การสอนออนไลน์ของวิชาเลือกจุฬาฯ Innovative Thinking ในช่วง COVID-19

เมื่อวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ กลายเป็นวิชาออนไลน์โดยไม่ทันตั้งตัว

COVID-19 ทำให้ทุกวิชาต้องสอนออนไลน์ รวมทั้งวิชา Innovative Thinking หรือการคิดเชิงนวัตกรรม ที่ผมเรียกสั้นๆ ว่า Innov ซึ่งเป็นวิชาเจนเอดหรือวิชาเลือกการศึกษาทั่วไปของจุฬาฯ ที่ผมสอนมา 17 ปีด้วย

วิชา Innov เทอมนี้มี 2 ตอน เรียนวันพฤหัสเช้าและวันพฤหัสบ่าย มีนิสิตเรียนรวมกัน 70 คน ตั้งแต่ปี 1 ถึง ปี 4 และมาจากคณะต่างๆ ที่หลากหลาย เช่น วิศว อักษร วิทยา ครุ บัญชี จิตวิทยา สถาปัตย์ นิเทศ ทันตะ รัฐศาสตร์ เป็นต้น

ดังนั้น นิสิตบางคนเก่งเทคโนโลยีมาก มีความพร้อมมาก พกไอแพดมาจุฬาฯ ทุกวัน ในขณะที่นิสิตหลายคนอยู่หอพัก บางคนก็ไม่คล่องเรื่องเทคโนโลยีเท่าไร

นอกจากนี้ วิชา Innov ยังไม่ใช่วิชาบรรยาย แต่เน้นการทำกิจกรรมในห้องเรียนอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นวิชา workshop อย่างแท้จริง

การที่ต้องปรับวิชากิจกรรมในห้องเรียนมาเป็นคลาสออนไลน์แบบกระทันหัน ทำให้ผมมึนไปเลย ต้องรีบปรับทุกอย่างให้เป็นออนไลน์โดยด่วน และมีผลกระทบกับนิสิตน้อยที่สุด

ผมจึงขอเล่าเทคนิคและวิธีต่างๆ ในการสอนออนไลน์วิชา Innov เผื่อผู้อ่านที่จะสอนออนไลน์ จะได้ปรับใช้ตามความเหมาะสมครับ

นิสิตวิชา Innovative กำลังชม TED Talk

รูปแบบการสอนออนไลน์ของวิชา Innovative

หลังจากที่ผมคิดเรื่องข้อดี ข้อเสียของวิธีสอนออนไลน์แบบต่างๆ ข้อจำกัดของผมและนิสิตวิชา Innov ก็ตัดสินใจว่า รูปแบบการสอนออนไลน์ที่เหมาะสมของวิชานี้คือ

ทำวิดีโอคลิปให้นิสิตดูตามสะดวก ไม่ต้องสอนสด

การทำวิดีโอคลิปให้นิสิตชมตามสะดวก โดยไม่เน้นสอนสด มีข้อดีต่อไปนี้

  1. นิสิตสะดวกมาก ไม่ต้องมาเรียนวันพฤหัสเช้าหรือพฤหัสบ่ายตามเวลาเรียนปกติ นิสิตที่เรียนตอนบ่าย ก็ดูวิดีโอคลิปได้ตั้งแต่เช้าวันพฤหัส นิสิตที่ติดธุระ ภารกิจต่างๆ หรือไม่สะดวกดูตอนกลางวัน ก็ดูวิดีโอบทเรียนตอนกลางคืน ซึ่งอาจมีสมาธิมากกว่า
  2. ผมก็สะดวก ทำให้ผมมีวิดีโอที่นำไปใช้สอนต่อไปได้อีก โดยไม่ต้องสอนใหม่ อีกทั้งผมสอน 2 ตอนเรียนที่มีเนื้อหาเหมือนกัน การสอนสดทางออนไลน์ทั้งวัน จะทำให้ผมเหนื่อยมาก นิสิตที่เรียนตอนบ่ายอาจได้ผลลัพธ์ไม่เท่านิสิตที่เรียนตอนเช้า เพราะผมหมดแรงสอน
  3. ไม่ต้องห่วงปัญหาทางเทคนิคระหว่างสอน เช่น ไฟดับ เน็ตมีปัญหา เครื่องเดี้ยง และสารพัดปัญหา ทันทีที่ผมทำวิดีโอบทเรียนเสร็จ ก็แชร์ให้นิสิตดูได้ทันที

แต่การทำวิดีโอบทเรียน โดยไม่ได้สอนสดเลย ก็มีข้อเสียเช่นกัน คือ

  1. ใช้เวลามากสุดๆ นิสิตดูวิดีโอบทเรียนของอาจารย์ 10 นาที แต่นิสิตไม่ทราบหรอกครับว่า กว่าอาจารย์จะทำเสร็จ ให้มีคุณภาพที่ต้องการ อาจารย์ใช้เวลาชั่วโมงกว่า บางคลิปใช้เวลาทำเกือบสองชั่วโมง เพราะต้องตัดต่อ ตัดเสียงรบกวน เพิ่ม effect เพื่อดึงดูดความสนใจ และตรวจสอบความถูกต้องทั้งหมดก่อนเผยแพร่บทเรียน
  2. ปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนน้อยลง เพราะผู้เรียนดูวิดีโออย่างเดียว เราไม่ทราบว่า คนเรียนได้ชมวิดีโอบทเรียนหรือไม่ หรือถ้าผู้เรียนมีคำถาม สงสัยบทเรียนหรือการบ้าน เขาจะสอบถามเราได้อย่างไร

แต่ผมก็ยังเลือกการทำวิดีโอบทเรียนในเทอมนี้ เพราะเป็นวิธีที่มีปัญหาน้อยที่สุดครับ และจากแบบสอบถามนิสิต นักศึกษาในกลุ่มเฟซบุ๊ค Teaching During Covid-19

สิ่งที่นิสิต นักศึกษาต้องการมากที่สุดในการเรียนออนไลน์คือ

วิดีโอบทเรียนที่ดูทบทวนได้ในตอนหลัง

แต่ถ้าผมต้องสอนออนไลน์วิชา Innov อีกครั้ง ผมจะเปลี่ยนรูปแบบการสอนเล็กน้อย ซึ่งเล่าในท้ายบทความนี้

ใช้ MyCourseville เป็นศูนย์กลางของการเรียน

ผมมี Facebook กลุ่มลับของวิชานี้เพื่อแจ้งข่าวสารต่างๆ ให้นิสิตทราบ แต่กลุ่มนี้ไม่ได้มีแค่นิสิตที่เรียนในเทอมนี้ ยังมีทั้งศิษย์เก่า บุคคลภายนอกที่ผมเชิญเข้ามาในกลุ่ม

ผมจึงเปลี่ยนมาใช้ MyCourseville ซึ่งเป็นระบบจัดการเรียน การสอนที่จุฬาฯ พัฒนาขึ้นมา เพื่อใส่วิดีโอ บทเรียน การประกาศ การบ้าน และงานต่างๆ สำหรับนิสิตเทอมนี้เท่านั้น

ข้อดีของ MyCourseville คือ มีความเป็นส่วนตัว ใครที่ไม่ได้เรียนวิชานี้ จะไม่สามารถเข้าถึงได้ ทำให้ผมแจ้งการบ้าน ใส่วิดีโอบทเรียน ประกาศต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ครับ

การสื่อสารกับนิสิต

สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการสอนออนไลน์คือ ช่องทางสื่อสารที่ชัดเจนกับผู้เรียน ดังนั้น ผมใช้ 3 ช่องทางในการสื่อสารกับนิสิตวิชา Innov ดังนี้

  1. MyCourseville เพื่อประกาศบทเรียน การบ้านต่างๆ ที่เป็นทางการ
  2. E-mail เพื่อให้นิสิตส่งการบ้าน โครงงานต่างๆ มาหาผม
  3. LINE เพื่อให้สื่อสารถึงนิสิตทุกคนแน่ๆ ผมจึงสร้างกลุ่มไลน์ของวิชานี้ โดยรวมทั้งสองตอนเรียนเข้าด้วยกัน เพื่อประกาศข่าวสารทั้งที่เป็นทางการ ไม่ทางการ แจ้งเตือนเรื่องต่างๆ

ความคาดหวังของผมคือ นิสิตอ่านไลน์กลุ่มวิชานี้ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เพื่อไม่ให้พลาดข่าวต่างๆ

กิจกรรม Makey Makey

เนื้อหาที่ต้องตัดทิ้งและเนื้อหาใหม่

มีเนื้อหา 2 ครั้งที่ผมสอนออนไลน์ไม่ได้เลย เพราะต้องใช้อุปกรณ์พิเศษและดูแลอย่างใกล้ชิดคือ การโยน juggling หรือโยนลูกบอลสลับมือ กับการสร้างสิ่งประดิษฐ์ด้วย Makey Makey

นิสิตเทอมนี้จึงอดเรียนเนื้อหาสองเรื่องนี้อย่างน่าเสียดาย และผมต้องคิดบทเรียนใหม่เพื่อสอนออนไลน์ด้วย

ในที่สุด ผมก็ทำวิดีโอเนื้อหาใหม่เกี่ยวกับการหาไอเดียด้วยเทคนิค Force Field Analysis, การคิดตรงข้าม และ SCAMPER ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ไม่เคยสอนมาก่อนในวิชานี้

แต่มีข้อดีคือ ผมสามารถนำวิดีโอบทเรียนที่เพิ่งทำใหม่ มาใช้สอนออนไลน์ในเทอมต่อไปได้เลย

Camscanner

การส่งสมุดบันทึก

นิสิตวิชา Innov ทุกคนต้องมีสมุดบันทึกเพื่อจดเนื้อหาต่างๆ ของวิชานี้ และเรื่องอื่นๆ สัปดาห์ละ 3 วัน โดยส่งหลังสอบกลางภาคและก่อนสอบไล่ ซึ่งการจดบันทึกบนสมุดเป็นวิธีพัฒนาความคิดสร้างสรรค์อย่างง่ายที่ใครๆ ก็ทำได้

แต่ COVID-19 ทำให้นิสิตไม่สะดวกที่จะส่งสมุดบันทึกให้ผมตรวจ เพราะเราไม่ได้เจอกันในห้องเรียนอีกแล้ว และผมก็ไม่หวังว่า นิสิตจะส่งสมุดบันทึกมาให้ผมทางไปรษณีย์ด้วย เพราะต่อให้นิสิตส่งสมุดมา ผมก็ไม่กล้าเปิดอ่าน ต้องตากแดด 1 สัปดาห์ก่อน !

ผมจึงเปลี่ยนรูปแบบของการจดบันทึก โดยให้นิสิตจดแบบใดก็ได้ เช่น เขียนบนสมุด , พิมพ์ในคอมพิวเตอร์ , เขียนบนแอป แล้วถ่ายรูปเนื้อหาหรือส่งไฟล์ที่จดบันทึกมาให้ผมทางอีเมลเพื่อตรวจก่อนปิดเทอม วิธีนี้จะสะดวกสำหรับทุกคน

ข้อดีของวิธีนี้คือ ยืดหยุ่นกว่าเดิม เพราะไม่จำกัดที่การเขียนบนสมุด และเห็นความคิดสร้างสรรค์หลายรูปแบบของนิสิต เช่นบางคน capture หน้าจอเนื้อหาที่ผมสอนใส่ในแอป , บางคนวาดรูปการ์ตูนน่ารักๆ ในแอป , บางคนถ่ายรูปแนบมาในไฟล์ ซึ่งทำไม่ได้ในการเขียนบนสมุด

แต่วิธีนี้มีปัญหาเวลาที่นิสิตถ่ายรูปสมุดบันทึก บางคนถ่ายไม่ชัด บางคนยืนบังสมุดตัวเอง ทำให้มีเงาในรูป หรือบางคนเขียนหวัดมาก จนอ่านแทบไม่ออก

ผมจึงบอกนิสิตให้ใช้แอปชื่อ Camscanner แทนแอปถ่ายรูปธรรมดา เพื่อถ่ายรูปเนื้อหาที่จดในสมุด เพื่อช่วยปรับภาพให้คมชัดมากขึ้นและอ่านง่ายขึ้นครับ

เมื่อนำเสนอในห้องเรียนไม่ได้ จะทำอย่างไร

วิชา Innov มีการนำเสนอที่ทำให้นิสิตหลายคนหน้าซีด ตื่นตระหนกตอนได้ยินครั้งแรกคือ อุลตร้าพรีเซนเทชัน หรือ การนำเสนอแบบอุลตร้าแมน

อุลตร้าพรีเซนเทชันคือ นิสิตนำเสนอเรื่องที่ตัวเองสนใจด้วยสไลด์ 5–10 หน้าโดยใช้เวลาไม่น้อยกว่าสองนาทีครึ่ง แต่ห้ามเกินสามนาที และต้องมีอุปกรณ์ประกอบการนำเสนอหรือ prop หรือเครื่องแต่งกายพิเศษ

ผมถามนิสิตในห้องเรียนก่อนหยุดโควิทว่า “ตอนนี้เรานำเสนอในห้องเรียนไม่ได้แล้ว นิสิตคิดว่า เราควรเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอเป็นอย่างไรครับ”

นิสิตหลายคนเสนอความเห็นว่า “อัดเสียงในสไลด์ แล้วส่งมาเป็นวิดีโอค่ะ

คำตอบของนิสิตตรงกับสิ่งที่ผมคิดไว้อยู่แล้ว ดังนั้น การนำเสนอของเทอมนี้ จีงเปลี่ยนเป็น นิสิตอัดเสียงในสไลด์พาวเวอร์พอยต์ระหว่าง 5–10 หน้า ความยาวระหว่าง 2.30–3 นาที จากนั้นแปลงเป็นไฟล์วิดีโอ MP4 ส่งมาให้ผม

กิจกรรมนี้มีนิสิตให้ความเห็นที่หลากหลายมาก

  • บางคนบอกว่า เพิ่งรู้ว่า อัดเสียงในพาวเวอร์พอยต์ได้ด้วย หลายคนไม่เคยทำมาก่อน
  • บางคนบอกว่า ดีแล้วที่ไม่ต้องนำเสนอในห้องเรียน เพราะไม่ตื่นเต้น ไม่เหมือนกับการพูดให้เพื่อนฟังในห้องซึ่งตื่นเต้นมาก
  • บางคนบอกว่า ตั้งแต่เรียนออนไลน์มา ทำวิดีโอนำเสนอบ่อยมาก จนเบื่อไปเลย
กิจกรรม breaking the ice ก่อนทำโครงงานกลุ่ม

การทำโครงงานกลุ่ม

ในเทอมก่อนๆ ผมให้นิสิตทำโครงงานกลุ่มละ 4 คน โดยทุกคนมาจากคณะที่ต่างกัน เช่น วิศว วิทยา ครุ บัญชี , นิเทศ เศรษฐ อักษร จิตวิทยา เป็นต้น ไม่ต้องการให้นิสิตคณะเดียวกันมาทำงานด้วยกัน เพราะผมอยากให้นิสิตรู้จักเพื่อนใหม่ต่างคณะ และทำงานร่วมกับคนอื่นที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ซึ่งนี่เป็นจุดเด่นของวิชา Innov ที่ทำให้นิสิตได้รู้จักเพื่อนใหม่ และเข้าใจวิธีคิด วิธีทำงานของเพื่อนคณะอื่น

แต่เมื่อปรับมาสอนออนไลน์ ที่นิสิตทุกคนอยู่บ้าน มาทำงานด้วยกันในห้องเรียนไม่ได้แล้ว ผมต้องปรับรูปแบบการทำงานกลุ่มแบบออนไลน์ให้สะดวกที่สุดคือ กลุ่มละ 2 คน และนิสิตจับคู่กับเพื่อนตามใจชอบ จะอยู่คณะเดียวกันหรือต่างคณะก็ได้

เหตุผลที่ผมยอมให้นิสิตจับคู่กับเพื่อนคณะเดียวกันได้ เพราะคิดว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาแห่งความตึงเครียด จึงอยากให้นิสิตสบายใจที่ทำงานร่วมกับเพื่อนที่รู้จักดีอยู่แล้ว ดีกว่าโดนบังคับให้ทำงานทางออนไลน์กับเพื่อนที่ยังไม่สนิท ซึ่งจะทำให้เครียดมากขึ้น

Zoom กับนิสิตเพื่อตอบคำถามและนำเสนอโครงงานกลุ่ม

ถึงแม้ว่า ผมทำวิดีโอคลิปบทเรียนให้นิสิตชมตามสะดวก ไม่สอนสดก็ตาม แต่ผมก็ใช้ Zoom เพื่อให้นิสิตถามปัญหาเกี่ยวกับการบ้านหรือโครงงานกลุ่ม

โดยทั่วไปแล้ว ผมจัด Zoom meeting ในเย็นวันเสาร์ แล้วประกาศว่า นิสิตที่มีคำถามหรือสงสัยเรื่องอะไร ก็มาร่วมได้ตามสะดวก ใครจะเข้าก็ได้ ไม่เข้าก็ได้ ไม่บังคับ ไม่เช็คชื่อ เพราะไม่ได้สอน อีกอย่างคือ ผมอยากเจอลูกศิษย์บ้างเหมือนกัน

สิ่งที่น่าแปลกใจและดีใจคือ นิสิตบางคนเข้าประชุม Zoom ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีคำถามอะไร แต่เข้ามาเพราะอยากรู้ว่าเพื่อนถามอะไร เรียกว่าเป็นนิสิตที่ตั้งใจเรียนเป็นพิเศษ

ส่วนการนำเสนอโครงงานกลุ่ม ผมก็ให้นิสิตแต่ละกลุ่มนัดเวลาผมตามที่นิสิตสะดวก ใช้เวลานำเสนอโครงงานประมาณ 15–20 นาทีเท่านั้น

ผมจึงใช้ Zoom ฟรีมาโดยตลอด ไม่เคยสมัครแบบเสียเงิน เพราะไม่เคยใช้เกิน 40 นาที และมีผู้ร่วมประชุมไม่กี่คน แต่ตอนนี้ จุฬาฯ สมัคร Zoom ให้อาจารย์ทุกคนแล้ว ผมคิดว่า ต่อไปต้องใช้ให้คุ้มแล้ว !

กิจกรรมเรื่อง “นวัตกรรมใน 3 ขั้นตอน” ของวิชา Innovative Thinking

การสอบออนไลน์ของวิชา Innovative

การจัดสอบออนไลน์แบบง่ายที่สุดคือ

การไม่ต้องสอบออนไลน์

โชคดีมากที่วิชา Innov ไม่มีการสอบสิบกว่าปีแล้วครับ นิสิตไม่ต้องสอบกลางภาค ไม่ต้องสอบไล่ ไม่มีสอบย่อย นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่นิสิตหลายคนอยากเรียนวิชา Innov เพราะไม่ต้องสอบครับ

คะแนนของนิสิตในวิชานี้มาจากการส่งการบ้าน , การทำโครงงานเดี่ยว , โครงงานกลุ่ม , สมุดบันทึก , การนำเสนออุลตร้าพรีเซนเทชัน และการเข้าเรียน

การไม่ต้องจัดสอบออนไลน์ ช่วยลดความเครียดของผมได้มหาศาลเลยครับ

ห้องเรียนวิชา Innovative Thinking ก่อน COVID-19

สิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลง ถ้าต้องสอนออนไลน์ต่อไป

ถ้าต้องสอนวิชา Innov ทั้งเทอมแบบออนไลน์อีกครั้ง ผมจะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่อไปนี้ครับ

  1. ใช้ MyCourseville ตั้งแต่ต้นเทอม และให้นิสิตทุกคนส่งงานมาที่ MyCourseville แทนการส่งงานทางอีเมลเหมือนเทอมก่อนๆ เพื่อให้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับกับการเรียน การสอน การส่งงานอยู่ที่เดียวกัน
  2. แทนที่จะให้นิสิตชมวิดีโอคลิปอย่างเดียว ผมจะใช้ Zoom สอนสดด้วย แต่ไม่ต้องสอนเต็มสามชั่วโมง สลับกับวิดีโอบทเรียนต่างๆ ที่เคยทำแล้ว และเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนในการเรียนออนไลน์วิชา Innov ให้มากขึ้น รวมทั้งใช้เครื่องมือต่างๆ ในการทำกิจกรรมออนไลน์
  3. บทเรียนของการสอนออนไลน์ไม่จำเป็นต้องใช้วิดีโอเสมอไป เราอาจใช้สื่ออื่นๆ เข้ามาช่วยได้ ซึ่งโชคดีที่ผมเขียนบทความใน Medium 100 กว่าบทความแล้ว ใช้เป็นบทเรียนออนไลน์ให้นิสิตอ่านเหลือเฟือ แต่สื่อที่ผมอยากทำเพิ่มคือ เสียงหรือ podcast เพราะยังไม่เคยทำมาก่อน และน่าจะเป็นอีกสื่อหนึ่งที่ใช้ช่วยสอนออนไลน์ได้เป็นอย่างดี
  4. หา TA หรือผู้ช่วยสอนวิชานี้ เพราะการสอนออนไลน์บอกได้เลยว่า เหนื่อยสุดๆ ต้องใช้เวลาและทรัพยากรมาก ถ้ามี TA ก็น่าจะช่วยแบ่งเบาภาระได้หลายอย่างครับ
นิสิตที่ได้รางวัลนำเสนออุลตร้าพรีเซนเทชันยอดเยี่ยมจากเทอมก่อน

บทความอ่านประกอบ

นี่คือบทความต่างๆ เกี่ยวกับกิจกรรมในวิชา Innov ที่เล่าในบทความนี้ครับ

การจดบันทึกคือวิธีพัฒนาความคิดสร้างสรรค์อย่างง่ายที่สุด

การโยนบอล ดีต่อสมองนะออเจ้า

การนำเสนอแบบอุลตร้าพรีเซนเทชัน

เครื่องมือสอนออนไลน์ของผมในช่วง COVID-19

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
ธงชัย โรจน์กังสดาล

Written by ธงชัย โรจน์กังสดาล

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์

No responses yet