beta reader 16 คน

โดยทั่วไป beta reading ใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการขอให้คนอ่านให้ความเห็น จากนั้น ใช้ความเห็นของ beta reader มาปรับปรุงแก้ไขหนังสือ

Beta reading จะทำให้เกิด D.E.E. (Desirable , Effective , Engaging ) ส่วน Polishing จะมาหลังจากที่ทำ beta reading เสร็จแล้ว

การแสดงต้นฉบับที่ยังไม่เสร็จเรียบร้อยแก่ beta reader ทำให้ผู้เขียนได้รับความเห็นตรงไปตรงมา มากกว่าการแสดงต้นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว

ขั้นตอนการทำ Beta Reading

1. ใส่ไฟล์หนังสือใน Google Doc อย่าทำเป็นไฟล์ PDF เพราะจะยุ่งยากมาก เช่น ไม่ทราบว่า ใครให้ feedback , นำ feedback มาใส่ในต้นฉบับยากมาก
2. ตั้ง permission ให้ comment/suggest แต่อย่าตั้ง permission ให้ edit
3. disable to download/duplicate document

ไม่ว่าจะใช้เครื่องมืออะไรก็ตามในการทำ beta reading ขอให้ใช้เครื่องมือที่มีอยู่ในเว็บ เพื่อแก้ไขขัอมูลได้ง่าย และช่วยให้ beta reader ส่งข้อมูลได้สะดวก

คำถามสำหรับ beta reader

1. เนื้อหาส่วนไหนที่น่าเบื่อ สับสน หรือไม่อยากอ่าน เพราะอะไร
2. เนื้อหาส่วนไหนที่ยังอธิบายไม่ชัดเจน ต้องการให้เขียนเพิ่มเติมมากขึ้น
3. เนื้อหาส่วนไหนที่คุณไม่เห็นด้วย หรือมีประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป
4. เนื้อหาส่วนไหนที่คุณได้รับประโยชน์มากที่สุด , น่าสนใจมาก หรือชอบมาก

ความเห็นของผมโดยรวมเกี่ยวกับหนังสือ Write Useful Books

Write Useful Books ให้มุมมองเกี่ยวกับหนังสือที่ผมไม่เคยคิดมาก่อนคือ

“หนังสือที่มีประโยชน์ คือผลิตภัณฑ์ที่แก้ปัญหาให้ผู้อ่าน”

หลักการหลายอย่างในหนังสือเล่มนี้ ตรงกับวิธีการสร้างนวัตกรรมหรือการสร้างต้นแบบที่ผมสอนนิสิตหรือเคยใช้กับเรื่องอื่นมาแล้ว

ตอนนี้ ผมนำเทคนิค beta reader มาใช้กับหนังสือที่ผมกำลังเขียนชื่อ “อุลตร้าพรีเซนเทชัน” ซึ่งรวบรวมบทความเกี่ยวกับการนำเสนอที่ผมเขียนใน Medium

Write Useful Books ยังมีเทคนิคอีกมากมายที่ผมยังไม่ได้เขียนในบทความนี้ เช่น การทำทัวร์หนังสือ , วิธีทำการตลาดด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้คนอ่านบอกปากต่อปาก

ถ้าคุณต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือ Write Useful Books เชิญเข้าไปอ่านข้อมูลต่าง ๆ ได้ที่เว็บไซต์ https://writeusefulbooks.com/

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
ธงชัย โรจน์กังสดาล

Written by ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์

No responses yet