ปัญหาหนักใจที่นิสิตจุฬาฯ อยากแก้ไขในโครงงาน Innovative Thinking

รวบรวมปัญหาจากโครงงานในวิชา Innovative Thinking ที่นิสิตอยากแก้ไข

ภาพถ่ายโดย cottonbro studio จาก Pexels: https://www.pexels.com/th-th/photo/7780086/

วิชา Innovative Thinking ซึ่งเป็นวิชาเลือกของจุฬาฯ ที่ผมสอนมีนิสิตคณะต่าง ๆ มาเรียนมากมาย

เดือนสุดท้ายมีโครงงานกลุ่มคล้าย Design Thinking ที่ให้นิสิตเสนอปัญหาของตัวเอง และสร้างต้นแบบง่าย ๆ แสดงวิธีแก้ปัญหาเรื่องนั้น

ปัญหาที่นิสิตนำเสนอมีความหลากหลายและน่าสนใจมาก บางปัญหาก็เป็นเรื่องที่ผมไม่เคยทราบมาก่อน

นอกจากเป็นปัญหาที่นิสิตพบกับตัวเองแล้ว ผมยังให้นิสิตไปสัมภาษณ์หรือสอบถามคนรู้จัก รวมทั้งไปค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลภายนอก เช่น โซเชียล มีเดีย หรือเว็บบอร์ดว่า มีคนอื่นที่พบปัญหาแบบเดียวกันด้วยหรือไม่

มาดูกันว่า ปัญหาที่พบบ่อยในวิชา Innovative Thinking มีอะไรบ้างครับ

1. อ่านหนังสือไม่ทัน

นี่เป็นปัญหาคลาสสิค อย่าว่าแต่นิสิตยุคนี้ สมัยที่ผมเรียน ก็อ่านหนังสือไม่ทันเหมือนกัน

การอ่านหนังสือไม่ทันมีหลายสาเหตุ เช่น

  • อาจารย์ให้การบ้านเยอะมากจนต้องเอาเวลาอ่านหนังสือมาทำการบ้าน
  • นิสิตต้องทำกิจกรรมไปด้วย ทำให้มีเวลาอ่านหนังสือน้อย
  • นิสิตบางคนอยู่ปี 1 ชินกับการเรียนสมัยมัธยมที่อ่านหนังสือก่อนสอบแค่ 1 หรือ 2 วัน แต่เมื่อเรียนมหาลัย จึงทราบว่า วิธีเดิมไม่ได้ผล

2. ความเครียดในการเรียน

ปัญหาข้อนี้เริ่มพบบ่อยขึ้น เนื่องจากแต่ละวิชามีทั้งการบ้าน การสอบย่อย สอบกลางภาค สอบไล่ โครงงานกลุ่ม

บางวิชามีงานกลุ่มที่มีนิสิตหลายคนช่วยกันทำ ก็มีปัญหาเรื่องการหาเวลาตรงกันของทุกคน หรือเพื่อนไม่ช่วยงาน ปล่อยให้ตัวเองทำคนเดียว

นิสิตบางคนบอกว่า บางวิชามีวันหยุดเยอะ แทนที่อาจารย์จะปรับเนื้อหาให้เหมาะกับเวลา กลับเพิ่มเนื้อหาและการบ้านเข้าไปอีก ทำให้เกิดความเครียดและกังวล จนไม่มีความสุขกับการเรียน

สิ่งที่นิสิตเขียนเกี่ยวกับความเครียดจากการเรียน

3. แบตไอแพดหมดระหว่างเรียน

นี่เป็นปัญหาใหม่ที่มีนิสิตเสนอในเทอมต้น ปีการศึกษา 2565 และนิสิตเทอมปลาย 2565 ก็นำเสนอเรื่องนี้อีก แสดงว่า เริ่มมีนิสิตที่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้

ไอแพดเป็นอุปกรณ์การเรียนของนิสิต นักศึกษายุคนี้แล้ว บางคนลืมชาร์จไอแพดก่อนเรียน ทำให้แบตหมดระหว่างวัน หรือบางคนชาร์จแบตเต็ม ใช้จนแบตใกล้หมดแล้ว ลืมนำสายชาร์จมา ต้องวุ่นวายขอยืมสายชาร์จจากเพื่อน

ข้อมูลที่นิสิตค้นหา

4. หาข้อมูลวิชา GenEd ยาก

นิสิตหลายเทอมเสนอปัญหาเรื่องนี้ เพราะหาข้อมูลลำบาก ไม่ทราบว่าวิชา GenEd ที่อยากเรียนอยู่หมวดไหน

บางทีก็ไม่ทราบว่า วิชาที่อยากเรียนเป็นอย่างไร เพราะเพิ่งเข้ามาปี 1 ต้องไปค้นหารีวิวตามที่ต่าง ๆ ด้วยตนเอง

ข้อมูลที่นิสิตถามจากเพื่อน

5. หาตึกเรียนไม่เจอ

นี่เป็นปัญหาหนักหนาสาหัสของนิสิตหลายคนเวลาไปเรียนคณะอื่น อย่าว่าแต่นิสิตเลยครับ แม้แต่ผมเองอยู่จุฬาฯ มาหลายสิบปี เวลาไปตึกอื่น คณะอื่นที่ไม่คุ้นเคย ก็งงเหมือนกัน

นิสิตบางคนบอกว่า เคยเข้าห้องเรียนสาย เพราะหาห้องเรียนไม่พบ เนื่องจากทางเดินซับซ้อนมาก บางคนเข้าห้องสอบคณะอื่นสาย เพราะเสียเวลาหาห้องสอบ

ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจาการใช้ชื่อย่อตึกหรือตัวย่อห้อง ซึ่งนิสิตคณะอื่นไม่ทราบว่า ชื่อย่อของตึกมีชื่อเต็มว่าอะไร อยู่ที่ไหน

6. โรงอาหารตอนกลางวันคนแน่นมาก ที่นั่งไม่พอ

ภาพวาดของนิสิตแสดงปัญหาเรื่องโรงอาหารคนแน่น

ในบรรดาปัญหาที่นิสิตนำเสนอในวิชา Innovative Thinking ที่นั่งโรงอาหารไม่พอเป็นปัญหาที่นิสิตนำเสนอเกือบทุกเทอม ยกเว้นช่วง COVID-19 ที่นิสิตเรียนออนไลน์

เหตุผลที่โรงอาหารตอนกลางวันคนแน่นมาก เช่น

  • มีบุคคลภายนอกหรือนักเรียนจากโรงเรียนใกล้เคียงมานั่งทานอาหาร
  • บางคณะไม่มีโรงอาหารของตัวเองหรือร้านอาหารในคณะตัวเองมีน้อย ต้องไปทานโรงอาหารคณะอื่น
  • อาจารย์ปล่อยสาย เมื่อถึงโรงอาหารแล้ว ก็ไม่มีที่นั่ง

7. นิสิตโสด

ภาพวาดของนิสิตที่ระบายปัญหาเรื่องความโสด

นิสิตโสดก็เป็นปัญหาที่พบบ่อยในวิชา Innovative Thinking

นี่คือสิ่งที่นิสิตเขียนในรายงานครับ

  • ตั้งแต่ใช้ชีวิตเป็นนิสิตมา 4 ปี ก็ยังไม่เคยมีแฟนเลย แถมยังไม่มีทีท่าว่าจะมีใครเข้ามาจีบเลยด้วย ซึ่งก็ไม่กล้าเข้าหาใครก่อน แล้วก็ไม่รู้ว่าคนอื่นเขาไปหาแฟนมาจากที่ไหนกัน ซึ่งก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากบ่นกับเพื่อนว่าอยากมีแฟน
  • รู้สึกอยากมีใครสักคนไปกินข้าวกันในทุกๆวัน หรือทำให้วันธรรมดากลายเป็นวันพิเศษ เช่น นัดกินข้าวกับแฟน ไปดูหนังกับแฟน ช่วงสอบไปอ่านหนังสือด้วยกัน เข้ามาเติมเต็มในสิ่งที่ช่วงวัยรุ่นจะได้รู้สึกหัวใจพองโต

8. รู้จักเพื่อนต่างคณะน้อยมาก

นิสิตคนหนึ่งเขียนว่า ถึงไม่มีแฟน ก็ไม่เป็นไร ไม่แคร์อยู่แล้ว แต่การมีเพื่อนน้อยนี่สิเป็นปัญหา

นิสิตหลายคนบอกว่า ตัวเองมีเพื่อนต่างคณะน้อยมาก เพราะไม่ค่อยได้ทำกิจกรรม เรียนหนัก บางคนก็ขี้อาย เป็น introvert ไม่กล้าไปทำความรู้จักกับคนอื่น หรือไปเรียนวิชาคณะอื่น ก็นั่งเรียนกับกลุ่มเพื่อนคณะเดียวกัน ไม่มีโอกาสรู้จักเพื่อนต่างคณะเลย

ผมได้ยินปัญหาเรื่องนี้ตั้งแต่สอนวิชา Innovative Thinking ในช่วงแรก การบ้านกลุ่มและโครงงานกลุ่มในวิชานี้จึงให้นิสิตต่างคณะทำงานด้วยกัน เพื่อให้ทุกคนมีเพื่อนต่างคณะบ้าง

ข้อมูลจากนิสิต

9. ปัญหาการหาหอพักและรูมเมท

นิสิตหลายคนต้องอยู่หอพักกับคนอื่นที่เรียกว่า รูมเมท เพื่อช่วยเฉลี่ยค่าหอพัก

ปัญหาที่นิสิตพบคือ การหาหอพักนอกมหาลัยที่ราคาถูก ไว้ใจได้ นิสิตส่วนใหญ่อยากอยู่หอในมหาลัย แต่มีคนอยากเข้ามาก คนที่เข้าไม่ได้ต้องไปอยู่หอพักนอกมหาลัยซึ่งราคาแพงกว่า

ปัญหาของการหอนอก เช่น

  • ไม่รู้ว่าสภาพจริงเป็นยังไง รูปประกอบมีน้อย ไม่มีแหล่งที่รวบรวมข้อมูลไว้ชัดเจน มีรีวิวไม่มาก
  • หอพักมีสัญญาเช่าอย่างต่ำ 1 ปี ซึ่งช่วงปิดเทอมต้องกลับต่างจังหวัด จึงไม่อยากเสียค่าเช่าโดยที่ไม่ได้อยู่ในช่วงนั้น
  • หอพักใกล้จุฬาฯ ราคาสูงมาก สู้ราคาไม่ได้ หอพักที่อยู่ในทำเลห่างจากจุฬาฯออกไป ราคาถูกลง แต่มีค่าเดินทางเพิ่มมากขึ้น

ส่วนปัญหารูมเมทคือ หาคนที่เข้ากับตัวเองได้ยาก เพราะบางครั้งถ้าเลือกรูมเมทที่นิสัยหรือทัศนคติไม่ตรงกัน ก็จะอยู่กันได้ไม่นาน แล้วต้องเสียเวลาหาหอใหม่

ปัญหาที่นิสิตเล่าเกี่ยวกับรูมเมท เช่น ไม่รักษาความสะอาด, จ่ายค่าหอไม่ตรงเวลา, นอนกรน, เปิดเพลงเสียงดัง เป็นต้น

10. ที่นั่งอ่านหนังสือเต็มในช่วงสอบ

ภาพวาดจากนิสิตที่บอกปัญหาว่า ไม่มีที่นั่ง

ผมเพิ่งไปหอสมุดกลางจุฬาฯ ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2566 และไม่แปลกใจเลยที่พบว่า แทบจะไม่มีที่นั่งเหลือในหอกลางเลย เพราะเป็นช่วงสัปดาห์สอบไล่ของจุฬาฯ นั่นเอง

ปัญหาเรื่องไม่มีที่นั่งอ่านหนังสือในช่วงสอบ เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่มีนิสิตเสนอเป็นประจำ เช่น หลายคนเอากระเป๋า หนังสือวางจองบนโต๊ะ แต่เจ้าของไม่อยู่

11. โต๊ะร้านเหล้าเต็ม

ในบรรดาปัญหาทั้งหมดที่นิสิตอยากแก้ไขในวิชา Innovative Thinking นี่คือปัญหาที่ผมเซอร์ไพรซ์มากที่สุด คงเป็นเพราะผมไม่มีประสบการณ์ด้านนี้ จึงไม่ทราบว่า นิสิตหนักใจเรื่องนี้ด้วย !

ปัญหานี้เกิดตอนที่นิสิตสอบเสร็จแล้ว ก็เฮไปร้านเหล้า ร้านบาร์ที่อยู่รอบจุฬาฯ แต่นิสิตคนอื่นก็อยากฉลองสอบเสร็จเหมือนกัน จึงทำให้ที่นั่งในร้านเหล้าเต็มนั่นเอง

ข้อมูลจากนิสิต

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
ธงชัย โรจน์กังสดาล

Written by ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์

No responses yet