ประโยชน์ 8 ข้อของการเขียนบทความ

การเขียนบทความให้ประโยชน์แก่ผู้เขียนบทความและผู้อ่านบทความอย่างไร

Credit : Pixabay.com

ผมได้เขียนบทความต่างๆ หลายปีแล้ว เช่น บทความด้านไอทีในคอลัมน์ 1001 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ , เว็บไซต์ TCDC และล่าสุดคือ Medium เป็นเวลาครึ่งปี

หลายคนถามว่า เขียนบทความแล้วได้อะไร เอาเวลาไปทำอย่างอื่น ไม่ดีกว่าหรือ บางคนบอกว่า เขียนไป ก็ไม่มีใครอ่านหรอก

ผมจะขอเล่าว่า ได้อะไรบ้างจากการเขียนบทความครับ

1. ฝึกทักษะการเขียน

ไม่มีใครเขียนเก่งตั้งแต่เกิด แม้แต่คนที่เขียนไม่เก่ง แต่เขียนทุกวัน ก็เขียนได้คล่องขึ้น เก่งขึ้น

การเขียนบทความบ่อยๆ ทำให้ผมรู้ว่า

การเขียนคือทักษะที่ฝึกฝนได้

ไม่ว่าทำงานใดก็ตาม ถ้ามีทักษะการเขียนที่ดี จะมีประโยชน์ในการทำงานทั้งสิ้น

นี่คือประโยชน์สำคัญที่สุดที่ผมได้จากการเขียนบทความครับ

2. ฝึกเรียบเรียงความคิด

การเขียนคือการถ่ายทอดความคิดในหัวของตนเองออกมาเป็นรูปธรรม

ดังนั้นก่อนที่เราจะเขียนเรื่องใดก็ตาม เราต้องคิดอย่างเป็นระบบหรือเรียบเรียงความคิดออกมาก่อน จึงจะถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรให้ผู้อื่นอ่านได้

ถ้าเราเรียบเรียง จัดระบบความคิดในหัวของเราได้ ก็เหมือนว่า เราคิดเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำงานด้านอื่นด้วย เช่น การนำเสนอ การสอน

3. ได้ความรู้เพิ่ม

ถ้าเราต้องการเขียนบทความเรื่องหนึ่ง หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อมาเขียนบทความ

แต่ไม่มีข้อมูลหรือไม่ทราบเรื่องนั้นมาก่อน จะทำอย่างไรครับ ?

สอบถามอากู๋สิครับ การค้นคว้าหาข้อมูลในเรื่องที่เราสนใจอยากเขียน ก็จะทำให้เรามีความรู้เรื่องนั้นเพิ่มขึ้น

การค้นคว้าเพื่อหาข้อมูลที่ถูกต้องในการเขียนบทความ ก็ทำให้เราเก่งขึ้น มีความรู้มากขึ้น มั่นใจมากขึ้น จนเขียนบทความได้

Source : Pixabay

4. ทำครั้งเดียว

การเขียนบทความเป็นการออกแรงครั้งเดียว หลังจากนั้น แทบไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม

ไม่ว่าจะมีคนอ่าน 1 คนหรือล้านคน ก็ออกแรงเขียนเท่ากัน

แน่นอนว่า อาจต้องปรับปรุงเนื้อหาในบทความให้ทันสมัยบ้าง แต่ก็ทำงานน้อยกว่าเดิมมาก และไม่ได้เขียนใหม่ทั้งหมด

เหตุผลข้อนี้โดนใจคนขี้เกียจทำงานซ้ำซากอย่างผมครับ

5. แปลงกายบทความได้

หลังจากที่เราเขียนบทความแล้ว เราเปลี่ยนบทความเป็นรูปแบบอื่นได้ เช่น

  • ไฟล์เสียง
  • รวมบทความเป็นหนังสือหรืออีบุ๊ค
  • สไลด์นำเสนอ
  • หลักสูตร
  • คอร์สออนไลน์
  • บทความอ่านประกอบ
  • โปสเตอร์หรืออินโฟกราฟิกส์
  • แอพ

บทความจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการต่อยอดสิ่งอื่นๆ อีกมากมายครับ

6. มีรายได้เสริม

ถ้าเราเขียนบทความจนเป็นที่รู้จักแล้ว อาจมีผู้จ้างเราไปเขียนบทความ และให้ค่าตอบแทนด้วย

แต่อย่าไปสนใจเรื่องค่าตอบแทนเลยครับ เพราะได้น้อยมากเมื่อเทียบกับค่าตอบแทนที่ได้จากการทำงานอย่างอื่น

ถ้าให้เลือกระหว่าง

ก. ให้ค่าตอบแทน และเราไม่มีสิทธิ์ในบทความนั้นอีก

ข. เขียนฟรี และเราเป็นเจ้าของบทความ

ผมเลือก ข. ครับ

7. ทำให้ผู้อื่นรู้จัก

ใครๆ ก็พูดถึง Personal branding ในยุคนี้ ซึ่งทำได้หลายวิธี

การเขียนบทความเป็นวิธีหนึ่งในการสร้าง personal branding ทำให้คนอ่านรู้จักเราครับ

ถ้าเราโฟกัสแนวของบทความ ไม่เขียนสะเปะสะปะมากนัก จะทำให้ผู้อ่านรู้ว่า เราเชี่ยวชาญเรื่องอะไร และเราได้ผู้อ่านที่สนใจแนวนั้นติดตามอ่านงานเขียนของเราครับ

8. เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น

สิ่งที่ทำให้ผมดีใจที่สุดคือ มีผู้อ่านบอกว่า ได้ประโยชน์ เช่น ความรู้ ความสนุกจากบทความที่ผมเขียน

นี่เป็นสิ่งที่นักเขียนบทความภูมิใจมาก และทำให้มีแรงในการเขียนบทความอย่างต่อเนื่อง

Credit : Pexels

การเขียนบทความเปรียบเสมือนสะสมข้าวทีละเม็ด ข้าวไม่กี่เม็ดมีประโยชน์น้อย แต่เมื่อสะสมเม็ดข้าวมากๆ เข้า ก็ได้ข้าวทั้งหม้อที่ทำประโยชน์ได้

ผมจะดีใจมาก ถ้าผู้อ่านได้ประโยชน์จากบทความนี้ หรือเกิดแรงบันดาลใจในการเขียนบทความครับ

ถ้าผู้อ่านอยากฝึกการเขียนบทความ ขอแนะนำให้อ่านบทความเรื่อง “Medium : ยูทูบของบทความที่มาแรงที่สุด” และเริ่มเขียนบทความใน Medium

ช่วยกดรูปปรบมือ เพื่อให้ผมมีกำลังใจในการเขียนบทความอย่างต่อเนื่องด้วยครับ

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์